ใช่ว่าโลกจะล่มสลายไปในวันนี้หรือพรุ่งนี้สักหน่อย…
แม้จะอยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่มีแต่พ่อหรือแม่คอยเลี้ยงดูเพียงคนเดียวก็ตาม
ครอบครัวเป็นสถาบันหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของสังคม
และครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีครอบครัวแบบนี้มากขึ้น
สาเหตุที่ทำให้นำมาสู่การเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวคือ
1.การเสียชีวิตของคู่สมรส 2.การหย่าร้างหรือแยกทางกัน 3.มีลูกเมื่อยังไม่พร้อม
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องเผชิญเมื่อชีวิตคู่ขาดหายไป คือการเปลี่ยนแปลงในวิธีการเลี้ยงดูลูก
ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวคือครอบครัวที่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพังมี 4 ระยะ
เริ่มตั้งแต่ระยะแรก คือ ใครคนหนึ่งเสียชีวิต
หรือเกิดปัญหาความไม่เข้าใจ ความไม่ลงรอย จนเกิดความรู้สึกว่าจะไม่อยู่ด้วยกันแล้ว
ระยะที่ 2 คือ ระยะที่ตัดสินใจหย่าร้างกัน
ระยะที่ 3 คือเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวมือใหม่
ซึ่งต้องเจอกับสารพัดปัญหา ทั้งเรื่องสภาพจิตใจ ค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับภาระคนเดียว
ปัญหาที่ต้องเลี้ยงดูลูกอย่างถูกวิธี และถูกมองด้วยทัศนคติที่ผิดๆ จากสังคมว่า
เป็นครอบครัวที่ขาดความสมบูรณ์ เด็กที่มาจากครอบครัวนี้เป็นเด็กที่มีปัญหา
สิ่งเหล่านี้ทำให้พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวเจอภาวะเครียด หลงทาง หาทางออกไม่เจอ ไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร
และระยะสุดท้าย ระยะที่ 4 คือ
ช่วงที่ผ่านพ้นวิกฤตปัญหามาได้ สามารถเลี้ยงลูกได้ตามลำพังเกิดเป็นครอบครัวใหม่
เป็นกระบวนการที่สามารถทำให้พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวฝ่าวิกฤตและเข้มแข็งมากขึ้น
ในการดูแลครอบครัว หัวใจสำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีความเข้มแข็ง
ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต