ตามจริง ตามใจ แบบไหนคุ้มกว่ากัน
วัยรุ่นผู้มีธรรมชาติของสมอง ต่างจากทุกวัย เพราะมีส่วนของการเติบโตด้านการเรียนรู้ที่สูงที่สุดทำให้วัยรุ่นตื่นตัวในความต้องการอยากเรียนรู้ตลอดเวลา โดยคำนึงถึงสิ่งแปลกใหม่ แตกต่าง และตื่นเต้น มากกว่าถูกผิดหรือการระมัดระวังความผิดพลาดทำให้หลายครั้งเราพบความสร้างสรรค์สิ่งใหม่มาจากวัยรุ่น แต่ก็มีไม่น้อยที่วัยรุ่นก็ส่งผลต่อความบาดเจ็บได้ทั้งทางกายและทางใจ
นอกจากการเรียนรู้แล้วระบบอารมณ์เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจ อารมณ์กังวลปนตื่นเต้นคือ คือแรงขับภายในใจต่อการตัดสินใจอย่างหุนหัน
ในอดีตเคยมีการทดลองให้วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่อยู่ในห้องมืดสนิทและให้เห็นแสงไฟกระพริบและให้คาดเดาว่าแสงนี้คืออะไร ผู้ใหญ่ให้คำตอบเพียงไม่กี่อย่าง แต่ตรงข้ามกับวัยรุ่นที่รู้สึกตื่นเต้นกับการพยายามหาคำตอบที่มากและหลากหลาย นอกจากนั้นยังมีท่าทีหุนหันในการพยายามถามคำตอบที่แท้จริงจากผู้ทดลอง บางคนดูหงุดหงิดจากการที่ไม่ได้ทราบคำตอบโดยทันที
“การตัดสินใจ” ไม่เพียงให้คำตอบว่าวัยรุ่นกับลังเผชิญกับอะไร หลายครั้งการตัดสินใจเกิดจากการอยากเข้าใจว่าตนเองเป็นใครในสายตายของคนอื่น อาทิ การเลือกคบเพื่อน เพื่อพิสูจน์ว่าเราได้รับการยอมรับจากกลุ่มมากแค่ไหน การให้เวลากับคนรักและเพื่อนสนิทมากกว่ากิจกรรมอื่นเพื่อพิสูจน์ว่าเราสมควรได้รับความรักหรือไม่ การเลือกคณะในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อพิสูจน์ความถนัดและความสามารถว่ามีมากเพียงใด
“แต่หลายครั้งการตัดสินใจด้วยความรู้สึกก็มักทำให้เราไตร่ตรองอย่างไม่รอบด้าน”
เกิดเป็นความผิดพลาดทั้งกับตนเองและผู้อื่น ส่งผลต่อการจดจำและสะท้อนเรื่องไม่ดีที่ตนทำ หล่อหลอมเป็นความเชื่อที่มีต่อตนเองอย่างลึกซึ้ง ช่วงวัยรุ่นจึงเป็นช่วงวัยสำคัญที่มนุษย์สร้างความเป็นอัตลักษณ์ทั้งด้านดีที่น่าภูมิใจ หรืออาจเป็นความทรงจำอันเลวร้ายและเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาด้านจิตใจ
ลองนึกภาพตาม .. ในวันที่วัยรุ่นตัดสินใจด้วยความรู้สึก กำลังรู้สึกแย่และกล่าวโทษตนเอง คงต้องการใครสักคนที่ปลอดภัย ให้เวลา และเป็นที่พักความคิด ตรงข้ามหากผู้ใหญ่คอยเฝ้ามองเพียงความผิดพลาดและมุ่งเน้นสอน วัยรุ่นอาจตีความคลาดเคลื่อนและยิ่งตอกย้ำซ้ำคำกล่าวร้ายตนเองลงไป.. ข้างในส่วนลึกใจความสำคัญของการตัดสินใจ จึงอยากชักชวนให้ วัยรุ่นค่อยๆ คิดทำอย่างช้าลง ผ่านการสงบอารมณ์และไตร่ตรอง ผ่านกระบวนการเหล่านี้
1.รู้ทันระบบสัญชาตญานของอารมณ์ต่างๆ เพราะเมื่อมีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ต่างๆ ในระดับสูงยิ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาด อาจสู้ หนี หรือหยุดนิ่งโดยอัตโนมัติ
ตามใจ คือคำแทนการตัดสินใจด้วยการใช้อารมณ์นำ
ตามจริง คือการตัดสินใจที่มีอารมณ์ปนกับเหตุผล มีการใช้เวลา และพยายามมากขึ้นในการไตร่ตรรอง
การรู้ทันสัญชาตทำได้ผ่านการู้ทันการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เปลี่ยนไป ชวนวัยรุ่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อมีความรู้สึกต่างๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างเพื่อการรู้เท่าทันสัญชาตญาณ
2.ฝึกฝนการสงบและผ่อนคลายก่อนการตัดสินใจ ด้วยวิธีเบื้องต้น การควบคุมลมหายใจ เพราะมีไม่น้อยที่วันรุ่นต้องเผชิญกับสภาวะทางอารมณ์แล้วเกิดการหายใจที่ไม่ปกติ เกิดเป็นอาการมือจีบ เพราะหายใจพร้อมกันทางปากและจมูกเอาออกซิเจนเข้าไปพร้อมกันจำนวนมาก การฝึกลมหายใจอย่างง่ายสามารถทำได้โดยกำหนดให้ลมหายใจเข้าทางจมูก และออกทางปากคล้ายการสูดดมกลิ่นหอมของเครื่องดื่มร้อนและเป่าลมออกทางปากเพื่อให้เครื่องดื่มเย็นลงเพื่อที่จะดื่มได้ในคำถัดไป
3.ทักษะการตัดสินใจ
3.1 กำหนดหัวข้อที่จะตัดสินใจให้ชัดเจน ที่ไหน กับใคร อย่างไร จะได้ประโยชน์อะไรจากการตัดสินใจครั้งนี้ อาทิ จะไปเชียงใหม่ด้วยวิธีการใด
3.2 เปิดใจอย่างอิสระกับทุกทางเลือก ไม่ต้องกังวลเหตุผล หรือความถูกผิด เพื่อไม่ปิดกั้นสมองส่วนการเรียนรู้ และความสามารถในการสร้างสรรค์ของตนเอง เช่น เครื่องบิน โบกรถ เดิน ขี่ม้า รถไฟ ฯลฯ
3.3 เขียนทุกทางเลือกลงในกระดาษ เพราะการเขียนช่วยให้สิ่งที่อยู่ในห้วงของความคิดถูกผลิตออกมาอย่างเป็นรูปธรรม
3.4 เลือกในทางที่เป็นไปได้ ตามความเป็นจริง โดยทำการสงบอารมณ์ ผ่อนคลายลมหายใจไปพร้อมๆ กับการเลือกทางที่เป็นไปได้จากระบบเหตุผล อาจเหลือหนทางไปเชียงใหม่เพียงไม่กี่ทาง อาทิ เครื่องบิน รถไฟ รถยนต์ส่วนตัว
3.5 พิจารณาข้อดีและข้อจำกัด เพราะเครื่องบินอาจสะดวกและรวดเร็วแต่ใช้เงินจำนวนมาก รถไฟอาจประหยัดและได้ชมทิวทัศน์แต่ใช้เวลานานและไม่ตรงเวลา รถยนต์ส่วนตัวที่ดูเหมือนจะเป็นอิสระแต่อาจต้องพิจารณาถึงความเหนื่อยและประสบการณ์ในการขับขี่ทางไกล
3.6 ตัดสินใจเลือก จากความต้องการภายในใจว่าต้องการรวดเร็ว ชมวิวทิวทัศน์ หรือการเดินทางที่เป็นอิสระ พร้อมทั้งพิจารณาตนเองว่าสามารถยอมรับกับข้อเสียจากการเลือกวิธีการนั้นได้มากน้อยแค่ไหน
3.7 ไม่ลืมที่จะมีแผนสำรอง เพราะหากวันใดที่ไม่สามารถยอมรับข้อจำกัดได้ หรือเกิดเหตุไม่คิดที่ข้อจำกัดแผ่ขยายไปมากกว่าที่ประมาณเอาไว้ แผนสำรองจะช่วยในการบรรเทาผลจากการเลือกนี้
4.ประนีประนอมเมื่อผิดพลาด แม้พยายามอย่างมากในการเข้าใจธรรมชาติตามวัย รู้ทันสัญชาตญาน การฝึกสงบอารมณ์ และการมีลำดับในการตัดสินใจอย่างถี่ถ้วน แต่ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น หากทำเต็มที่กับการตัดสินใจแต่ยังเกิดความผิดพลาด อย่าลืมที่จะให้อภัยและประนีประนอมกับตนเอง เพื่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่และการตัดสินใจครั้งใหม่ที่คมชัดมากขึ้น
คงไม่มีคำตอบของการเลือกใดที่ดีที่สุด และคงมีทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุดทั้งผลของการเลือก การได้เรียนรู้ความผิดพลาด และการรู้เท่าทันความรู้สึกผิดหวัง
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น