ความรู้เรื่องเพศศึกษา คือสิ่งที่ประเทศนี้มี (แต่ยังไม่มากพอ)

นอนใกล้เพื่อนผู้ชายท้องไหม? ช่วยตัวเองแล้วคิดถึงหน้าแฟนจะท้องหรือเปล่า? เข้าห้องน้าร่วมกับเพศตรงข้ามจะท้องได้ไหม? ช่วยตัวเองต้องกินยาคุมกำเนิดไหม? ถุงยางใช้ยังไง? นี้คือคำถาม ข้อสงสัยที่เยาวชนไทยถามขึ้นจริงๆ ในสังคมผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ ผมเชื่อครับว่าผู้ใหญ่หลายคนที่ได้อ่านคำถามเหล่านี้ คงขำ และตลกกับความไม่รู้ของคนถาม แต่ถ้าเราลองมองลึกไปเพียงสักนิด เราจะฉุกคิดและถามกลับว่าทำไมเด็กๆ เหล่านี้ถึงไม่รู้เรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวของพวกเค้าขนาดนี้ ทั้งที่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามามากมายและสิ่งใหม่ๆเหล่านี้ก็อาจเป็นผลดีในเรื่องนี้ เพราะโลกเสมือนจริงนี้เองที่ได้มีวิชาความรู้ที่ในตำราเรียนไม่มีไว้ เพราะเรื่องเพศศึกษานั้นมีองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศ รู้จักบทบาท และคุณค่าของความเป็นชายและหญิงในสังคม ให้รู้เท่าทันธรรมชาติ และความต้องการทางเพศของตนเอง และของเพศตรงข้าม เพราะเราคงไม่ปฏิเสธว่าความต้องการทางเพศนั้นถือเป็นเรื่องตามธรรมชาติยังคงอยู่คู่กับมนุษย์ปุถุชน ทั้งนี้ เพื่อจะได้รู้จักควบคุมความต้องการของตนเอง และระวังป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อทางเพศ โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมถึงการรู้จักคิดวิเคราะห์ในการป้องกันตัวเอง ตลอดจนการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยด้วย

แต่หากถ้าอยากรู้ว่าทำไมเรื่องเหล่านี้ถึงไม่ถูกสอนหรือรู้โดยทั่วกัน ทุกคนลองถามตัวเองสิครับว่า คุณเรียนเรื่องเพศศึกษาครั้งแรกกันตอนไหน และเรียนอะไร ถ้าถามผม ผมแทบไม่มีความทรงจำร่วมกับวิชานี้เลย ผมลองกลับไปดูรายวิชาที่เคยเรียนมาตลอดชั่วอายุ 22 ปีของตัวเอง ไม่เคยมีชื่อวิชา เพศศึกษาอยู่เลย เห็นทีวิชาที่ใกล้เคียงที่สุด และมีเนื้อหาเรื่องนี้คงมีเพียงแต่วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา แต่เนื้อหาก็ยังไม่ครอบคลุมอยู่ดี ผมเลยเข้าไปในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งใกล้บ้านตัวเอง แล้วถามกับอาจารย์ที่ผมรู้จักท่านสอนวิชาสุขศึกษาและ พลศึกษาว่า ทำไม ถึงไม่สอนแบบลึกๆ แบบที่ต้องใช้จริงๆ คำตอบที่ผมได้กลับมาคือ รอยยิ้มเขินอายของอาจารย์ และพูดว่า “เรื่องแบบนั้นใครเค้าสอนกัน โตไปก็รู้เอง” ผมเลยคิดต่อในใจว่าโตไปจะรู้ได้ยังไง หากตอนเด็ก ผู้ใหญ่ไม่สอน หรือเราต้องพลาดก่อนถึงจะมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้ แล้วเมื่อถึงวันนั้นเราเกิดพลาดขึ้นมาจนเกิดปัญหา สังคมจะมามองว่าเยาวชนไม่รู้ หรือเพราะพวกเค้าไม่มีสิทธิที่จะได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้กันแน่ แล้วปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่ตามมาจะเป็นปัญหาของใคร เด็กในท้อง เยาวชนที่ท้อง ครอบครัว โรงเรียน หรือสังคม ในขณะที่ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารสถานศึกษาในเรื่องเพศศึกษาของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เมื่อปี 2550 พบว่า ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงเรียน ร้อยละ 72.14 ไม่เห็นด้วยว่า การสอนเพศศึกษาเป็นดาบสองคมหรือเป็นการชี้โพรงให้กระรอก โดยผู้บริหารร้อยละ 89.20 เห็นว่าการส่งเสริมการเรียนรู้เพศศึกษาและสุขภาวะทางเพศของเยาวชนเป็นภารกิจสำคัญของโรงเรียนเท่าๆ กับการให้เด็กเรียนต่อในสถาบันที่มีชื่อเสียง ร้อยละ 85.79 ของผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการเห็นว่า นักเรียนทุกคนควรได้เรียนเพศศึกษาอย่างต่อเนื่องในทุกระดับชั้น และร้อยละ 91.25 คิดว่านักเรียนมีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในเรื่องเพศอย่างเปิดกว้างและตรงกับความสนใจ

ด้วยความก้าวไกลทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อได้อย่างง่ายดายและหลากหลาย การสอนเพศศึกษาในสังคมปัจจุบัน แม้จะเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ต้องพึงระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะการนำเสนอข้อมูลมีมุมมองทั้งด้านบวกและด้านลบ บางครั้งน้อยไปก็ไม่บรรลุผล มากไปอาจกลายเป็นดาบสองคมที่จะส่งผลกระทบจนเกิดเป็นภัยแก่สังคมได้ในที่สุด ผมจึงไม่ได้มุ่งหวังจะอ้อนวอนให้กระทรวงศึกษาธิการผู้มีหน้าที่จัดการระบบการศึกษาของประเทศ หรือผู้ใหญ่หน่วยงานไหนมาแก้ไข ผมหวังเพียงว่าเยาวชน และผู้ปกครองที่มีโอกาสเห็นบทความนี้ จะคิดต่อและหันมาสนใจในสิทธิของตัวเอง สิทธิที่เรามีโอกาสจะได้รู้และศึกษา เพื่อป้องกันตัวเองในวันข้างหน้า หากในตำราไม่มีสอน เราลองเปิดใจและเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ด้วยตัวเองได้หรือเปล่า ในยุคที่เราสามารถยกทั้งโลกมาไว้ในมือได้ผ่านเทคโนโลยีที่เดินไปไวกว่าหลักสูตรการศึกษา เราลองหันมาใช้มันให้เกิดคุณค่าสูงสุดให้ตัวเองกันดีไหม ไม่ต้องคิดว่าทาไปเพื่อประเทศหรือเพื่อใคร เราแค่ทำเพื่ออนาคตตัวเราเอง

ข้อมูลอ้างอิง โพลชี้การสอน “เพศศึกษา” สำคัญมาก พอๆ กับทำให้เด็กได้เรียนในสถาบันดัง https://prachatai.com/journal/2007/10/14385

นายวริทธิ์ธร แทนด้วง ทีม MEDIA LIFE มหาวิทยาลัยหาดใหญ่