รัก หลง และอารมณ์ทางเพศ
“เรากำลังรัก….หรือหลง… เอ๊ะ!หรือว่ามันเป็นแค่อารมณ์ทางเพศกันนะ?” นักจิตวิทยาอธิบายไว้ยังไงบ้าง?
ก่อนอื่นเลย เราจะมานิยามคำว่าความรักและความหลงในบริบททั่วไปกันก่อน
รัก : ตามบริบททั่วไปแล้วมักจะหมายถึงความรู้สึกผูกพันลึกซึ้ง จะใช้ได้หลายบริบท ไม่ว่าจะเป็นความรักของเพื่อน ความรักของครอบครัว หรือความรักของคนรัก
หลง : ตามบริบททั่วไปแล้วเรามักจะมองความหลงว่าเป็นความดึงดูดจากบางสิ่ง เช่น เราหลงใหลหญิงคนนั้นเพราะหน้าตาสวยงาม และน้ำเสียงเพราะ หรือ เราหลงชายคนนั้นเพราะความเจ้าคารมของเขา
อารมณ์ทางเพศ : ย่อมหมายความตรงตัว คือเราเกิดอารมณ์ทางเพศ ต้องการจะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับใครบางคน
รู้กันหรือไม่? ความรักของเราอาจเกิดจากสารเคมีในสมองก็ได้นะ!
ความรักอาจเกิดได้จากสารเคมีในสมอง โดยที่เราสามารถแบ่งออกได้ 3 แบบ คือ
1.ความใคร่ : ตามกลไกแล้ว เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์เอาไว้ คนเรามักถูกสัญชาตญาณ หรือแรงขับภายในดึงดูดซึ่งกันและกันเสมอ โดยมีฮอร์โมนทางเพศเป็นตัวขับเคลื่อน ในผู้ชายจะมีฮอร์โมนเพศชาย คือ เทสโทสเตอโรนที่มาจากการผลิตของอัณฑะ และในผู้หญิงจะมีฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตรเจนที่มาจากการผลิตของรังไข่ ซึ่งทั้งสองมีศูนย์กลางการควบคุมอยู่ในสมองส่วนไฮโปทาลามัส
2.ความหลงใหล : หรือการตกหลุมรัก เคยมีอาการตกหลุมรักแบบนี้กันไหม? แบบที่รู้สึกว่าตกอยู่ในภวังค์แห่งความรัก และบางทีทำอะไรโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งการทำงานของสมองจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มสารเคมีที่ชื่อว่า “โมโนเอมีน” ได้แก่
โดปามีน : เป็นสารแห่งความสุขที่จะหลั่งออกมาหลังรู้สึกพึงพอใจ
อีพิเนฟริน : เรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า “อะดรีนาลีน” จะกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกตื่นเต้น เขินอายเวลาเจอคนที่ชอบ
เซโรโทนิน : จะส่งผลต่อการแสดงออก เมื่อสมองหลั่งสารชนิดนี้ออกมาเราจะเกิดพฤติกรรมบางอย่างโดยที่ไม่รู้ตัว เช่น การเผลอยิ้ม เป็นต้น
3.ความผูกพัน : เป็นความสัมพันธ์ในระยะยาว โดยถูกกระตุ้นจากฮอร์โมน 2 ชนิดคือ
ออกซิโทซิน : เป็นฮอร์โมนด้านความสัมพันธ์ หากคู่รัก หรือคนในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันบ่อย ๆ จะทำให้สมองหลั่งสารชนิดนี้ออกมามาก (ในตอนที่แม่คลอดลูก ก็มักจะหลั่งสารชนิดนี้ออกมาด้วยนะ! แม่ส่วนมากถึงรักลูกมากๆ เลยยังไงล่ะ!!!)
วาโซเปรสซิน : เป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทต่อคู่รัก ทำให้เกิดความรู้สึกอยากใช้ชีวิตร่วมกัน!
เอาล่ะ พอพูดถึงสารเคมีในสมองกันแล้วเราอาจจะรู้สึกว่าไกลตัว ดังนั้นเราจะมาพูดในเชิงจิตวิทยากันบ้าง!
รู้หรือไม่ว่าความรัก ความหลง ไม่ได้เกิดจากหัวใจเพียงอย่างเดียว แต่มันมีองค์ประกอบหลักๆ ที่ชัดเจนอยู่!!!
ทฤษฎีที่เราจะพูดถึงกันนั้น เป็นทฤษฎีที่หลายๆ คนคงจะได้ยินกันมาบ้างแล้ว นั่นก็คือ “สามเหลี่ยมแห่งรัก!!!” (Triangular Theory of Love) ของโรเบิร์ตสเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg) อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเยล
ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งรักนั้น จะอธิบายองค์ประกอบของความรักว่า ประกอบไปด้วย 3 ปัจจัย
ความใกล้ชิด : เป็นองค์ประกอบด้านอารมณ์ที่ทำให้คนรู้สึกผูกพัน, ความเข้าใจ, ความเอื้ออาทรกัน โดยมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเป็นเวลานานระดับหนึ่งแล้ว
ความหลงใหล : ความหลงใหล หรือความใคร่ ซึ่งเราอาจจะเรียกแบบตรงตัวได้ว่า แรงดึงดูดทางเพศ
ความผูกมัด : เป็นการตัดสินใจ หรือเป็นองค์ประกอบในด้านความคิดที่มีการผูกมัด หรือมีการทำสัญญาต่อกันว่าจะใช้ชีวิตร่วมกันในระยะยาว และผันแปรไปตามระยะเวลา โดยแต่ละคนอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา
จากองค์ประกอบของความรักทั้ง 3 ปัจจัย สามารถจำแนกความรักออกได้เป็นประเภทต่างๆ 8 ประเภท
1.ไร้รัก : เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่มีองค์ประกอบทั้งสามเลย เป็นความสัมพันธ์ทั่วๆ ไป ไม่มีความรู้สึกลึกซึ้งมาเกี่ยวข้อง
2.ความชอบ : ประกอบด้วย “ความใกล้ชิด” เท่านั้น มักเกิดกับคนที่เราใกล้ชิดสนิทสนมด้วย เช่น เพื่อนซี้ของเรา เป็นต้น
3.รักแบบหลงใหล : เป็นรักที่ประกอบด้วย “ความหลงใหล+ความเสน่หา” เกิดขึ้นได้บ่อยในวัยรุ่น มักเรียกกันว่า “รักแรกพบ”
4.รักที่ว่างเปล่า : เป็นรักที่มีแค่ “ความผูกมัด” ที่เป็นตัวเหนี่ยวรั้งเอาไว้ เช่น การคลุมถุงชน (ฟังดูช่างว่างเปล่า!!! แต่หากใส่ใจกันมากพอ อาจจะพัฒนาเป็นความรักรูปแบบอื่นก็ได้นะ!!!)
5.รักโรแมนติก : เป็นรักที่ประกอบด้วย “ความใกล้ชิด+ความหลงใหล” เกิดขึ้นเมื่อรู้จักกัน ใกล้ชิดกัน จนก่อเกิดความรู้สึกตื่นตัว อยากจะสานสัมพันธ์ต่อไป
6.รักมิตรภาพ : เป็นรักที่ประกอบด้วย “ความใกล้ชิด+ความผูกมัด” มักเกิดในความสัมพันธ์ระยะยาว เช่น เพื่อนสนิท พี่น้อง หรือคู่แต่งงานที่ใช้ชีวิตร่วมกันมานาน
7.รักแบบฉาบฉวย : เป็นรักที่ประกอบด้วย “ความหลงใหล+ความผูกมัด” โดยมักจะเป็นการพบรักที่ผูกมัดกันอย่างรวดเร็ว เจอกันปุ๊ปคบกันปั๊ป ซึ่งรักแบบนี้มีแนวโน้มจบลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน!
8.รักสมบูรณ์แบบ : เป็นรักที่มีทั้งสามองค์ประกอบ “ความหลงใหล+ความใกล้ชิด+ความผูกมัด” เป็นความสัมพันธ์ในอุดมคติ…แต่จะมีสักกี่คนกันนะ ที่จะมาถึงจุดนี้และรักษาความสัมพันธ์นี้เอาไว้ได้!?
จากทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งรักนั้น เราก็จะเห็นองค์ประกอบของความรักได้ชัดขึ้นแล้วนะ! งั้นเราจะเข้าสู่ประเด็นหลักของเรากันเลย คือ รัก หลง หรือ อารมณ์ทางเพศ มันแตกต่างหรือเกี่ยวข้องกันยังไงแน่?
ความรัก : จากทฤษฎี “สามเหลี่ยมแห่งรัก” เราจะเห็นได้ว่า ความรักนั้นประกอบจากหลายปัจจัย แต่ความรักที่สมบูรณ์แบบ หรือความรักแบบหนุ่มสาวนั้น ล้วนแล้วแต่มีความหลงใหลเป็นส่วนประกอบด้วย ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ความหลงใหลเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของความรัก
ความหลงใหล : แน่นอนว่าความหลงใหลนั้น เป็นส่วนประกอบหนึ่งของความรักหนุ่มสาว แต่ว่า! ความหลงใหลนั้นก็อยู่ในความสัมพันธ์ที่เรียกได้ไม่เต็มปากว่าเป็นความรักเช่นกัน เช่น “รักแบบหลงใหล” “รักแบบฉาบฉวย” ดังนั้น จะเรียกว่าความหลงใหล อาจไม่ได้หมายถึงความรักที่แท้จริงเสมอไป และหากเป็นความสัมพันธ์แบบคู่รักแล้ว ความหลงใหลก็ย่อมมีเรื่องเพศรวมอยู่ด้วย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ความต้องการทางเพศเป็นส่วนประกอบหนึ่งของความหลงใหลในหนุ่มสาว
อารมณ์ทางเพศ : ใช่แล้ว อารมณ์ทางเพศนั้น เป็นเเรงขับพื้นฐานของมนุษย์! เพราะ Sex เป็นหนึ่งในปัจจัยของการสืบเผ่าพันธุ์ จึงเป็นเรื่องปกติมาก ที่คนเราจะมีความต้องการทางเพศ แต่ว่า! เนื่องจากว่าเป็นแรงขับจากสัญชาตญาณ จึงกล่าวได้ว่าอารมณ์ทางเพศอาจจะไม่จำเป็นต้องมีความเกี่ยวข้องกับความรักหรือหลงเลยก็ได้ เช่น การสืบพันธ์ตามสัญชาตญาณ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ทั้งสามสิ่งนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน อธิบายได้ว่า หากมีความรัก อาจมาคู่กับความหลงใหล และอารมณ์ทางเพศ….แต่! การมีอารมณ์ทางเพศหรือมีความหลงใหล ไม่ได้หมายความว่าเรากำลังมีความรักอยู่หรอกนะ! เราอาจมีอารมณ์ทางเพศกับคนที่เราไม่ได้หลงใหลหรือรักใคร่เลยก็ได้ ขอแค่มีความดึงดูดทางเพศที่สอดคล้องกับความต้องการของเราก็อาจจะเพียงพอแล้ว และ เราอาจหลงใหลใครก็ได้เช่น ดารา/ศิลปิน แต่ก็อาจไม่ได้หมายความว่าเรากำลังรักดารา, ศิลปินคนนั้นๆ อยู่
สุดท้ายนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง หรือสิ่งที่ตนเองกำลังเป็นอยู่ และช่วยให้ผู้ที่กำลังสับสนในความรู้สึกของตน สามารถหาคำตอบให้ตนเองได้
สัณห์ จรรยารุ่งโรจน์
(นิสิตฝึกงานสาขาจิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
ข้อมูลอ้างอิง
สารเคมี : https://www.petcharavejhospital.com/en/Article/article_detail/Theory-of-love
Triangular theory of love : https://en.wikipedia.org/wiki/Triangular_theory_of_love