กรี๊ดๆ หรือ การกรีดร้องเสียงดัง บางทีก็นอนดิ้นกับพื้น กระทืบเท้า ขว้างปาสิ่งของ ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น เพื่อระบายความโกรธหรือตอบโต้เมื่อถูกขัดใจ เมื่อรู้สึกหงุดหงิด คืออาการของการร้องอาละวาด (Temper Tantrums) ของเด็ก ซึ่งพบได้ทั่วไป เพราะเป็นหนึ่งในพัฒนาการเด็ก ที่กำลังเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ตนเอง และยังขาดทักษะในการสื่อสาร ซึ่งพบบ่อยในช่วงอายุ 2-3 ปี (ร้อยละ 50-80) และจะค่อยๆ ลดลงจนหายไปเมื่ออายุ 4 ปี ส่วนใหญ่การร้องอาละวาดใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที แต่การร้องอาละวาดที่เป็นปัญหา เหมือนกับที่เราเห็นจากน้องพีท ในละครวัยแสบสาแหรกขาดนั้น สามารถสังเกตได้ดังนี้

  1. เริ่มมีอาการเมื่ออายุน้อยกว่า 1 ปี หรือมากกว่า 4 ปี
  2. มีอาการนานกว่า 15 นาที หรือมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน
  3. มักมีอาการที่โรงเรียน
  4. มีการทำร้ายตัวเอง ผู้อื่น หรือทำลายสิ่งของขณะมีอาการ
  5. มีปัญหาทารุณกรรมเด็ก (child abuse) ร่วมด้วย อาจเป็นความรุนแรงในครอบครัว หรือจากภาวะซึมเศร้า เครียด หรือโมโหของพ่อแม่ ส่วนใหญ่มักเริ่มจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่
  6. มีปัญหาพฤติกรรมร่วม เช่น ปัญหาการกิน/การนอน การเรียนรู้ หรือการเข้ากับเพื่อน เป็นต้น
  7. เด็กมีความหงุดหงิด หรือไม่พอใจตลอดเวลา แม้ไม่มีการร้องอาละวาด

โดยทั่วไป ปัญหาการร้องอาละวาดจะหายไปเมื่อเด็กโตขึ้น เพราะเด็กได้เรียนรู้วิธีการรับมือกับความไม่พอใจ ทำให้สามารถแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างเหมาะสมขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองหรือครูไม่ควรวางเฉยหรือมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเด็กโดยไม่ได้ใส่ใจดูแล เพราะพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสมอาจติดตัวเด็กไปเมื่อเลยอายุ 4 ปีไปแล้ว ผู้ใหญ่หรือคนใกล้ชิดเด็ก จึงควรให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาการร้องอาละวาดของเด็ก หากการร้องอาละวาดไม่มีวี่แววว่าจะหาย ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกของปัญหาอื่นที่เด็กกำลังเผชิญอยู่ เช่น การเรียน การเข้ากับเพื่อน เป็นต้น ผู้ปกครองควรพาเด็กไปตรวจวินิจฉัย เพื่อขอคำปรึกษาจากแพทย์โดยตรง

ข้อมูลอ้างอิงจาก

  1. การร้องอาละวาด (Temper tantrums) https://meded.psu.ac.th/binla/class05/388_551/problems_in_young_children/index3.html
  2. ลูกร้องอาละวาด (Temper Tantrums) http://taamkru.com/th/ลูกร้องอาละวาด/
  3. การร้องอาละวาด (Temper tantrums) http://rajanukul.go.th/iqeq/index.php?mode=iqeq&group_id=0&id=170