ครบ 1 ปี เยาวชนทวงความชัดเจน ต่ำกว่า 18 พบจิตแพทย์ได้

เครือข่ายองค์กรสุขภาพจิตประเทศไทย พร้อมแกนนำเยาวชนเลิฟแคร์คลับ ตัวแทนเด็กและเยาวชน ยื่นจดหมายเสนอสาฯ สุข ขอความชัดเจนเด็กต่ำกว่า 18 ปีแพทย์รักษาได้ไม่ถูกฟ้อง ผู้ปกครองควรเข้าใจ ส่งบุตรหลานรักษาก่อนสายเกิน ด้านนักกฎหมายชี้เด็กมีสิทธิ์รักษาได้ทันที

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 ต.ค. 2562 แกนนำเยาวชนเลิฟแคร์คลับ แกนนำสภาเด็กและเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด รวมถึงเครือข่ายองค์กรดำเนินงานด้านสุขภาพจิตทั้งออฟไลน์และออนไลน์ที่ให้บริการในประเทศไทยทั้งสิ้น 12 องค์กร เข้ายื่นจดหมายเพื่อเสนอแนวทางการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตวัยรุ่น เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก ให้กับนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

เด็กหญิงปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา แกนนำเยาวชนเลิฟแคร์ และคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชน กรุงเทพฯ กล่าวว่าหลังจากวันที่ 10 ต.ค. 2561 ที่มีการยื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อเสนอให้แก้ไขมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพจิตแห่งชาติ พ.ศ.2551 ให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถเข้ารับการรักษาบำบัดได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองนั้น ปัจจุบันนักกฎหมายจากหลายๆ แห่งระบุว่าข้อความในมาตราที่ 21 นั้นมีความชัดเจนอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่การตีความของบุคลากร เช่น จิตแพทย์ หรือพยาบาลวิชาชีพของแต่ละหน่วยงาน ทำให้แนวทางปฏิบัติของสถานพยาบาลแต่ละแห่งแตกต่างกัน และมีความกังวลว่าจะถูกฟ้องร้องหากตัดสินใจให้บริการรักษาแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จึงปฏิเสธการรักษาบุคคลดังกล่าว ทางเครือข่ายฯ และแกนนำฯ จึงมายื่นจดหมายเพื่อเสนอให้ทางกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศหรือข้อบังคับ เพื่อสร้างมาตรฐานและแนวทางที่ชัดเจนให้กับสถานพยาบาลทุกแห่งที่มีแผนกจิตเวช ในการรักษาผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต

“เราเคยพบเด็กคนหนึ่งที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมฯ ปลาย แต่ไม่สามารถไปพบจิตแพทย์ได้ เพราะผู้ปกครองไม่ยินยอม คิดว่าคนที่ไปพบจิตแพทย์คือคนบ้า เด็กคนนั้นจึงต้องจมอยู่กับความทุกข์มาตลอด จนปัจจุบันเขาอายุ 16 ปี อาการป่วยก็หนักขึ้นเรื่อยๆ มีการทำร้ายตัวเองและพยายามฆ่าตัวตาย นอกจากจะเครียดกับโรคที่เป็นอยู่แล้ว ยังต้องเครียดกับการที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้อีก

กรณีแบบนี้หากรอให้อายุถึง 18 ปี เพื่อเข้ารับการรักษาก็อาจจะสายเกินไป เราจึงจำเป็นต้องผลักดันเรื่องนี้ และถ้าผู้ปกครองสามารถไปพบจิตแพทย์ได้พร้อมกับบุตรหลานด้วยก็จะดีมาก เพราะจะได้ปรับความเข้าใจและมีทัศนคติที่ถูกต้อง ส่วนเด็กหรือวัยรุ่นที่ประสบปัญหาสุขภาพจิต ก็อธิบายให้ผู้ปกครองฟังได้ว่าโรคทางจิตเวชก็เหมือนกับโรคทั่วๆ ไปที่สามารถรักษาให้หายขาด และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่หากปล่อยไว้จะยิ่งบานปลาย และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต” เด็กหญิงปราชญากล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า เด็กและเยาวชนมีสิทธิ์ที่จะเข้ารับการรักษาได้ทันทีหากพบว่าตนเองป่วยเป็นโรคทางจิตเวช โดยสามารถไปขอรับบริการจากหน่วยงานของกรมสุขภาพจิต หรือองค์กรภาคเอกชนที่ดูแลด้านนี้ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขควรให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นให้แก่จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และครู รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่องทางในการขอรับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่นักเรียนและนักศึกษาอีกด้วย

โดยแกนนำเยาวชนเลิฟแคร์ สภาเด็กและเยาวชน และองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพจิต ได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อดังนี้

(1) ขอให้กรมสุขภาพจิตจัดทำหนังสือเวียนถึงหน่วยบริการในสังกัดกรมสุขภาพจิตและหน่วยบริการที่มีบริการด้านจิตเวช เพื่อชี้แจงและซักซ้อมแนวปฏิบัติในกรณีผู้ที่อายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์สามารถเข้ารับการบำบัดรักษาได้ โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองให้ความยินยอม ยกเว้นกรณีที่ต้องรับไว้รักษาในสถานพยาบาลหรือสถานบำบัดให้ชัดเจน ตรงตามเจตนารมณ์ในมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติสุขภาพจิตแห่งชาติ พ.ศ.2551

(2) ขอให้ผู้รับบริการเข้ารับการรักษาได้ในทุกหน่วยบริการที่มีบริการด้านจิตเวช เพื่อลดขั้นตอนในการทำเรื่องขอใบส่งตัวจากสถานพยาบาลตามสิทธิ์ (หากไม่มีบริการด้านจิตเวช) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรักษาที่รวดเร็วและไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย

(3) ขอให้มีตัวแทนเด็กและเยาวชนในคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ หรือคณะทำงานด้านนโยบายด้านสุขภาพจิต เพื่อเสนอประเด็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อเรื่องสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน รวมทั้งในการวางแนวทางปฏิบัติที่เด็กและเยาวชนนั้นมีส่วนได้ส่วนเสีย