การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ดำเนินการโดยศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม สังกัด กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2520 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2520 และตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการและดูแลด้านการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม โดยปฏิบัติงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2533 และตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ในส่วนภูมิภาคได้แต่งตั้งให้มีคณะอนุกรรมการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมประจำจังหวัดขึ้นทุกจังหวัดเพื่อทำหน้าที่ โดยมีสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเป็นสำนักงานเลขานุการ
การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นการให้บริการด้านสวัสดิการเด็ก การดำเนินงานให้รับเด็กเป็นบุตร บุญธรรมจำเป็นต้องอาศัยหลักของกฎหมายควบคู่กับหลักการทางสังคมสงเคราะห์ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2533 กฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร เป็นต้น
การขอรับเด็ก (ผู้เยาว์) เป็นบุตรบุญธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
คุณสมบัติตามกฎหมายของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
1. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี (นับตั้งแต่วันเกิด ถึงวันที่ยื่นคำร้อง)
2. ต้องมีอายุมากกว่าเด็กที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรม ไม่น้อยกว่า 15 ปี
3. ต้องเป็นผู้ที่ไม่ต้องห้ามเป็นผู้ปกครองเด็กตามมาตรา 1587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้แก่
ผู้ซึ่งศาลสั่งว่าเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
ผู้ซึ่งเป็นบุคคลล้มละลาย
ผู้ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะปกครองผู้เยาว์ หรือทรัพย์สินของผู้เยาว์
ผู้ซึ่งมีหรือเคยมีคดีในศาลกับผู้เยาว์ ผู้บุพการีหรือพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดา หรือมารดากับผู้เยาว์
ผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายได้ทำหนังสือระบุชื่อ ห้ามไว้มิให้เป็นผู้ปกครอง
หลักเกณฑ์การขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
1. ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นคนสัญชาติไทย ที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ซึ่งขอรับเด็กสัญชาติไทยที่บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาเป็นผู้ให้ความยินยอม หรือเด็กที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของบิดามารดา และได้ผ่านการทดลองเลี้ยงดูครบกำหนดแล้ว
2. ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นคนสัญชาติไทย ที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย ซึ่งขอรับเด็กสัญชาติไทยที่ได้รับยกเว้นการทดลองเลี้ยงดูตามกฎหมาย
คุณสมบัติทางสังคมของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
1. เป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ ครอบครัวอบอุ่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวดี
2. ต้องมีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ
3. ต้องมีฐานะการครองชีพที่มั่นคง มีทรัพย์สินและรายได้ที่แน่นอน ไม่มีหนี้สิน และไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายการลี้ยงดูหรือสนับสนุนการศึกษาของเด็ก
4. ต้องมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง ถูกสุขลักษณะ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่อยู่ห่างไกลจากชุมชนมากเกินไป
5. ต้องมีเวลาให้กับเด็กที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรม ให้ความสำคัญ และเอาใจใส่เด็กอย่างใกล้ชิด
6. ต้องมีเหตุผลในการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่เหมาะสม ไม่เชื่อถือเรื่องโชคลาง รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอย่างเปิดเผยและจริงใจ ไม่ได้รับการคัดค้านจากสมาชิกในครอบครัว ญาติพี่น้อง
7. ต้องไม่มีบุตร หรือเด็กในความอุปการะมากเกินไป เพื่อให้บุตรบุญธรรมได้รับความรักและการเอาใจใส่อย่างเต็มที่
8. ไม่เคยมีประวัติกระทำความผิดตามกฎหมาย หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ต่อบุคคลอื่นหรือประพฤติผิดศีลธรรมและจารีตประเพณีอันดีงาม
9. ต้องมีวุฒิภาวะเหมาะสมที่จะอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนให้บุตรบุญธรรมประพฤติตนเป็นคนดี
เอกสารประกอบการพิจารณาของฝ่ายผู้ขอและคู่สมรส
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือ สำเนาบัตรข้าราชการ คนละ 1 ฉบับ
2. สำเนาทะเบียนบ้าน คนละ 1 ฉบับ
3. สำเนาทะเบียนสมรส 1 ฉบับ หรือสำเนาทะเบียนการหย่า หรือสำเนาใบมรณะบัตร (กรณีคู่สมรสเสียชีวิต)
4. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล คนละ 1 ฉบับ
5. ใบรับรองแพทย์แสดงว่ามีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์ คนละ 1 ฉบับ (ไม่เกิน 6 เดือน)
6. รูปถ่ายหน้าตรง ขนาด 2 นิ้ว เท่านั้น คนละ 1 รูป (ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน)
7. หากผู้ขอมีบุตรอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี บุตรต้องมาลงนามยินยอมให้บิดามารดารับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ และแนบสำเนาบัตรประชาชนของบุตร คนละ 1 ฉบับ หากบุตรไม่สามารถมาลงนามได้ ให้ผู้ขอรับเด็กทำบันทึกระบุเหตุผลที่บุตรไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอม และให้บุตรนั้นทำบันทึกแสดงความยินยอมให้บิดามารดารับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
8. หากคู่สมรสไม่ขอรับเด็กเป็นบุตรด้วย คู่สมรสต้องมาลงนามแสดงความยินยอมให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมฝ่ายเดียวต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่คู่สมรสไม่อาจให้ความยินยอม ไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ และหาตัวไม่พบเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ต้องมีคำสั่งอนุญาตของศาลแทนการให้ความยินยอมของคู่สมรสนั้น
9. กรณีผู้ขอรับเด็ก (มีสัญชาติไทย ไม่ได้ CITIZEN หรือ GREENCARD) ทำงานและอาศัยอยู่ต่างประเทศให้นำสำเนาหนังสือเดินทาง หนังสืออนุญาตทำงาน หนังสือรับรองการทำงานและรายได้ และทำหนังสือขอความร่วมมือเยี่ยมบ้านในต่างประเทศโดยต้องระบุสถานทูต หรือสถานกงสุลไทยที่ใกล้ที่อยู่ของตน และยินยอมจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ในการติดตามเยี่ยมบ้าน และติดตามการทดลองเลี้ยงดูเด็ก (กรณีต้องทดลองเลี้ยงดูเด็กตามกฎหมาย) ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (หลักฐานที่เป็นภาษาต่างประเทศ ต้องแปลเป็นภาษาไทย โดยแปลอย่างถูกต้อง และได้รับการรับรอง)
10. หากผู้ขอรับเด็กมีคู่สมรส ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่อยู่กินร่วมกันฉันท์สามีภรรยา คู่สมรสนั้นไม่สามารถขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมร่วมได้ และต้องลงนามในเอกสารคำร้องขอรับเด็ก พร้อมมีเอกสารหลักฐานดังกล่าวข้างต้น
เอกสารประกอบการพิจารณาของบิดามารดาเด็ก
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรข้าราชการ คนละ 1 ฉบับ
2. สำเนาทะเบียนบ้าน คนละ 1 ฉบับ
3. สำเนาทะเบียนสมรสหรือสำเนาทะเบียนการหย่าและบันทึกการหย่าซึ่งระบุว่าฝ่ายใดเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตร หรือสำเนาใบมรณะบัตร (กรณีคู่สมรสเสียชีวิต) จำนวน 1 ฉบับ
4. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล คนละ 1 ฉบับ
5. รูปถ่ายหน้าตรง ขนาด 2 นิ้วเท่านั้น คนละ 1 รูป (ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน)
6. บิดามารดาเด็กต้องมาลงนามแสดงความยินยอมมอบเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ถึงแม้บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตหรือถูกถอนอำนาจปกครอง
เอกสารประกอบการพิจารณาของเด็ก
• สำเนาสูติบัตรเด็ก จำนวน 1 ฉบับ
• สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ฉบับ
• สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ฉบับ
• สำเนาหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ- นามสกุล จำนวน 1 ฉบับ
• รูปถ่ายหน้าตรง ขนาด 2 นิ้ว เท่านั้น จำนวน 1 รูป (ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน) กรณีเป็นเด็ก
อายุตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี อนุโลมให้ใช้รูปขนาดโปสการ์ดได้
• กรณีเด็กมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี เด็กต้องมาลงนามแสดงความยินยอมเป็นบุตรบุญธรรมต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่
• กรณีเด็กมีอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้เด็กเขียนบันทึกระบุเหตุผลที่ต้องการ และยินยอมเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ขอรับเด็ก
เอกสารประกอบการพิจารณาของผู้รับรอง จำนวน 2 คน
ผู้รับรองต้องรู้จักกับผู้ขอรับเด็ก เช่น บิดามารดา ญาติพี่น้อง เพื่อน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หัวหน้าหน่วยงาน
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรข้าราชการ คนละ 1 ฉบับ
2. สำเนาทะเบียนบ้าน คนละ 1 ฉบับ
• ผู้รับรองไม่ต้องมาในวันที่ผู้ขอรับเด็กนำคำร้องมายื่น แต่ต้องรับรองสำเนาเอกสารของตนเองให้ครบ
** บุคคลที่เชื่อถือได้ ในแบบ บธ.4 หน้าที่ 5″ ” ผู้รับรองในแบบ บธ. 7 ข้อ 11 และผู้รับรองที่ลงนามในหนังสือรับรองต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันเท่านั้น
***การรับรองใน แบบ บธ. 7 ข้อ 11 ของผู้รับรอง ให้เขียนรับรองผู้ขอรับเด็กว่ามีความเหมาะสมที่จะเลี้ยงดูเด็กอย่างไรบ้างตามความคิดเห็นของผู้รับรอง เช่น ความมั่นคงของรายได้ หน้าที่การงาน ความประพฤตินิสัยใจคอ อารมณ์จิตใจ สภาพครอบครัว และให้ระบุระยะเวลาที่ผู้ขอรับเด็กได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กด้วย
หมายเหตุ
1. เอกสารหลักฐานของทุกคน (ยกเว้นของผู้รับรอง) ให้นำฉบับจริงมาแสดงด้วย ในวันที่นำคำร้องขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมายื่น
2. ไม่อนุญาตให้ผู้ขอรับเด็ก หรือบุคคลอื่นใดนำหนังสือแสดงความยินยอมต่าง ๆ ไปให้ผู้ที่ต้องมาลงนามต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ไปลงนามที่อื่นทุกกรณี
กรณีชาวต่างชาติขอรับบุตรติดภรรยาหรือหลานของภรรยาเป็นบุตรบุญธรรม
สถานที่ติดต่อยื่นเรื่อง
ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เลขที่ 255 ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ 0-2354-7500″