ชี้ กำแพงในการก้าวข้ามการทำแท้งคือตัวเอง แนะอย่าตัดสินแทนคนท้อง

เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ที่ผ่านมา สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดประชุมเครือข่ายระบบการส่งต่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ภาคเหนือ ที่โรงแรมเทวราช จ.น่าน โดยภายในงานมีการเสวนาเรื่อง ก้าวข้าม…กำแพงทัศนคติ

พิชชานันท์ สุริยรัตน์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลแพร่ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เขาเคยให้บริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยการใช้วิธีขูดมดลูกโดยไม่ใช้ยาชา ซึ่งคนไข้จะเจ็บมากจนร้องเสียงดัง เขาก็จะถามคนไข้ว่า กลัวคนไม่รู้เหรอว่าไปทำอะไรมา ซึ่งเขาก็รู้สึกไม่ชอบใจที่ต้องทำแบบนี้

“เราไม่แน่ใจว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงตอนไหน แต่ตัวเราเองคือกำแพงที่สูงที่สุดในการก้าวข้ามเรื่องนี้ไปให้ได้ เพราะมุมมองความคิดของเราเองเป็นปัจจัยสำคัญ เราต้องฝึกให้กำลังใจตัวเอง แล้วลุกขึ้นมาสู้ต่อ ส่วนปัญหาภายนอกนั้นเรารับมือได้ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นคำพูดที่กระทบจิตใจจากเจ้าหน้าที่บางคนที่พร่ำสอนเด็กว่าการทำแท้งเป็นบาป และบ่อยครั้งที่เด็กฝึกงานจะมาถามเราว่า พี่ไม่บาปเหรอ พี่ฆ่าคน พี่เป็นฆาตกร ซึ่งเรายังต้องเจอไปอีกเรื่อยๆ” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการเล่า

พิชชานันท์ กล่าวต่อไปว่า “เรารู้สึกว่าได้ช่วยเหลือคนจริงๆ จากการพูดคุย ให้คำปรึกษา คือ ถ้าได้พูดคุยกับคนไข้ จะเห็นว่าการตั้งครรภ์ต่อไม่ได้เป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่มากในชีวิตของเขา เราอย่าไปพยายามตัดสินแทนเขา เขาตั้งท้องต่อไม่ได้คือไม่ได้ ตราบใดที่ปัญหาไม่ตกอยู่กับตัวเอง คุณจะไม่รู้เลยว่าปัญหามันหนักหน่วงแค่ไหน”

ด้าน วิจิตรา วาลีประโคน พยาบาลประจำคลินิกวัยรุ่น โรงพยาบาลห้วยราช จ.บุรีรัมย์ เล่าว่า ในปี พ.ศ.๒๕๕๕ เขาเริ่มทำงานเรื่องวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อม โดยมีกรณีหนึ่งที่วัยรุ่นพยายามกินยาฆ่าตัวตาย จึงคิดว่าทำไมต้องให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เลยได้ทดลองยุติการตั้งครรภ์ไปจำนวน ๗ ราย ด้วยการใช้ cytotec ต่อมาเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ทำเรื่องยุติการตั้งครรภ์กับเครือข่ายในโรงพยาบาล

“จนปี ๒๕๕๗ เพื่อนร่วมงานไม่เห็นด้วย เจ้าหน้าที่บอกว่าทำบาปมือขึ้นนะ คนไข้เยอะเลย ตอนนั้นตัวเองก็สับสนว่าทำแท้งมันบาปไหม ได้ไปค้นหาตัวเองว่าทำถูกไหม รู้สึกมันทุกข์ใจ เลยไปถามพระอาจารย์ที่สวนโมกข์ สุราษฎร์ฯ ว่าทำแท้งบาปไหม ท่านก็ตอบว่าตามกระแสของท่านพุทธทาสนั้นอยู่ที่เจตนา” วิจิตรา เล่า

พยาบาลประจำคลินิกวัยรุ่น เล่าต่อไปว่า จนมาวันหนึ่งลูกน้องในทีมเศร้า และรู้สึกท้อแท้ จึงคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เลยให้คนไข้เขียนความในใจ พร้อมข้อเสนอแนะ เพื่อสร้างกำลังใจให้กับตัวเขาและลูกน้อง ซึ่งส่วนใหญ่ที่คนไข้เขียนเป็นเรื่องดี อย่างทำให้พ้นจากทุกข์ ทำให้เขามีกำลังใจขึ้น และคนในโรงพยาบาลก็เริ่มเข้าใจบ้าง แต่ก็ยังมีเสียงพูดว่าทำไมต้องทำ

“กำแพงที่ใหญ่สุดคือตัวเอง ที่ต้องก้าวข้ามความรู้สึกของตัวเองเรื่องบาปให้ได้ ตอนนี้เลยมองที่ปัจจุบัน ว่าเราทำให้คนพ้นทุกข์ ให้เขาผ่านพ้นวิกฤตนั้นได้ คือตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องหาทางที่พ้นทุกข์ ไม่ใช่หาความสุขอย่างเดียว ถ้าอยากให้เพื่อนมนุษย์พ้นทุกข์ ก็ปฏิบัติตามแนวนี้” วิจิตรากล่าว และว่า ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่เคยมีทัศนคติไม่ดีก็มาให้กำลังใจเขา โดยเขารู้สึกว่าปล่อยให้โดดเดี่ยวมาตั้งนาน