ฆ่าตัวตาย มีความหมายมากกว่า “ไม่รักตัวเอง”
ในปัจจุบัน “การฆ่าตัวตาย” ได้รับการนำเสนอบ่อยครั้ง ในบางกรณีก็เป็นกระแสสังคมในเชิงเห็นอกเห็นใจ หากสื่อนำเสนอข้อมูลให้เห็นถึงความยากลำบากในชีวิตของคนๆ นั้น ในบางรายที่ตัดสินใจจากโลกนี้ไปจากข้อมูลว่าเขาไปจากโลกเพราะโดนกลั่นแกล้ง กระแสสังคมไม่น้อยที่จะแสดงความคิดเห็นหรือความเจ็บปวดโกรธแค้นแทน และมีไม่น้อยที่กระแสสังคมกลับตอกย้ำซ้ำเติมในเหตุของการจากไป เพราะเขาเหล่านั้นผิดหวังกับความรักและเป้าหมายในชีวิต
“อ่อนแอ” “คิดสั้น” “บาปกรรม” “ไม่รักตัวเอง” คือนิยามของการกระทำและการตัดสินการฆ่าตัวตาย
แม้คำเหล่านี้ดูสั้นง่าย แต่กลับส่งผลทางจิตใจให้กับผู้คนอื่นๆ ที่กำลังประสบกับความทุกข์ใจ และกำลังจะเลือกใช้การจากโลกใบนี้ไปเป็นการดับทุกข์ของตน มิหนำซ้ำคำพูดเหล่านั้นอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เขาตัดสินใจในการไปจากโลกใบนี้ได้ง่ายเพราะคำพูดที่ซ้ำเติมลงในความทุกข์ใจ
“การหนีออกจากความทุกข์ใจด้วยความตายคงจะกลายเป็นคำตอบเดียว”
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง การฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องซับซ้อนและมีปัจจัยจากหลายสาเหตุ ได้แก่
ปัจจัยทางชีวภาพ ที่หมายรวมถึง ยีน สารเคมีในสมอง โรคทางกาย โรคทางจิตใจและอารมณ์ การใช้สารเสพติด ปัญหาบุคลิกภาพ ฯลฯ
ปัจจัยทางสังคม ที่หมายถึง รูปแบบการเลี้ยงดู ความสัมพันธ์ในครอบครัว เศรษฐานะ สิ่งแวดล้อมรอบบ้าน การได้รับความรุนแรงทางกาย เหตุกระทบกระเทือนทางจิตใจ การเลียนแบบ (copy cat) ฯลฯ
ปัจจัยด้านจิตใจ ที่หมายถึง การจัดการความคิด ทักษะในการจัดการและควบคุมอารมณ์ การสื่อสารความรู้สึก ฯลฯ
มีการศึกษาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นพบว่า ..
การฆ่าตัวตายมักจะเกิดเมื่อความอ่อนแอไม่มีความสุขเพิ่มขึ้นสูง เมื่อบุคคลถูกลดคุณค่า ซึ่งเกินความเป็นจริง บุคคลมักจะต้องการที่จะพยายามฆ่าตัวตายแม้จะไม่ได้อยากตายจริง The Rational-Suicide Theory
การฆ่าตัวตายอาจเกิดจากความล้มเหลวของพันธกิจหรือหน้าที่ของมนุษย์ ที่ต้องการการได้รับความไว้วางใจและการยอมรับ ไม่สำเร็จ ในขณะที่กำลังใจและแรงสนับสนุนจากความรอบข้างก็มีไม่มากพอ ทฤษฎีพัฒนาการของ Erikson (Erikson’s theories)
หากสิ่งแวดล้อมให้คุณค่ากับการใช้ชีวิต คุณภาพชีวิต การอยู่และการตายในแบบไร้ค่า เมื่อวัยรุ่นไม่มีความสุข หรือหงุดหงิดหุนหัน การฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเองอาจเกิดขึ้นได้ ทฤษฎีมุมมองเชิงนิเวศวิทยา (The Ecological Perspective Approach)
ความคิดที่มักมาพร้อมกับความคิดฆ่าตัวตายในเด็กวัยรุ่น
1) การไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดดเดี่ยว ไม่สำคัญ ไม่เห็นคุณค่า มากพอที่จะทำให้คนเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย
2) มีมุมมองว่าชีวิตเป็นสิ่งคงที่ และไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ หมดหวังต่อสิ่งต่างๆ อาจเป็นสาเหตุที่มากพอของความปรารถนาอยากฆ่าตัวตายแบบหุนหัน และไม่มีการวางแผนล่วงหน้า
3) การเกิดขึ้นของความต้องการอยากตายระดับสูง ร่วมกับ ความรู้สึกไม่กลัวตาย เป็นเงื่อนไข เพียงพอที่จะทำให้เกิด ความตั้งใจในการฆ่าตัวตาย มักคิดแผนในการไปสู่ความตายเป็นลำดับขั้นตอน
4) มีประสบการณ์ที่คนรอบข้างฆ่าตัวตาย หรือตนเองเคยพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ หรือเคยทำร้ายตนเองด้วยวิธีอื่น อาทิ การกรีดตามลำตัว การกินยาเกินขนาด จนเกิดผลลัพธ์ตามมาคือเกือบตายมีแนวโน้มที่จะวางแผนฆ่าตัวตายที่มีแนวโน้มจะสำเร็จมากขึ้น
ความคิด 4 แบบไม่มีส่วนไหนบ่งบอกถึง “การไม่รักตัวเอง” แม้แต่น้อย แต่มีความคิดบางส่วนที่อาจคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ด้วยภาวะอารมณ์เชิงลบระดับสูง ความเจ็บป่วยด้านจิตใจ หรือปัญหาทางสังคมที่รุมเร้า
ความคิดใน 4 แบบที่มักนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ส่งผลโดยตรงต่อความรู้สึกเศร้า ทุกข์ใจ และสิ้นหวัง คนรอบข้างมีส่วนสำคัญในการให้พื้นที่ปลอดภัย เปิดโอกาสให้ระบาย ไร้ซึ่งการตัดสินเพราะความรู้สึกทุกความรู้สึกล้วนมีที่มาและมีคุณค่า ให้เวลาอยู่กับอารมณ์นั้นตามเหมาะสม และไม่รีบเร่งสอนนิยามเกี่ยวกับความคิดและความรู้สึกที่เร็วและมากเกินไป
“สู้ซิ” “เข้มแข็ง” “รักตัวเองมากกว่านี้” “ก็แค่นี้เอง”
เพราะคำพูดบางคำอาจไปตอกย้ำว่าวิธีคิดหรือการใช้ชีวิตของเขา เป็นเรื่องงผิดและน่าสิ้นหวัง
การยับยั้งตัวเองไม่รีบเร่งตัดสินการกระทำของใครน่าจะเป็นสิ่งที่ดีมากในขณะนั้น
การยับยั้งตัวเองไม่รีบเร่งที่จะช่วยเหลือโดยเอาเรื่องราวของเราเป็นตัวชี้วัดเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวัง
การสื่อสารด้วยความเข้าใจ “ทำดีที่สุดแล้ว” “อยากให้เราช่วยอะไร” จะกลายเป็นความงดงามของการอยู่ร่วมกันในวันที่ทุกข์ใจ
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น