เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ที่ผ่านมา สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดประชุมเครือข่ายระบบการส่งต่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ภาคเหนือ ที่โรงแรมเทวราช จ.น่าน
นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยฯ กล่าวถึงสถานการณ์การแท้งในประเทศไทย ปี ๒๕๕๗ ว่า จากการสำรวจในโรงพยาบาลทั้งในและนอก สธ. จำนวน ๒๔๓ แห่ง มีคนทำแท้งตอบแบบสอบถามจำนวน ๑,๗๑๐ ราย แบ่งเป็นแท้งเองร้อยละ ๕๙.๗ และทำแท้ง ร้อยละ ๔๐.๓ ส่วนใหญ่ทำแท้งเนื่องจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัวร้อยละ ๖๙.๒ ขณะที่เหตุผลด้านสุขภาพ ร้อยละ ๓๐.๘
นพ.กิตติพงศ์ ให้ข้อมูลว่า สัดส่วนการทำแท้งร้อยละ ๓๐ ผู้ที่ทำแท้งมีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ร้อยละ ๓๖.๑ มีสถานภาพเป็นนักเรียน นักศึกษา ขณะที่ร้อยละ ๔๒.๕ มีอายุ ๒๕ ปีขึ้นไป ดังนั้น การทำแท้งจึงไม่ควรเน้นแต่ที่เยาวชน เพราะคนวัยทำงานก็มีโอกาสท้องโดยไม่ตั้งใจเช่นเดียวกัน ซึ่งนำไปสู่การทำแท้ง
“ปัจจุบันมีการทำแท้งซ้ำร้อยละ ๑๑ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสอดคล้องกับวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ เป็นแม่ที่อายุต่ำกว่า ๒๐ ปีจำนวน ๑๒๐,๐๐๐ ราย โดยร้อยละ ๑๐ ตั้งครรภ์ซ้ำ ซึ่งควรคุมกำเนิด เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำหรือแท้งซ้ำ” นพ.กิตติพงศ์กล่าว
ผู้อำนวยการฯ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.๒๕๕๙ บังคับใช้แล้ว โดยในมาตรา ๕ จะพูดเรื่องสิทธิของวัยรุ่นให้ตัดสินใจด้วยตัวเอง และมาตรา ๖ สถานศึกษาต้องจัดให้มีการเรียนการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาด้วย ซึ่งการจัดสวัสดิการสังคมทั้งภาครัฐและสังคมต้องเชื่อมโยงกัน เช่น ถ้าคนที่ท้องเขาไม่สามารถดูแลบุตรได้หลังคลอด เขาก็ต้องการทำแท้ง แต่หากมีหน่วยงานรับดูแลเด็กหลังคลอด เมื่อเขาพร้อม เขาก็จะกลับมารับไปดูแล เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของกฎหมายฉบับนี้คือเยาวชนอายุ ๑๐ – ก่อนอายุ ๒๐ ปี
“เราไม่ได้ห้ามวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ แต่ต้องป้องกันตนเองให้เป็น safe sex” นพ.กิตติพงศ์บอก