จริงแค่ไหนที่ กัญชาเป็นผู้ร้ายสำหรับวัยรุ่น ?
หลังจากกฎหมายปลดล็อคกัญชาผ่านการอนุมัติจากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ผู้ป่วยในหลายกลุ่มต่างแสดงความดีอกดีใจที่กัญชาสามารถใช้เป็นทางเลือกในการรักษาโรคเรื้อรังบางชนิดได้ อาทิ ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง โรคลมชักบางชนิด การลดความเจ็บปวดจากผลของโรคต่างๆ แต่ก็ยังขาดข้อมูลเชิงประจักษ์ในอีกหลายโรค อาทิภาวะสมองเสื่อม พาร์กินสัน ปวดศีรษะรุนแรง นอนไม่หลับ และหลอดเลือดสมอง (ข้อมูลจากประกาศของสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2565)
อีกทั้งยังมีประกาศอีกหลายฉบับจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมแห่งประเทศไทย ได้แสดงความห่วงใยและตระหนักถึงอันตรายจากการใช้กัญชาโดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่น ได้แก่
1.เด็กและวัยรุ่นที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี ไม่ควรเข้าถึงและบริโภคกัญชา เนื่องจากสมองยังไม่พัฒนาเต็มที่ THC มีผลต่อการพัฒนาของสมองในระยะยาว ยกเว้นกรณีจำเป็นทางการแพทย์ อาทิ การประกอบการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โรคลมชักที่รักษายาก
2.ให้มีการประชาสัมพันธ์เรื่องโทษ ทั้งโทษเฉียบพลัน และโทษระยะยาวต่อเด็กและวัยรุ่น ที่ส่งผลต่อชีวิต และพัฒนาการของสมองที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต
3.ให้มีมาตรฐานในการควบคุม ผลิต และจำหน่ายอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม ให้มีเครื่องหมายเตือนกำกับให้ชัดเจน โดยระบุว่า “ห้ามเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีบริโภค”
4.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อกับการควบคุมการโฆษณาขอผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชา ควบคุมไม่ให้มีการจงใจออกแบบสื่อที่สนับสนุนให้เด็กและวัยรุ่นเข้าใจผิดถึงประโยชน์ของกัญชาเพื่อการค้า
5.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็กอย่างต่อเนื่องและจริงจังหลังประกาศใช้กฎหมายกัญชาเสรี
เพราะอะไรหน่วยงานด้านเด็กและวัยรุ่นจึงตบเท้าออกมาแสดงจุดยืนพร้อมกันหลังมี “กฎหมายกัญชาเสรี”
1.สมองวัยรุ่นยังไม่พัฒนาเต็มที่
การใช้สารอื่นจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายอาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองในระยะยาว จากข้อมูลในการทำงานพบว่า การใช้กัญชาส่งผลต่อปัญหาจิตเวชในวัยรุ่นมากขึ้น ตั้งแต่ระดับปัญหาอารมณ์ อาทิ หงุดหงิดง่าย เศร้าโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน วิตกกังวลต่อเหตุการณ์ที่ซับซ้อน มีปัญหาการนอน มองตนเองด้านลบ ปรับตัวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ยาก
บางคนอาจตั้งคำถามกลับว่า “เพราะอะไรใช้แล้วไม่มีปัญหาด้านอารมณ์สังคม” เพราะความเจ็บป่วยทางจิตใจ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ประวัติครอบครัว การเลี้ยงดูที่ผ่านมา ธรรมชาติเดิมของสมอง พันธุกรรม ปริมาณสาร THC และวิถีในการใช้ชีวิตของแต่ละคน
ผู้เขียนไม่ได้มีความตั้งใจในการต่อต้านการใช้กัญชาอย่างสุดทาง เพียงอยากชวนตั้งเป็นคำถามกับตนเองว่า “คุ้มหรือไม่ คุ้มแค่ไหน กับการเลือกใช้กัญชาที่อาจส่งผลต่อตนเองด้านจิตใจ”
2.การตัดสินใจส่วนใหญ่ใช้ระบบสมองส่วนอารมณ์
ระบบลิมบิกเป็นระบบส่วนใหญ่ของสมองในการกระทำของวัยรุ่น ซึ่งเป็นส่วนอารมณ์ทำให้หลายครั้งมีการตัดสินใจไม่น้อยที่นำพามาด้วยอารมณ์นำแล้วจึงใช้เหตุผลตามมา ไม่น้อยที่วัยรุ่นได้เรียนรู้โลกใบใหญ่จากความรู้สึกตื่นเต้น ท้าทายปนกังวลเล็กน้อย แต่ก็มีไม่น้อยเช่นกันที่การตัดสินใจในอดีตของเด็กวัยรุ่นนั้นส่งผลต่อความรู้สึกผิดพลาด และผิดหวังต่อตนเอง
การใช้กัญชามีส่วนให้ระบบอารมณ์ทำงานมากขึ้น ความสุขและความพึงพอใจที่ง่ายและเร็ว สอดคล้องกับธรรมชาติของสมอง มีส่วนสำคัญให้ระดับการใช้อาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะวัยรุ่นสามารถพึงพอใจได้ง่าย และยับยั้งได้ยาก จากการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ (FUN) สู่การใช้กัญาเพื่อลดความเครียด ความกลัวหรือกังวล (FEAR) และอาจข้ามสู่การต้องใช้เพื่อให้สามารถประคองตนในการใช้ชีวิตแต่ละวันให้ผ่านไปได้ (FUNCTION) อาทิ “ไม่ใช้แล้วสร้างสรรค์งานไม่ได้ ไม่มีแรง” เป็นต้น
ผู้เขียนไม่ได้มีความตั้งใจในการต่อต้านการใช้กัญชาอย่างสุดทาง แต่การพยายามชวนวัยรุ่นให้หมั่นสังเกตตนเอง และให้การใช้กัญชาอยู่ในระดับเพื่อนันทนาการ ไม่ข้ามไปสู่การใช้เพื่อการจัดการทุกข์หรือใช้เพื่อดำรงชีวิต เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
3.พัฒนาการทางสังคมมีส่วนทำให้เสพติดได้ง่าย
เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ความคิดเห็นจากคนในครอบครัวค่อยๆ มีความสำคัญน้อยลง ตรงข้ามกับความคิดเห็นจากกลุ่มเพื่อนที่มีค่าต่อความเป็นตัวตนของวัยรุ่น “เราต่างอยากรู้ว่าเราถนัดอะไร เก่งแค่ไหน สมควรได้รับการยอมรับและความรักหรือไม่” จากสายตาและคำพูดของกลุ่มเพื่อน
เมื่อมี 1 คนในกลุ่มเริ่มใช้กัญชา ความสุขจากการใช้ได้ถูกบอกต่อปากต่อปาก การชักชวนให้ทดลองเพราะเชื่อว่าเป็นของดีสนุกสนานได้ผ่อนคลาย การท้าทายให้เพื่อนในกลุ่มใช้ในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อพิสูจน์ความแข็งแกร่งและทนทาน เป็นอีกส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจใช้กัญชาในกลุ่มวัยรุ่น
ผู้เขียนไม่ได้มีความตั้งใจในการต่อต้านการใช้กัญชาอย่างสุดทาง แต่อยากชวนวัยรุ่นมีความมั่นใจในสิ่งที่ตนเองมี มั่นใจในสิ่งที่ตนเองเป็น และให้เวลากับกลุ่มเพื่อนเพื่อการยอมรับ การใช้กัญชาเป็นสื่อกลางในการเข้าถึงกันอาจเป็นสิ่งที่ง่าย แต่อาจไม่คุ้มค่ากับผลกระทบที่อาจเกิดกับตนเอง และท้ายที่สุดกลุ่มเพื่อนอาจไม่ได้เป็นผู้ช่วยเหลือเมื่อยามที่เราเองต้องประสบกับผลข้างเคียงของการใช้กัญชา
4.การใช้สารเสพติดลดทอนทักษะการจัดการอารมณ์ และทักษะจัดการปัญหา
เพราะด้วยการทำงานของสมองที่ต้องการจัดการความทุกข์ออกไปให้ได้อย่างรวดเร็ว ตรงกับการทำงานของกัญชาที่ให้ความผ่อนคลาย สบาย หรือกึ่งมึนเมา “วัยรุ่นไม่น้อยที่เล่าว่า ปรื้ดเดียวความเครียดก็หายไปทันตา” “ผมว่าครั้งหน้าผมก็จะใช้อีกเพราะไม่เกิน 5 นาทีปัญหาที่หนักใจก็ผ่อนคลายลง”
ผู้เขียนมีความจริงใจที่จะเล่าประสบการณ์การทำงานกับวัยรุ่นว่า เขาเหล่านั้นผ่อนคลายแค่ไหนกับการใช้กัญชาแม้เพียงเล็กน้อย หากแต่ในความเป็นจริง ร่างกายของเราอาจไม่พร้อมให้เราใช้กัญชาในการแก้ไขในทุกปัญหา อีกทั้งกัญชามีฤทธิ์ผ่อนคลายทำให้สบายใจ แต่ปัญหาที่แท้จริงยังคงอยู่ หลังหมดฤทธิ์ของกัญชาเรายังต้องประสบกับปัญหานั้นอยู่ดี หากเราเลือกใช้เพียงวิธีที่สั้นง่าย ทักษะการจัดการอารมณ์จากตัวเองก็จะไม่ได้รับการฝึก ทักษะการแก้ปัญหาก็จะไม่ได้เรียนรู้ กัญชาอาจทำให้เราผ่อนคลายได้ในระยะสั้น แต่เรายังต้องมีชีวิตที่อาศัยบนโลกใบนี้อีกยาวนาน
5.การพัฒนาจากปัญหา สู่ “วงจรปัญหาที่ซับซ้อน”
เมื่อทักษะในการจัดการอารมณ์ไม่ได้รับการพัฒนา ในขณะที่ปัญหาก็ไม่ถูกแก้ไขอย่างค่อยเป็นค่อยไป วงจรการใช้กัญชาเพื่อหลีกหนีความทุกข์ใจเกิดขึ้นซ้ำๆ จะส่งผลให้วัยรุ่นขาดความรู้สึกมั่นใจในการจัดการปัญหา ขาดความรู้สึกพึงพอใจในความรู้สึกสำเร็จในการลงมือทำแม้เพียงปัญหาเล็กน้อย สะสมเป็นความรู้สึกด้อยค่าในตนเอง การมีมุมมองที่หวาดหวั่นต่ออัตลักษณ์ภายใน อาจพัฒนาให้เกิดปัญหาด้านจิตใจและบุคลิกภาพที่ซับซ้อนต่อไป
ผู้เขียนไม่มีเจตนาให้กัญชาเป็นผู้ร้าย หากแต่การใช้กัญชาในวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่กำลังมีการพัฒนาของสมองอย่างเต็มที่ มีการพัฒนามุมมองทางสังคม บุคลิกภาพ และอัตลักษณ์ มีความเสี่ยงที่อาจเกิดสิ่งไม่คาดคิดและยากที่จะแก้ไข จึงรวบรวมความเห็นผ่านประสบการณ์ทำงานกับเด็กและวัยรุ่น ด้วยความรู้สึกห่วงใย
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น