เคยเรียกเพื่อน หรือคนสนิทด้วยความเอ็นดู อย่างเช่น เจ้าอ้วน น้องแว่น ฯลฯ บ้างไหม บางทีคำที่เราคิดว่าไม่มีอะไร หรืออาจเป็นคำที่ฟังแล้วน่าเอ็นดูด้วยซ้ำ อาจเป็นการรังแกโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้
อย่างที่เพื่อน ๆ อาจทราบกันดีว่า Bully หรือพฤติกรรมการรังแกมีอยู่ทั่วไปในสังคมไทย ไล่ตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยทำงาน ทั้งในโลกจริงและในโลกออนไลน์
วันนี้เราจะมาชวนคุยเรื่อง ‘การรังแกทางวาจา’ 1 ใน 4 รูปแบบการรังแก (ถ้าเพื่อน ๆ สนใจอีก 3 รูปแบบที่เหลือ ลองเข้าไปดูที่ลิงก์นี้ได้เลย https://stopbullying.lovecarestation.com/การรังแกกัน–คืออะไร/)
การรังแกทางวาจา ส่วนใหญ่เป็นการพูดเสียดสี การพูดจาล่วงละเมิด การล้อเลียน การแสดงความคิดเห็นในเชิงลบต่อบุคคลอื่น เช่น เรื่องรูปร่างหน้าตา ทว่าจริง ๆ แล้วยังมีการพูดบางรูปแบบที่หลายคนมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นการปรับคำพูดให้ดูรื่นหูขึ้น แต่ความหมายยังเหมือนเดิม หรือคำบางคำเราอาจคิดว่าไม่น่ามีอะไร แต่รู้หรือไม่ว่าคำเหล่านั้นอาจระคายใจผู้ฟังไม่แพ้คำพูดที่รุนแรงเลย
เราขอแนะนำให้ลองพิจารณาใช้ 2 ข้อนี้ เผื่อช่วยเพื่อน ๆ ลดการรังแกทางคำพูดได้ดียิ่งขึ้น
- ให้สังเกต “เจตนา” ของตัวเราเองก่อนพูด
- พยายามเข้าใจความรู้สึกของผู้ฟัง (Empathy) เพราะผู้ฟังอาจเคยมีประสบการณ์ไม่ดีกับคำเหล่านั้นก็ได้
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ เข้าใจบริบทของการรังแกทางวาจามากขึ้น และเราอยากให้ลองนำไปใช้เพื่อจะได้ไม่ทำร้ายคนที่เรารักโดยไม่รู้ตัวกันนะครับ
#BullyCanChange
#คำไหนก็ไม่โอเค