ทำอย่างไรเมื่อถูกข่มขืน

กรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือถูกข่มขืน

ข้อปฏิบัติกรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือถูกข่มขืน

1. ให้ตั้งสติ พยายามจำเหตุการณ์ มีใครเป็นพยานได้บ้าง

2. ต้องบอกพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือคนที่ไว้วางใจให้ทราบเพื่อร่วมกันคิดแก้ไขปัญหา หรือแจ้งความเอาคนทำผิดมาลงโทษ

3. แจ้งความทันทีที่ทำได้

4. กรณีถูกข่มขืน ควรรีบไปให้แพทย์ตรวจร่างกายอย่างเร่งด่วนใน 24  ชม. ไม่ควรอาบน้ำหรือชำระล้างร่างกายเพื่อให้สามารถเก็บหลักฐานได้ชัดเจน

5. ตรวจร่างกายอย่างเร่งด่วนไม่ว่าจะดำเนินคดีหรือไม่มี

– ในเรื่องป้องกันการตั้งครรภ์ โดยใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินทันทีหรือภายใน 120 ชม. สามารถซื้อยาคุมฉุกเฉินตามร้านขายยาทั่วไป(ยาคุมฉุกเฉิน เช่น Postinor,Madonna) กิน 2 เม็ดครั้งเดียว หรือ 1 เม็ด ทุก 12 ชม. ยิ่งกินเร็วเท่าไหร่จะทำให้การป้องกันนั้นมีประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน คัดตึงเต้านม

– ใช้ห่วงคุมกำเนิดฉุกเฉินชนิดทองแดง ถ้าหากถูกข่มขืน ไม่เกิน 5 วัน

– ถ้ารอบเดือนขาดหายไป หรือมาช้าเกินกำหนด 1 สัปดาห์ ให้ทำการตรวจตั้งครรภ์

– ในเรื่องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในกรณีที่ถูกข่มขืนหรือถูกบังคับ แพทย์จะตรวจหาความผิดปกติดังกล่าวให้ รวมถึงให้การรักษาป้องกันความสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ 

6. หลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียว เพราะอาจจะคิดทำร้ายตัวเองให้กำลังใจว่า ไม่ใช่ความผิด ชีวิตคุณยังมีคุณค่ามิได้สูญเสียไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

การแจ้งความร้องทุกข์ แบ่งเป็น 2 กรณี

1. กรณีที่การกระทำนั้นสามารถยอมความกันได้

  • จะต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน
  • ถ้าไม่ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน ก็ต้องฟ้องร้องคดีต่อศาลภายใน 3 เดือน ถ้าหากไม่ปฎิบัติตาม ถือว่าผู้ถูกกระทำไม่ประสงค์จะให้ผู้กระทำรับผิด และคดีขาดอายุความไม่สามารถฟ้องทางอาญาได้

2. หากเป็นกรณีที่ไม่อาจยอมความกันได้ เช่น การข่มขืนในเด็กที่อายุต่ำกว่า  15 ปี ไม่จำเป็นต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน

กรณีที่เด็กอายุต่ำกว่า 18  ปี พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นผู้พาเด็กไปแจ้งความและทางตำรวจ จะต้องนัดนักจิตวิทยาและอัยการเพื่อสอบปากคำอีกครั้งหนึ่ง ตาม พรบ.สืบพยานเด็ก(ป.วิอาญา พ.ศ.2542)

มาตรา 277 ถ้าการกระทำที่ชายกระทำกับเด็กหญิงอายุมากกว่า 13 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี โดยหญิงนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ชายและหญิงนั้นสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ถ้าศาลอนุญาตให้สมรสระหว่างผู้ที่กระทำผิดกำลังรับโทษความผิดนั้นอยู่ ให้ศาลปล่อยตัวผู้กระทำผิดนั้น

  ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงทั้งภาครัฐและเอกชนที่พร้อมให้การปรึกษาและช่วยแก้ไขปัญหารวมถึงกระบวนการทางกฎหมายไปพร้อมๆกันและรวมถึงการดูแลความปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทุกจังหวัด หรือ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC  โทร.1300 ตลอด 24 ชม.