คนข้ามเพศและกระบวนการข้ามเพศทางการแพทย์ Transgender People and Gender Transition

คนข้ามเพศและกระบวนการข้ามเพศทางการแพทย์ Transgender People and Gender Transition

“คนข้ามเพศ” หมายถึง?
คนข้ามเพศ (transgender people) คือบุคคลที่มีอัตลักษณ์หรือเอกลักษณ์ทางเพศ (gender identity) ที่ไม่สอดคล้องกับเพศโดยกำเนิด (assigned sex at birth) หรืออวัยวะเพศของตน (biological/anatomical sex) ซึ่งคนข้ามเพศนั้นยังหมายรวมถึงคนที่รับรู้เพศสภาพของตนอย่างไม่สอดคล้องกับเพศแรกเกิดแม้ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการแปลงเพศก็ตามด้วยเช่นกัน คนข้ามเพศสามารถแบ่งออกเป็น

  1. Female-to-Male (FTM) Transgender หรือ ผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิงแต่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือการรับรู้ทางเพศเป็นชาย
  2. Male-to-Female (MTF) Transgender หรือ ผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นชายแต่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือการรับรู้ทางเพศเป็นหญิง

มุมมองของสังคมต่อคนข้ามเพศ
ถึงแม้ว่าสังคมจะเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่คนข้ามเพศยังถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติจากคนอื่นในสังคมอยู่ เพราะสังคมอยู่ภายใต้กรอบความคิดที่แบ่งออกเป็นแค่ชายหรือหญิงเท่านั้น สำหรับ transgender นั้นปัจจุบันก็ยังพบเจอปัญหาอยู่หลายด้าน เช่น การถูกต่อต้านและกดขี่ในสถานศึกษาหรือที่ทำงาน การได้รับโอกาสที่น้อยกว่า การที่ไม่มีสิทธิที่จะได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ดั่งเช่นกับคนอื่น ปัญหาหลาย ๆ อย่างที่ถูกสังคมมองข้าม แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วทุกคนควรที่จะได้รับความเท่าเทียม และไม่มีใครถูกกีดกันออกจากสังคม 

บทบาทด้านจิตเวชศาสตร์ต่อคนข้ามเพศ
Gender dysphoria เป็นภาวะทางจิตเวช ที่เดิมชื่อว่า gender identity disorder ซึ่งปัจจุบันเกณฑ์การวินิจฉัยทางจิตเวช DSM-5 (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) ไม่นิยาม gender dysphoria ว่าเป็นโรค (disorder) ทางจิตเวช แต่เป็นภาวะที่บุคคลหนึ่งรู้สึกไม่สอดคล้องอย่างมากระหว่างเพศกำเนิดและเพศสภาพที่ตนรับรู้ อาการนี้ต้องเป็นอย่างต่อเนื่อง และทำให้บุคคลรู้สึกทุกข์ใจอย่างมากหรือประสบปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน ภาวะนี้ในเด็กจะแสดงออกมาผ่านพฤติกรรม เช่น การเลือกของเล่น การแต่งตัว ฯลฯ ในขณะที่ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักแสดงออกมาเป็นความต้องการรูปร่างและการใช้ชีวิตในอีกเพศหนึ่ง การวินิจฉัย gender dysphoria อาศัยเกณฑ์ของ DSM-5 และการประเมินอย่างละเอียดจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคลินิก

การรักษา gender dysphoria แตกต่างกันออกไปตามช่วยอายุวัย เด็กที่มีภาวะ gender dysphoria ส่วนหนึ่งสามารถหายจากภาวะนี้เมื่อโตขึ้น อย่างไรก็ตามการรักษาเด็กที่มีภาวะนี้โดยการเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศให้ตรงกับเพศกำเนิด หรือที่เรียกว่า cure approach นั้น เป็นวิธีที่ไม่แนะนำเพราะอาจจะยิ่งก่อให้เกิดความเครียดในเด็ก วิธีการที่ผู้คนรอบข้างสามารถช่วยตัวเด็กได้นั้น คือการสอนให้เด็กเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศ และพัฒนาการทางเพศก่อน เพื่อที่ตัวเด็กจะสามารถเข้าใจในสิ่งที่ตนเองเป็นและสามารถสานต่อความต้องการของตนเองที่จะเปลี่ยนแปลงเพศสภาพตนเองหรือไม่ก็ตามในอนาคต

สำหรับเด็กวัยรุ่น เนื่องจากเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน ทำให้การรักษาโดยเบื้องต้นของวัยนี้ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของสหวิชาชีพทางการแพทย์ ได้แก่ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กุมารแพทย์ กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ เป็นต้น การข้ามเพศอาจเริ่มจากการทดลองเปลี่ยนการแสดงออกทางเพศในชีวิตประจำวัน เริ่มจากการใช้ยาเพื่อยับยั้งการผลิตฮอร์โมนทางเพศ หรือการรับฮอร์โมนข้ามเพศ ร่วมกับการรับคำปรึกษาครอบครัว

ในกรณีของผู้ใหญ่ สามารถเข้าสู่กระบวนการข้ามเพศ ผ่านการปรับเปลี่ยนการแสดงออกทางเพศ การใช้ฮอร์โมนข้ามเพศ และวางแผนการผ่าตัด (surgical transition) จากผู้เชี่ยวชาญไปพร้อม ๆ กันได้เลย

กระบวนการข้ามเพศ (Gender Transition)
การเปลี่ยนแปลงทางเพศภาวะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ซึ่งแรกเริ่ม ไม่ว่าจะเป็น ชายไปเป็นหญิง (transwomen) หรือ หญิงไปเป็นชาย (transmen) กระบวนการแรกที่จะต้องได้รับคือการเข้าพบจิตแพทย์เพื่อประเมินว่าผู้ป่วยมีภาวะ gender dysphoria จริง ร่วมกับการประเมินความมั่นคงของอัตลักษณ์ทางเพศ และภาวะสุขภาพจิตอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าบุคคลนั้นสามารถและมีความพร้อมสำหรับการข้ามเพศ หลังจากนั้น ขั้นตอนจะแบ่งออกเป็น ดังนี้

1.ด้านบทบาททางสังคม (Social Transition)

ในการ transition เบื้องต้น บุคคลนั้นจะเริ่มที่การค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงตนเองทางด้านสังคม เช่น การเปลี่ยนการสไตล์การแต่งตัว ทรงผม หรือการรัดหน้าอก (chest binding) สำหรับ transmen และ genital tucking ที่ภาษาทั่วไปจะเรียกว่า การแต๊บ ของ transwomen รวมถึงการที่ transgender people จะต้องค่อย ๆ come out กับคนรอบข้าง เพื่อที่ให้พวกเขาได้ทำการเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน
สำหรับ FTM การรัดหน้าอก หรือ chest binding คือการนำผ้าอีลาสติกมารัดรอบหน้าอก หรือใช้ชุดที่ออกแบบมาเพื่อรัดหน้าอกโดยเฉพาะเพื่อทำให้หน้าอกแบนราบ ข้อควรระวังของการรัดหน้าอกคือ ไม่ควรรัดเป็นเวลานานเกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ควรรัดแน่นจนเกินไป เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพได้ นอกจากนี้ FTM สามารถเริ่มลองใช้อวัยวะเพศชายเทียมก่อนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนจะผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศชาย
สำหรับ MTF นั้น การเปลี่ยนแปลงเพศสภาพสามารถเริ่มจากการใส่หน้าอกเทียม และ genital tucking (การแต๊บ) หรือการอำพรางอวัยวะเพศชายเพื่อให้ดูคล้ายอวัยวะเพศหญิง ซึ่งการ tucking สามารถใช้ทั้งเทปกาวแบบธรรมดาหรือเทปกาวทางการแพทย์สำหรับปิดแผลได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละบุคคลเอง ข้อแนะนำอื่น ๆ ได้แก่ การโกนขนบริเวณอวัยวะเพศเพื่อที่เวลาแกะเทปกาวออกจะได้ไม่รู้สึกเจ็บ และไม่ควรติดยึดเทปกาวจนแน่นเกินไป เพราะอาจทำให้รู้สึกอึดอัดและเสี่ยงการเกิดผื่นคันได้

2.ด้านการแพทย์เบื้องต้น (Medical Transition)

การ transition ของบุคคลข้ามเพศในทางการแพทย์แบ่งออกเป็นสองแบบ  คือ การให้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ หรือ GAHT (gender-affirming hormone treatment) และยาต้านฮอร์โมน (hormone blocker)  การให้ฮอร์โมนข้ามเพศจะพิจารณาจากผู้รับบริการเป็นรายบุคคลเนื่องจากต้องมีการประเมินสุขภาพของบุคคลนั้นก่อน หากบุคคลที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงเพศสภาพยังมีอายุต่ำกว่า 16 ปีอยู่ ตามเกณฑ์แล้วจะสามารถใช้ได้เพียงยาต้านฮอร์โมนเพศเท่านั้น เมื่ออายุถึง 16 ปี จึงพิจารณาว่าสามารถใช้ฮอร์โมนบำบัดเพื่อการข้ามเพศ (GAHT) ต่อไปได้หรือไม่ สำหรับผู้หญิงข้ามเพศวัยผู้ใหญ่ การ transition จะประกอบไปด้วยการใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย (antiandrogen) และยาฮอร์โมนเอสตราดิออล (estradiol) สำหรับผู้ชายข้ามเพศวัยผู้ใหญ่ การ transition จะประกอบไปด้วยการใช้ยาฮอร์โมนเพศชาย (testosterone) เพื่อรักษาระดับฮอร์โมนเพศชายให้ถึงค่ามาตรฐาน หลังจากได้รับการบำบัดด้วยฮอร์โมนแล้ว การมอนิเตอร์ที่จะตามมาในภายหลัง ได้แก่ การประเมินค่าระดับฮอร์โมนทางเพศ และความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น การได้รับฮอร์โมนเพศจะปรับลักษณะทางกายภาพของผู้ที่ได้รับฮอร์โมนทีละน้อย เช่น เสียงค่อย ๆ เปลี่ยน การเพิ่มขึ้นของมวลกล้ามเนื้อ หรือการขยายของหน้าอก 

3.ด้านการผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศ (Surgical Transition)

การผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ หัตถการที่เมื่อทำไปแล้วสามารถแก้ไขให้กลับมาสู่สภาวะเดิมได้ (reversible procedures) และหัตถหารที่เมื่อทำไปแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างถาวร (irreversible procedure) ฉะนั้นแล้ว การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแปลงเพศสภาพจึงประกอบด้วยการยินยอมที่แน่ใจแล้วจากผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัด และผู้เข้ารับการผ่าตัดต้องผ่านการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อลดโอกาสการเกิดความเสียใจจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดหลังการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแปลงเพศสภาพไม่ใช่ความต้องการของ transgender ทุกคน และความต้องการของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป 

 การผ่าตัดเพื่อแปลงจากเพศหญิงเป็นเพศชายมีทั้งการผ่าตัดเพื่อเอาเต้านมออก การผ่าตัดเพื่อเอามดลูกออก (hysterectomy) และการผ่าตัดเพื่อเอารังไข่ออก (salpingo-oophorectomy) ซึ่งไม่จำเป็นที่ transmen ทุกคนจะต้องผ่าตัดออกทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคน หากผู้เข้ารับการผ่าตัดต้องการผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศชาย หลังจากขั้นตอนการผ่าตัดเพื่อนำอวัยวะออกแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการผ่าตัดปิดช่องคลอดและสร้างอวัยวะเพศชาย ซึ่งทำได้ทั้งหมด 2 วิธี ได้แก่

  1. วิธีเมตตอยต์ (metoidioplasty) หรือการเพิ่มความยาวของอวัยวะเพศจากคลิตอริส (clitoris)
  2. วิธีฟาโล (phalloplasty) หรือการใช้เนื้อเยื่อจากท้องแขนหรือต้นขามาผ่าตัดพร้อมกับการปลูกถ่ายองคชาตเทียม (penile prostheses) เพื่อให้อวัยวะเพศสามารถเกิดการแข็งตัวได้

นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดสร้างถุงอัณฑะ (scrotoplasty) ซึ่งส่วนใหญ่จะทำร่วมกับการผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศชาย สำหรับการดูแลรักษาหลังการผ่าตัดนั้นก็คล้ายกับการดูแลรักษาแผลผ่าตัดทั่วไป หากแต่ transmen จะต้องได้รับฮอร์โมนเพศชายไปตลอดชีวิต เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดฮอร์โมนและเพื่อป้องกันการผุกร่อนของกระดูก

 ในขณะเดียวกัน การผ่าตัดเพื่อแปลงจากเพศชายเป็นหญิง (transwomen) ได้แก่ การผ่าตัดองคชาตและอัณฑะออกและปรับให้ท่อปัสสาวะออกอีกทางคล้ายกับอวัยวะเพศหญิง หากบุคคลที่เข้ารับการผ่าตัดมีความต้องการจะศัลยกรรมเพิ่มเติม สามารถตกแต่งรูปร่างแคมนอก (labia majora) และแคมใน (labia minora) หรือแม้กระทั่งการตกแต่งประสาทรับความรู้สึก ซึ่งแพทย์จะเก็บเส้นเลือดและเส้นประสาทเอาไว้จากตอนที่ผ่าตัดองคชาตออก และนำมาศัยลกรรมเพิ่มเติมให้คล้าย กับคลิตอริส (clistoris) สำหรับการผ่าตัดสร้างช่องคลอดเทียม (vaginoplasty) สามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ ผู้เข้ารับการผ่าตัดมีผิวหนังบริเวณองคชาตและอัณฑะเพียงพอต่อการผ่าตัดสร้างช่องคลอด หรือ ผู้เข้ารับการผ่าตัดมีผิวหนังบริเวณองคชาตและอัณฑะไม่เพียงพอต่อการผ่าตัด ในกรณีที่สองนี้ ทางผู้เชี่ยวชาญอาจจะต้องพิจารณาวิธีอื่นแทน เช่น การปลูกถ่ายจากเนื้อเยื่อจากลำไส้ใหญ่ เยื่อบุช่องท้อง หรืออวัยวะส่วนอื่น ๆ ทั้งนี้การตัดสินใจว่าบุคคลนั้นจะได้รับการผ่าตัดสร้างช่องคลอดเทียมด้วยวิธีใด จะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมทางกายภาพและการวินิจฉัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สำหรับการดูแลรักษา transwomen ต้องทำการขยายช่องคลอดด้วยอุปกรณ์ขยายช่องคลอดเทียม (vagina mold) เป็นเวลา 2 เดือนเพื่อป้องกันการตีบตัน ก่อนที่จะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ อีกทั้งต้องคอยทำความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้ออีกประมาณ 6 เดือน

องค์กรเพื่อคนข้ามเพศในประเทศไทย

ปัจจุบันมีองค์กรที่ถูกก่อตั้งเพิ่มขึ้นอย่างหลากหลายเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ และเป็นที่ปรึกษาในยามจำเป็น ตัวอย่างองค์กรที่สนับสนุนกลุ่มคนข้ามเพศ ได้แก่ 

  1. Thai Transgender Alliance มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
  2. Life Inspired for Transexuals Foundation มูลนิธิข้ามเพศบันดาลใจ
  3. Sisters Foundation มูลนิธิซิสเตอร์ ศูนย์ชุมชนคนข้ามเพศ
  4. Swing Thailand
  5. มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi)

หน่วยบริการสำหรับให้การปรึกษา

1.คลินิกเพศหลากหลาย (Gen V Clinic) คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้บริการกลุมคนเพศหลากหลายทุกช่วงวัย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทีมสหสาขาวิชาชีพ ให้บริการทุกวันศุกร์ 13.00-16.00 น. ชั้น 2 อาคาร 1  คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิยาลัยมหิดล โทร. 0-2201-2799 / FB: Gen V Clinic 

2.คลินิกแทนเจอรีน หรือศูนย์สุขภาพชุมชนแทนเจอรีน  คลินิกสุขภาพเฉพาะทางสำหรับคนข้ามเพศแบบครบวงจร เปิดบริการจันทร์-เสาร์ เวลา 10.00-19.00 น. (ปิดรับลงทะเบียน 17.00 น.)  อาคารจามจุรีสแควร์ โซนออฟฟิศ ชั้น 11 (MRT สามย่าน ทางออก 2 มาจตุรัสจามจุรี)

3.คลินิกเพื่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. 053-936-830 

 

จัดทำโดย
สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand)

Content Creator:
นางสาว คณิศร ทองพิทักษ์ถาวร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

Editor:
พญ. พันตรี เกิดโชค
อาจารย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง:

พิชญ์ ไพบูลย์เกษมสุทธิ. (n.d.) ผ่าตัดแปลงเพศ (หญิงเป็นชาย). สืบค้นจาก https://th.yanhee.net/หัตถการ/ผ่าตัดแปลงเพศ-หญิงเป็นชาย

พิชญ์ ไพบูลย์เกษมสุทธิ. (n.d.) ผ่าตัดแปลงเพศ (ชายเป็นหญิง). สืบค้นจาก https://th.yanhee.net/หัตถการ/ผ่าตัดแปลงเพศ-ชายเป็นหญิง/

อัมรินทร์ สุวรรณ. (กันยายน 2563). คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นจาก https://online.pubhtml5.com/yxcv/ouia/#p=1

Bell, J., & Telfer, N. (2021, May 25). Chest binding: Tips and tricks. Retrieved from https://helloclue.com/articles/cycle-a-z/chest-binding-tips-and-tricks-for-trans-men-nonbinary-and-genderfluid