บันทึกนี้ไม่ได้เขียนเอง แต่ไปลอกเขามาจากมติชนของวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16:00:00 น.
คนที่เขียนบทความนี้คืออาจารย์ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ เป็นท่านที่ผมเคารพนับถือมาก
ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
ลองอ่านดูนะครับ น่าสนใจมาก
….……………………………………………….
ความเข้าใจผิดที่ว่าตามประมวลกฎหมายอาญานั้น ลงโทษแพทย์ที่ทำแท้ง เป็นเหตุให้ตำรวจทำผิดกฎหมายที่ไปจับแพทย์ที่ทำแท้งให้หญิง
เพราะที่จริงกฎหมายอาญาอนุญาตให้แพทย์ทำแท้งได้ เพื่อให้หญิงปลอดภัย และไม่ต้องเสี่ยงภัยจากการหาหมอเถื่อน!!!
ป.อาญา มาตรา 305 ที่บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์ และ
(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ
(2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284
ผู้กระทำไม่มีความผิด”
กำหนดให้นายแพทย์ทำแท้งได้ตามเงื่อนไข โดยไม่มีความผิด
เท่ากับกฎหมายให้อำนาจแพทย์ (หรือผู้ที่ทำภายใต้การดูแลของแพทย์) ทำแท้งได้
คนที่ไม่ใช่แพทย์ทำแท้งไม่ได้
เหมือนกับการที่กฎหมายให้อำนาจตำรวจจับกุมผู้ที่กระทำความผิดซึ่งหน้าได้โดยไม่ต้องมีหมาย ตำรวจย่อมไม่มีความผิด
มิใช่ว่าเห็นตำรวจจับกุมผู้ที่กระทำความผิดซึ่งหน้าต้องไล่จับตำรวจดำเนินคดี ข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังเลย เห็นแพทย์ผ่าตัดคนไข้
ก็จับฐานทำร้ายไว้ก่อนกระนั้นหรือ? จะเอาอย่างนั้นก็เอา !!!เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพวก “ทำตามนโยบาย กฎหมายไม่ดู”
ยังทำให้ตำรวจเข้าใจว่าการทำแท้งผิดกฎหมายในทุกกรณี สักวันหนึ่งตำรวจเหล่านี้(มีรายชื่อร่วมจับกุม)จะถูกดำเนินคดีอาญา
ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งไม่เพียงเข้ามาตรา 157 อันเป็นมาตรายอดนิยมเท่านั้น หากแต่จะรวมเอาความผิดบท
เฉพาะตามมาตรา 172, 174,179, 181 และมาตรา 200 เข้าไว้ด้วย ทีนี้ แทนที่จะก้าวหน้าในราชการกลับจะถูกแขวนเพราะต้องคดีเป็นแน่
(คนสั่งลอยนวลอยู่เบื้องหลัง เพราะไม่มีชื่อร่วม)
ดังนั้นเมื่อพบว่า แพทย์ทำแท้งให้หญิง ตำรวจต้องถือว่าแพทย์เขามีอำนาจทำได้
เว้นแต่ตนจะมีหลักฐานมาก่อนว่าทำไม่ถูกตามเงื่อนไข ตามที่แพทยสภากำหนด
มิใช่ว่าจับแพทย์ที่ทำแท้งก่อน แล้วค่อยมาพิสูจน์กันทีหลัง
แต่หากผู้ที่กระทำไม่ใช่แพทย์ หรือผู้ช่วยของแพทย์ แต่เป็นหมอเถื่อนแล้ว
จึงสมควรจะจับกุมดำเนินคดี ไม่ใช่จับแพทย์ที่ทำโดยปลอดภัยให้หญิง
ดังนั้น เมื่อรัฐไม่ดูแลหญิง ไม่ดูแลเด็ก ไม่ส่งเสริมการคุมกำเนิดที่ถูกต้อง
(มียาคุมออกใหม่ห้ามขายเสียหมด) แถมยังไล่จับแพทย์ที่ทำแท้งหญิงให้ปลอดภัย
เสียอีก เท่ากับผลักดันให้หญิงต้องไปทำแท้งกับหมอเถื่อน ซึ่งผลที่ออกมาคือไม่ตายก็พิการ
ก็เท่ากับรัฐเป็นฆาตกร ฆ่าทั้งแม่และเด็กเสียเอง
การดำเนินการจึงต้องตั้งหลักให้ถูกว่าจะจับแพทย์ที่ทำแท้งเถื่อนหรือควรจะจับหมอเถื่อนที่ทำแท้ง (หญิง)
หากดำเนินการผิดพลาดไปแล้วโดยจับแพทย์ที่ทำแท้งเถื่อน (หญิง) ปลอดภัยซึ่งเขามีอำนาจ
ทำได้โดยถูกต้องตามเงื่อนไขของกฎหมาย แต่ไม่ไปจับหมอเถื่อนที่ทำแท้ง (หญิงตายหรือพิการ)
เราคงมิใช่เพียงแต่พบร่างของซากเด็กกว่า 2,000 ศพเท่านั้น หากแต่อาจจะมีศพของแม่เด็กเพิ่มขึ้นมาอีกกว่าครึ่งทีเดียว
ปัญหาต้องพิจารณาก่อนว่า “การตั้งครรภ์นั้นเป็นโรคชนิดหนึ่งหรือไม่” (ความเห็น(ผิด)ของคนบางคนบอกว่าไม่ !)
คิดง่ายๆ ว่าถ้าการตั้งครรภ์นั้นไม่ใช่โรค … แล้วทำไมต้องไปฝากครรภ์ กินยา และปรึกษาแพทย์ ????
ดังนั้นจึงควรดำเนินการกับแพทย์ที่ไม่ยอมทำแท้งที่ถูกกฎหมาย
(โดยเฉพาะแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ)
เพราะนั่นคือแพทย์ที่ไม่รักษาผู้ป่วย ….
น่าจะผิดจรรยาบรรณด้วยซ้ำไป !!!
ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305
แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 118 ง
วันที่ 15 ธันวาคม 2548 นั้นเป็นข้อบังคับที่ออกตามความในพระราชบัญญัติ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
จึงมีผลบังคับเป็นข้อปฏิบัติตามกฎหมาย ใครไม่ทำตามอาจได้รับผลร้ายตามกฎหมายนั้นๆ
นอกจากนั้นข้อบังคับดังกล่าวยังเป็นการกำหนด “มาตรฐานทางวิชาชีพ” อีกด้วย
ดังนี้ เมื่อแพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยและรักษาตามมาตรฐานทางวิชาชีพแล้ว ย่อมไม่มีความรับผิดใดๆ
ทั้งทางแพ่งและทางอาญา เช่นแพทย์วินิจฉัยตามมาตรฐานแล้วว่า นายแดงติดเชื้อบาดทะยักร้ายแรง
จนต้องตัดขาเพื่อรักษาชีวิต ตำรวจ อัยการ หรือศาลกลับบอกว่าไม่ใช่ ไม่ต้องตัดขาก็ได้ ……
การที่แพทย์ตัดขาเป็นการทำร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัส กระนั้นหรือ ?
ต่อไปนี้ก็มีแต่ตำรวจกับอัยการหรือศาลก็พอ ….
หมอไม่ต้องมี !!!
ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) และนิติศาสตร์มหาบัณฑิต(สาขากฎหมายอาญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เนติบัณฑิตไทย, LL.M. (University of Pennsylvania), ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางกฎหมายอาญา (D.E.A. de sciences criminelles), ปริญญาเอกเกียรตินิยมทางกฎหมายอาญา (l’ Université de Nancy 2); Doctorat en droit pénal, mention très honorables (l’ Université de Nancy 2), รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์