การเข้าสู่วัยรุ่นเร็วหรือช้า (Early versus late maturation) มีผลต่อจิตใจของวัยรุ่น

 

การเข้าสู่วัยรุ่นเร็วหรือช้า (Early versus late maturation) มีผลต่อจิตใจของวัยรุ่น

ปัญหาหนึ่งที่สำคัญสำหรับช่วงวัยรุ่นก็คือการเข้าสู่วัยรุ่นเร็วหรือช้า ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากทางด้านร่างกายของวัยรุ่น ในวัยแรกรุ่นหรือที่เรียกว่า Puberty เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กไปสู่วัยรุ่น ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก หรือส่วนสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต วัยแรกรุ่นนี้จะมีระยะเวลาประมาณ 4 ปี โดย 2 ปีแรกจะซ้อนกับวัยเด็กตอนปลาย และ 2 ปีหลังจะซ้อนกับวัยรุ่นตอนต้น ซึ่งในผู้หญิงกับผู้ชายก็จะมีวัยแรกรุ่นด้วยอายุที่แตกต่างกัน เด็กผู้หญิงจะเริ่มต้นเมื่ออายุประมาณ 10-12 ปี ส่วนเด็กผู้ชายจะเริ่มต้นเมื่ออายุ 12-16 ปี

การเข้าสู่วัยแรกรุ่นเร็วหรือช้า ในเด็กผู้ชายและผู้หญิง ไม่ได้ส่งผลต่อร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายยังมีผลต่อจิตใจและพฤติกรรมของวัยรุ่นแตกต่างกันไปด้วย


เด็กชายที่เข้าสู่วัยรุ่นเร็ว

มักจะมีอารมณ์ที่ดีกว่า มีความรู้สึกผ่อนคลายกว่าเด็กคนอื่นๆ เนื่องจากการเข้าสู่วัยรุ่นเร็วนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ในเด็กผู้ชายจะมีรูปร่างที่สูงใหญ่มากขึ้น ตัวสูงและหนาขึ้น มีกล้ามเนื้อมากขึ้น หรือเสียงแตก ซึ่งลักษณะเหล่านี้จะแสดงให้เห็นถึงความแข็งแรง และลักษณะของความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็กคนอื่น จึงทำให้เด็กชายมีความมั่นใจในตนเอง มองภาพลักษณ์ตนเองในเชิงบวก ส่งผลให้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งเด็กเหล่านี้มักจะได้รับการยอมรับในกลุ่มเพื่อน และมักได้รับเลือกให้เป็นผู้นำ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่แสดงออกถึงการเป็นวัยรุ่นมากกว่าเด็กคนอื่นๆ

 

เด็กชายที่เข้าสู่วัยรุ่นช้า

ตรงข้ามกับเด็กชายที่เข้าสู่วัยรุ่นเร็ว เนื่องจากการเปลี่ยนทางด้านร่างกายที่ช้ากว่าเพื่อนคนอื่นๆ ทำให้ถูกมองเป็นลักษณะของคนอ่อนแอ เช่น ตัวเล็ก รูปร่างผอมบาง ซึ่งทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และมีความวิตกกังวลกับความเป็นตัวเอง มองตนเองในเชิงลบหรือการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ อาจโดนล้อจากเพื่อนๆ โดนแกล้งหรือรังแก เด็กเหล่านี้จะปรับตัวได้ยากกว่าคนอื่นๆ

เด็กหญิงที่เข้าสู่วัยรุ่นเร็ว

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเด็กเหล่านี้คือ มักไม่เป็นที่นิยมของเพื่อน เนื่องจากการเปลี่ยนทางด้านร่างกายที่รวดเร็วของเด็กผู้หญิงจะถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าอาย เป็นสิ่งที่ต้องปกปิด เช่น การมีประจำเดือน การมีหน้าอก หรือการที่มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าคนอื่นๆ ทำให้เด็กขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และมองเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ อาจรู้สึกแปลกแยก รู้สึกว่าตนเองไม่เหมือนเพื่อน และรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ไม่ได้ จึงมีการปรับตัวได้ยาก

เด็กหญิงที่เข้าสู่วัยรุ่นช้า

ตรงกันข้ามกับเด็กหญิงที่เข้าสู่วัยรุ่นเร็ว คือมักเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนๆ การที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงช้า ทำให้ยังคงมีรูปร่างเหมือนวัยเด็ก เช่น ตัวเล็ก รูปร่างผอมบาง จึงเป็นที่ยอมรับในสายตาเพื่อน ๆ ทำให้มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ได้มาเกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย หากแต่เกิดจากปฏิกิริยาและความคาดหวังของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู หรือเพื่อนวัยเดียวกัน ฯลฯ  เพราะคาดหวังให้เด็กเป็นในแบบที่เขาต้องการ หรืออยากให้เหมือนกับคนอื่นๆ อาจจะมีการเปรียบเทียบ พูดแซว ล้อเลียนเรื่องรูปร่างหน้าตา หรือส่วนต่างๆ ของร่างกายที่เปลี่ยนแปลง ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ  จึงทำให้เด็กเกิดความวิตกกังวล ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง การมองเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ ซึ่งมีผลต่ออารมณ์และจิตใจของวัยรุ่น เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่ให้ความสำคัญต่อภาพลักษณ์ของตนเอง หากรับรู้ว่าภาพลักษณ์ที่คนอื่นมองตัวเองนั้นไม่ดี ก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจวัยรุ่นได้มากเช่นกัน

ความจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายช้าหรือเร็วนั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง เช่น พันธุกรรม อาหาร ฮอร์โมน การออกกำลังกาย โรคเรื้อรัง เป็นต้น  และการเปลี่ยนแปลงของแต่ละคน อาจเกิดขึ้นไม่พร้อมกันและไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องปกติ ไม่จำเป็นต้องกังวล ถ้าผู้ใหญ่และเด็กเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเข้าสู่วัยรุ่นเร็วหรือช้าที่กล่าวมานี้ก็อาจจะลดลงได้  แต่ถ้ามีความผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์

 

อธิญา ยุทธนาศาสตร์

(นิสิตฝึกงานสาขาจิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

 

ข้อมูลอ้างอิง

เมื่อลูกเป็นสาวเร็ว : https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=259