สันติและการเคารพความหลากหลาย เมื่อดอกไม้ไม่ได้มีสีเดียว

สันติและการเคารพความหลากหลาย เมื่อดอกไม้ไม่ได้มีสีเดียว

ความหลากหลายทางเพศคือสิ่งสวยงาม ความแตกต่างทางเพศคือสิ่งที่ยอมรับได้ ผู้หญิงควรได้มีโอกาสในการเป็นผู้นำ ฯลฯ คือวิสัยทัศน์ทางเพศที่หลายฝ่ายทางสังคมพยายามที่จะกระตุ้นให้เกิดสิ่งนี้ ทำให้เห็นได้ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับหลายนโยบายและวิธีปฏิบัติ หากแต่ยังมีไม่น้อยที่ทัศนคติต่อเรื่องความแตกต่าง ยังไม่สามารถเอาชนะความรู้สึกแปลกแยกและกีดกันได้ จนทำให้ผู้คนในแต่ละเพศมีปัญหากระทบกัน

“ผู้ชายไม่น้อยที่พูดว่า ถ้าผู้หญิงอยากจะเท่าเทียมในการเป็นผู้นำ ผู้ชายอย่างเราก็ไม่ต้องลุกให้ผู้หญิงนั่งบนรถประจำทางแล้วใช่ไหม”

ในขณะที่การเรียกร้องความเท่าเทียมคือสิทธิ์ แต่กลับถูกท้าทายกลับด้วยปัจจัยทางร่างกายที่ธรรมชาติให้มาไม่เท่ากัน  ในขณะที่ผู้ชายหลายคนก็หวาดหวั่นเมื่อผู้หญิงก้าวเข้ามาเป็นผู้นำ เพราะกระทบกับความเชื่อเดิมว่า “ผู้ชายคือผู้นำที่แข็งแกร่ง” เรื่องทัศนะต่อความเข้าใจการปฏิบัติในเรื่องเพศจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และต้องใช้เวลา

บทความนี้จึงอยากเริ่มต้นด้วยการชวนทำความเข้าใจพัฒนาการของมนุษย์ เพื่อมีมุมมองกับสิ่งที่ผมกำลังชวนคิดได้ชัดเจนมากขึ้น ว่าปัจจัยทางเพศส่งผลต่อสุขภาพจิตใจได้อย่างไร โดยเฉพาะกับผู้มีความหลากหลายทางเพศซึ่งเป็นคนส่วนน้อยตามสัดส่วนของประชากรทั้งหมด

พัฒนาการร่างกาย สิ่งมีชีวิตมีระยะของการพัฒนาของร่างกายที่เป็นไปเพื่อการ “ดำรงอยู่” ทั้งเพื่อการมีชีวิตและสืบเผ่าพันธุ์ มนุษย์จึงมีโครโมโซมของส่วนต่างๆ ในร่างกายและโครโมโซมเพศ ส่งผ่านการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ ระบบประสาท การเคลื่อนไหว และการทรงตัว สู่ฮอร์โมนเพศในระดับที่พร้อมจะสืบเผ่าพันธุ์

การดำรงอยู่และความสมบูรณ์ของร่างกายไม่อาจสร้างความเป็นสังคม และการสืบพันธุ์ได้ พัฒนาการด้านสังคม จึงเป็นสิ่งที่ตอบสนองกับความต้องการตามธรรมชาติของสัตว์สังคมอย่างมนุษย์ “การได้รับการยอมรับ การได้เป็นที่รัก การได้เห็นความสามารถตนเองจากการสะท้อนของคนอื่น สู่การมีอัตลักษณ์”

หลอมรวมสู่ส่วนลึกกับ “ความรู้สึกต่อตนเอง” กับพัฒนาการด้านจิตใจ ที่มีความเชื่อและความรู้สึกกับตนเองในแบบฉบับที่ไม่เหมือนใคร แปลความหมายตนเองกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบด้วย “การรับรู้อย่างอัตโนมัติ” ที่สะสมมาจากประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น กระทั่งปัจจุบัน

พัฒนาการต่างๆ เหล่านี้ หล่อหลอม “ตัวตน” ของมนุษย์หลายสิ่งที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ อาจมีความหมายทางจิตใจที่ลึกซึ้งกว่า สีผิวอาจมีความหมายถึงถิ่นกำเนิด ความถนัดอาจมีความหมายถึงการยอมรับทางสังคม เพศอาจมีความหมายถึงความเป็นพวกเดียวกันหรือคนละพวกกัน เรื่องรูปธรรมที่มองด้วยตาได้อย่างง่ายอาจสร้างความหมายหรือบาดแผลให้แก่ผู้ถูกพูดถึงหรือกระทำได้อย่างสาหัส

ปรากฎการณ์ทางสังคมต่อเรื่องเพศที่ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างมนุษย์ และปัญหาสุขภาพจิต

การยอมรับจากครอบครัว เมื่อเด็กเกิดมาพร้อมจิตใจที่ไม่ตรงกับเพศสภาพ อาจกระตุ้นให้ครอบครัวรู้สึกสับสน กังวลใจ หลายบ้านให้ความเห็นว่า “ปู่ย่าตายายจะไม่ยอมรับ” หลายบ้านกลัวถึงอนาคต “เป็นเพศอย่างนี้ต่อไปจะใช้ชีวิตอย่างไร” ด้วยความรู้สึกและความคิดเหล่านี้ ส่งผลต่อความพยายามอย่างมากในการเปลี่ยน “เพศในใจให้ตรงกับเพศของร่างกาย” หลายบ้านจบลงด้วยข้อตกลงที่ดี หลายบ้านใช้การตัดความสัมพันธ์เป็นเงื่อนไข ส่งผลให้เด็ก “รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว”

ปัญหาการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน กุหลาบขาวท่ามกลางกุหลาบแดงนับร้อยพันย่อมเป็นที่จับตามอง นักเรียนที่มีเพศวิถีต่างจากเพศสภาพ ก็จะถูกมองถึงความแตกต่าง ความสนใจของผู้คนต่างไปจดจ่อที่กุหลาบดอกนี้ ครูก็สนใจทักทาย เพื่อนก็หยอกล้อทั้งคำพูดและสัมผัสร่างกาย หลายครั้งก็บาดเจ็บในใจ หลายครั้งก็เกิดความสงสัย “ฉันต่างกับเธออย่างไรเธอจึงมีสิทธิ์ที่จะพูดหรือสัมผัสตัวฉันอย่างไรก็ได้”

การกีดกันในงานและองค์กร ระเบียบเชิงวัฒนธรรม ความเชื่อเรื่องวุฒิภาวะ เหมารวมเอาเรื่องเพศวิถี “ที่เหมาะสม” ลงไปอยู่ในเกณฑ์การคัดคนเข้าทำงาน การพิจารณาความเติบโต และการสนับสนุนให้เป็นผู้นำในองค์กร ทั้งที่ “ความเหมาะสมในการทำงาน อาจต้องการเพียงมนุษย์เพศหรือการแสดงออกใดก็ได้ที่มุ่งงาน สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คน มีเป้าหมายต่อองค์กร และพร้อมจะซื่อสัตย์ต่ออาชีพของตนเอง

แม้ผู้คนจะสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียมกันในข้อกฎหมาย แต่ความไม่เท่าเทียมในสิทธิ์และการเข้าถึงการบริการยังพบได้ในการปฏิบัติจริง ผู้มีความหลากหลายได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกับคนทั่วไป ผู้มีท่าทางที่เคลื่อนไหวช้า อ่อนโยน พูดเสียงที่เบา ในขณะที่ชื่อของเขานำหน้าด้วยนาย มักถูกผู้ให้บริการบางแห่งเรียกสรรพนามว่า “น้องสาว” ในขณะที่ผู้คนทั่วไปมักได้รับการเคารพด้วยการเรียนสรรพนามว่า “คุณ” กฎหมายที่มีนโยบายแต่ไม่ไปถึงผู้ปฏิบัติ กฎหมายที่มีนโยบายแต่ใช้ไม่ได้จริง ส่งผลให้ผู้รับบริการไปไม่ถึงแม้สิ่งที่เรียกว่า “สิทธิ์ของความเท่าเทียม”

ความต้องการในการยอมรับทางสังคมของผู้มีเพศสภาพ เพศในใจ และเพศวิถีที่หลากหาย ในสภาวะสังคมในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตใจได้ อาทิ

อารมณ์เชิงลบที่เกิดซ้ำๆ เมื่อจำเป็นต้องแสดงตนทางสังคม ทำให้ผู้นั้นประสบกับอารมณ์กังวล โกรธ เศร้า น้อยเนื้อต่ำใจ หรืออาจกล่าวโทษตนเอง ว่าตนและเพศของตนเป็นสิ่งที่ผิดเพราะไม่ได้รับการยอมรับและปฏิบัติอย่างที่ควรเป็น

สะสมเป็นปัญหาบุคลิกภาพ เพราะการอยู่กับความคิดเชิงลบ และความรู้สึกเชิงลบกับตนเองเป็นเวลานานจะส่งผลต่อ “ระบบคิดและระบบพฤติกรรม” ที่คิดหรือแสดงบางอย่างออกมาน้อยหรือมากกว่าปกติ และอาจพัฒนาไปสูการมีปัญหาด้านบุคลิกภาพที่ส่งผลต่อจิตใจและการใช้ชีวิต

            ทำให้สูญเสียสังคมและความสัมพันธ์ เพราะความหวาดหวั่น ไม่แน่ใจ โกรธ กังวล มักยิ่งสร้าง “สิ่งกีดกัน” ขึ้นในใจ มีช่องว่างระหว่างตนและสังคมอยู่เสมอว่า “ฉันเป็นส่วนเกิน” “ฉันไม่เป็นที่ต้องการ”

            ในขณะที่แท้จริงแล้ว หากเรามองอย่างลึกถึงความเป็นมนุษย์ข้างใน ยอมรับในสันติและเคารพความหลากหลายที่จะอนุญาตให้ใครเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ทำร้ายใคร ไม่เพียงเขาผู้นั้นจะไม่ถูกกีดกัน ไม่เพียงเขาผู้นั้นจะไม่หวาดหวั่น ไม่เพียงเขาผู้นั้นจะไม่ต้องทนทุกข์ในใจ

            ผู้มีสันติและเคารพความหลากหลาย ย่อมสามารถประนีประนอมกับความรู้สึกแปลกแยกภายในใจตนเอง เพื่อการสงบจิตใจเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งแปลกใหม่และไม่คุ้นเคย

นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น