ความหมายที่แท้จริงของความกลัว
ความกลัวเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่กับสิ่งมีชีวิตมาตั้งแต่โลกดึกดำบรรพ์เพื่อช่วยประคองให้มนุษย์มีชีวิตรอดจากสิ่งอันตรายและสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อปกป้องตัวเอง จากหลักฐานภาพเขียนสีมนุษย์สร้างถ้ำเพื่อปกป้องร่างกายตนเองจากน้ำท่วม สัตว์ร้าย ปกป้องจิตใจจากเสียงฟ้าผ่า ฟ้าร้อง แม้กระทั่งในโลกปัจจุบันความกลัวก็เป็นสิ่งที่ช่วยยับยั้งเราให้พูด ทำ หรือโพสต์ข้อความต่างๆ บนโลกออนไลน์อย่างระมัดระวัง
แม้ความกลัวจะเป็นสิ่งที่มีอยู่กับเราแต่ระดับของความกลัวในแต่ละคนขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน เด็กที่โดนเตารีดร้อนจะกลัวและระมัดระวังตัวเองอย่างมากเมื่อต้องรีดเสื้อผ้าตอนเขาโตขึ้น วัยรุ่นที่โดนแกล้งบ่อยๆ อาจกลัวการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความกลัวจึงถูกกระตุ้นจากความคิดหรือความเชื่อที่สะสมมาต่อความสามารถในการจัดการกับปัญหาของตนเอง
หลายครั้งความกลัวก็รบกวนชีวิตประจำวันเพราะทำให้เราคิดวนซ้ำ อารมณ์ขุ่นมัว รู้สึกไม่พอใจตนเองเพราะไม่เห็นเหตุที่แท้จริงของความกลัว ตัดสินใจกับบางสิ่งบางอย่างได้ยาก อีกทั้งความกลัวที่มากไปลดทอนความสามารถที่แท้จริง ยิ่งตอกย้ำให้ความกลัวที่มีอยู่เพิ่มระดับขึ้นอย่างไม่รู้ตัว
ความแตกต่างระหว่าง “ไม่กลัว” กับ “กล้า”
ไม่กลัว เป็น รูปแบบการแสดงออกโดยปราศจากความรู้สึกกลัวตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นการคิด พูด และกระทำอย่างเป็นอัตโนมัติที่อาจมาจากประสบการณ์ที่คุ้นเคย หรือไม่ได้มีความคิดกังวลต่อสถานการณ์นั้นๆ ทำให้การตัดสินใจและการกระทำแสดงออกได้ฉับพลันทันที เป็นไปในรูปแบบที่ตอบสนองกับสถานการณ์ที่คุ้นเคย เช่น กล้าขี่จักรยานในทางเปลี่ยวตอนกลางคืนเนื่องจากเป็นทางที่ใช้เป็นประจำ เป็นต้น
ส่วนความกล้า เป็น รูปแบบการแสดงออกที่เริ่มต้นด้วยความรู้สึกกลัว กังวล ต่อสิ่งที่ต้องเผชิญ มีลักษณะไม่แน่ใจ ค่อยๆ จัดการกับอาการทางกาย ลำดับความคิด กระทั่งอารมณ์สงบลงส่งผลต่อการค่อยๆ ลงมือกระทำอย่างมีแบบแผน และใช้เหตุผล
ซึ่งต่างจากความกลัวในระดับที่มากจนกระทั้งแสดงพฤติกรรมออกไปอย่างหุนหัน ขาดความรู้ตัว ควบคุมได้ยาก ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมากกว่าการมีแผนในการกระทำอย่างมีลำดับขั้นตอน เช่น การใช้ไม้ตีสุนัขที่นั่งอยู่ริมทางจนบาดเจ็บสาหัสอย่างไม่รู้ตัวเพราะกลัวสุนัขจะมาทำร้ายในขณะที่ตนเดินผ่าน
การบริหารความกลัวให้เป็นประโยชน์
ความกลัวอาจไม่หายไปจากเราอย่างหมดสิ้น แต่หากเราสามารถบริหารความรู้สึกกลัวได้ ความรู้สึกกลัวนั้นจะค่อยๆลดลงไป และทำให้เราสามารถแก้ปัญหาได้ รวมทั้งเมื่อเราแก้ปัญหาบางอย่างไปได้จะส่งผลให้ความเชื่อในความสามารถตนเองเพิ่มขึ้นมีส่วนช่วยลดความกลัวลงได้ในระยะถัดไป
1.ตามหาเรื่องที่กลัวหรือกังวลให้เจอ โดยเฉพาะเรื่องที่มักทำให้หยุดคิดได้ยาก ส่งผลต่อการขาดสมาธิ และมีอาการทางกายเกิดขึ้นร่วมด้วย อาทิ หายใจเร็ว ใจสั่น มือสั่น ตัวชา เป็นต้น
2.ฝึกการผ่อนคลายลมหายใจและกล้ามเนื้อ โดยเริ่มทำจากการรู้ทันความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย (เครียดไหม? จัดการยังไงดี คลิก shorturl.at/jpqDE)
3.นำประเด็นที่ตนเองรู้สึกกังวลหรือกลัว เขียนลงด้านบนของกระดาษ จากนั้น เขียนแนวทางวิธีการแก้ไขทุกทางที่ควรทำ ต้องทำ และอยากให้เกิดขึ้น โดยเขียนอย่างอิสระให้ได้มากเท่าที่จะได้ เช่น
ฉันจะติดโคโรน่าไวรัส ฉันต้องใส่หน้ากาก ฉันจะไปตรวจไวรัส โรงเรียนควรหยุดเรียน รัฐบาลควรแจกวัคซีนให้คนทั้งประเทศ ฯลฯ |
4.หลังจากรวบรมวิธีการได้มากพอนำวิธีเหล่านั้นแบ่งใส่ตารางสองฝั่ง ฝั่งนึงเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม ฝั่งนึงเป็นสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ด้วยตนเอง
สิ่งที่อยู่เหนือการควบคุม | สิ่งที่ฉันควบคุมได้ |
โรงเรียนควรหยุดเรียน รัฐบาลควรแจกวัคซีนให้คนทั้งประเทศ |
ฉันต้องใส่หน้ากาก ฉันจะไปตรวจไวรัส |
5.ทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมด้วยเหตุผล หลังอารมณ์และอาการทางกายสงบ และลำดับสิ่งที่ “ฉันควบคุมได้” จากสิ่งที่ง่ายและทำได้ก่อนไปสู่ที่สิ่งเป็นได้ยากกว่า
6.เขียนแผน หรือเตรียมการสำหรับทำสิ่งที่ทำได้อย่างรัดกุม เพราะการเขียนสร้างรูปแบบที่ชัดเจนของการกระทำและความคิด และที่สำคัญป้องกันการลืมบางสิ่งบางอย่าง โดยอาจเขียนเป็นตาราง บัตรคำ หรือจดบันทึกในโทรศัพท์มือถือ อย่างเป็นลำดับขึ้นตอนให้ชัดเจน (เสมือนคู่มือเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแผ่นพับเพื่อความปลอดภัยบนสายการบิน) อาทิ เตรียมหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ โน๊ตเตือนตนเองให้ล้างมือก่อนทานอาหาร โน๊ตเตือนให้ตนเองอาบน้ำทันทีเมื่อถึงบ้าน
ตัวอย่างข้างต้น เป็นกระบวนการในการรักษาระดับของความกลัวให้อยู่ในระดับที่จะเป็นประโยชน์ในการปกป้องร่างกายไปพร้อมๆ กับการดูแลจิตใจ ซึ่งสามารถปรับไปใช้กับการเรียน และบริบทอื่นๆ ได้ โดยใจความสำคัญ คือ ความไม่พยายามให้ความกลัวหายไป แต่กล้าที่จะกลัวเพื่อบริหารให้ความกลัวอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะความพยายามที่มากไปอาจกลายเป็นสิ่งที่กระตุ้นความกลัวใหม่
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น