ทัศนะของแพทย์ต่อการทำแท้ง

      การที่จะตั้งคำถามแบบนี้ขึ้นมาได้นั้น อาจจะต้องมีคำถามนำมาก่อนหน้านี้ นั่นคือ กว่าจะสร้างแพทย์ได้สักหนึ่งคนนั้น คนคนนั้นจะต้องผ่านการปลูกฝัง อบรม และถูกเพาะบ่มมาจากที่ใดบ้าง

        ในบริบทพื้นฐานก็คงจะหนีไม่พ้นครอบครัว พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ที่ช่วยกันเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานคนนี้มา โดยที่ไม่รู้หรอกว่าเขาจะกลายมาเป็นหมอในอนาคตหรือไม่ การอบรมสั่งสอนก็เพื่อมุ่งเน้นให้ลูกเป็นคนดีของสังคม และการเป็นคนดีได้นั้น ครอบครัวก็คงได้รับการสืบต่อมาจากสังคม ศาสนาและวัฒนธรรมในชุมชนอีกต่อหนึ่ง แต่จะเห็นว่า สังคมก็ไม่ใช่ว่าจะได้เด็กดีเสมอไปจากการเลี้ยงดูของครอบครัว นั่นก็เพราะว่า เบ้าหลอมที่สำคัญอีกเบ้าหนึ่งก็คือ โรงเรียน คุณครูและเพื่อนพ้อง เราจะเริ่มสูญเสียคนดีไปในช่วงนี้ได้จำนวนหนึ่ง ใช่ไหมครับ

        สังคมล่ะครับ มีส่วนที่จะกำหนดความดีชั่วได้หรือไม่ คำตอบน่าจะตอบว่า “ใช่” ดังที่เราจะได้เห็นข่าว อ่านหน้าจั่วหัวอยู่แทบทุกวัน ว่าใครดีใครเลว ฝ่ายไหนดีฝ่ายไหนเลว หญิงคนไหนชั่วที่ทิ้งลูก สาวคนไหนเลวที่รีดมารหัวขนออกมาทิ้งในคูน้ำ นั่นจะเห็นการตัดสินความดีความเลวกันจะจะอยู่ทุกวัน ใช่ไหมครับ

        สังคมเป็นตัวกำหนดค่านิยม และผมคิดว่า ค่านิยมในแต่ละสังคมจะให้คำนิยามของความดีชั่วของพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ไม่ต้องไปไหนไกลเลยครับ เอาเรื่อง “ทำแท้ง” นี่แหละ ทำไมในประเทศไทย สังคมจึงกำหนดว่าการทำแท้งเป็นเรื่องที่ไม่ควร ผิดศีลธรรมจรรยา แต่ทำไมที่ประเทศเวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ออสเตรีย ฝรั่งเศส ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย อเมริกา (บางรัฐ) กลับไม่เห็นด้วยกับข้อความข้างต้น ทำไมเขาจึงทำแท้งให้กับประชากรของเขาได้ ผมเคยถามหมอและพยาบาลที่ประเทศสิงคโปร์เรื่องนี้แหละ ว่าทำไมจึงเปิดโอกาสให้มีการทำแท้งในประเทศ คำตอบก็คือ “เราไม่อยากให้คนสิงคโปร์ต้องมาตายจากการแท้งติดเชื้ออีกต่อไป ไม่อยากให้คนสิงคโปร์ต้องไปตกเลือดตายที่มาเลเซีย (หรือไทยด้วย)” แต่ประเทศไทยเราไม่เป็นอย่างนั้นใช่ไหมครับ มีใครเคยสนใจบ้างไหม ว่าหญิงไทยต้องบาดเจ็บจากการทำแท้งเถื่อนไปวันละกี่ราย ตายจากการถูกสวนช่องคลอดด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำไปเดือนละกี่ราย แต่เรากลับรู้สึกสนุกหรือสะใจกับการที่คลินิกที่รับทำแท้งถูกตำรวจจับ(คาหนังคาเขา) เห็นรูปผู้หญิงนั่งรอทำแท้งในหน้าหนังสือพิมพ์และเอากระเป๋าปิดหน้าปิดตากันชุลมุน ใช่ไหมครับ

       

นอกจากนี้ สังคมยังเป็นตัวกำหนดกรอบของกฎหมายด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อสังคมกำหนดด้วยค่านิยมว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิด กฎหมายก็จะถูกระบุว่า “การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย” ครั้งหนึ่ง(และอีกหลายครั้งหนึ่ง) ที่มีความพยายามจะขอแก้กฎหมายเรื่องการทำแท้ง ก็จะมีความพยายามจากสังคม จากคนที่คิดว่าตัวเองเป็นคนดีมีศีลธรรม เพื่อที่จะยังยั้งการอนุญาตทำแท้งตามกฎหมาย ทำให้เรื่องนี้กลับจมปุ๋งหายไปกับสายน้ำและกาลเวลาเสมอมา

มาถึงเรื่องของแพทย์(เข้าเรื่องเสียที) เบ้าหลอมที่สำคัญกับการกำหนดตัวตนของหมอแต่ละคนนั้น ส่วนใหญ่จึงตกเป็นภาระของโรงเรียนแพทย์นั่นเอง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น นั่นก็เป็นเพราะว่า เขาเป็นผู้สอน ผู้อบรม ผู้กำหนดกรอบของหลักสูตรการเรียน การวางผังชีวิตทางด้านจริยธรรมทางการแพทย์และการประกอบวิชาชีพ ใช่ไหมครับ

        ถ้าครูสอนว่าการทำแท้งเป็นบาป แล้วบังเอิญผู้ที่สอนนั้นเป็นครูในใจของลูกศิษย์ หมอคนนั้นก็จะจดจำไปว่า “การทำแท้งเป็นสิ่งผิดจริยธรรม” ถ้าโรงเรียนแพทย์แห่งใดเปิดโอกาสให้ลูกศิษย์ได้คิดถึงที่มาที่ไปของการตั้งท้องที่ไม่พร้อมเปิดโอกาสให้ได้รับทราบว่า บางครั้งการยุติการตั้งครรภ์ ก็ยังคงมีความจำเป็นสำหรับคนคนหนึ่ง หมอจากโรงเรียนแพทย์แห่งนั้น ก็มักจะยินดีในการดูแลคนไข้ที่มีปัญหาตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็คือตัวผมเอง

ผมจบมาจากโรงเรียนแพทย์ที่เมื่อครั้งหนึ่ง การทำแท้งเป็นเรื่องผิดวิสัยของหมอที่ดี การอบรมสั่งสอนทำให้ผมคิดว่า หมอสูติที่ดีย่อมไม่พึงทำแท้ง ต้นแบบของผมสั่งสอนและปฏิบัติให้ดูเสมอว่า จะไม่มีวันข้องเกี่ยวกับการทำแท้งแต่อย่างใด ผมเคยถามอาจารย์ไปว่า “ถ้าไม่ทำให้เขา แล้วเขาไปทำแท้งเถื่อนจนติดเชื้อมา เราจะเป็นคนผิดไหม” “ไม่ผิด เพราะเราไม่ใช่คนที่ทำแท้ง” นี่คือคำตอบ “ถ้าเรารู้ว่าที่อื่นทำได้ แล้วเราแนะนำไป จะเป็นการผิดไหม” “ผิด เพราะนั่นคือเราไปยืมมือคนอื่นทำแท้งอยู่ดี” นั่นย่อมเป็นคำยืนยันในใจผมให้พึงเดินตามคำสั่งสอนของแม่พิมพ์นับจากนั้น


ครั้นเรียนจบเป็นสูตินรีแพทย์ ได้มีโอกาสรับใช้สตรีที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ สิ่งที่เธอเหล่านั้นได้รับการบริการจากผมก็คือ “ความไม่สนใจใยดีกับความรู้สึกทุกข์ร้อนของเขา” “สิ่งที่เกิดขึ้นมาในครรภ์นั้น มีเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิด เราไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับวงจรการตั้งท้องครั้งนั้นไม่ใช่หรือ” เราเป็นหมอที่ดี เราจะไม่ยุ่งกับเรื่องแบบนี้ ฉะนั้น “ออกไป ผมจะตรวจคนไข้คนอื่นต่อ” ผมเป็นหมอที่ดีใช่ไหมครับ นี่ไง ผมไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการทำแท้งเลย แล้วถ้าคุณจะมาถามผมว่า “แล้วเขาจะทำไปทำที่อื่นไหม” ผมก็จะตอบว่า “ไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องของผม ผมแนะนำให้เธอฝากครรภ์ต่างหาก แต่จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมคิดว่าเธอคงไปทำแท้งอยู่ดี” “แล้วถ้าทำแท้งที่อื่นจนเกิดภาวะแทรกซ้อนล่ะ มดลูกทะลุ ติดเชื้อ หรือตาย” ผมก็จะตอบไปอีกว่า “ไม่รู้ เพราะผมไม่ใช่คนทำแท้งให้นี่นา(อันที่จริงผมก็ไม่ได้ทำเธอท้องเสียด้วยซ้ำ) หากเธอจะมีภาวะแทรกซ้อน ถูกหามเข้ามาให้รักษา ผมก็เต็มใจรักษา เพราะเป็นหน้าที่ของผม แต่ผมอาจจะหงุดหงิดที่ต้องถูกปลุกลงไปดูคนไข้แท้งติดเชื้อที่ห้องฉุกเฉินในเวลาตี 3 เสมอๆนะครับ” “รู้สึกผิดไหม ที่ไม่แนะนำเขาไปทำในที่ที่เรารู้ว่าทำแท้งได้ ทำแท้งดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน” ผมก็จะตอบว่า “ไม่รู้สึกหรอก เป็นหมอน่ะ ครูผมสอนว่าต้องมีอุเบกขา” แล้วผมก็จะถามเขากลับไปว่า “ผมเป็นหมอที่ดี ใช่ไหมครับ”


มิหนำซ้ำ เรายังพลอยได้รังเกียจเพื่อนร่วมงานที่ให้บริการทำแท้งอยู่ตามที่ต่างๆไปเสียอีก ไปคิดว่าเขาเลว ไม่มีจรรยาบรรณแพทย์ รายได้ที่รับมาจากการทำแท้งเป็นรายได้บาป แบบนี้ไม่น่าจะเจริญ ใช่ไหมครับ

แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง คนเราก็น่าจะมีจุดเปลี่ยนไปได้ จากการได้พาตัวเองเข้าไปนั่งคุยกับคนที่ไม่ใช่หมอ คนที่เคยมีความทุกข์ร่วมกันกับคนที่เคยตั้งท้องเมื่อไม่พร้อม มันทำได้มีโอกาสมานั่งตรึกตรองอยู่นาน ด้วยคำถามเพียงง่ายๆ เช่น มีใครในโลกนี้บ้างไหม ที่อยากจะท้องเพื่อมาให้หมอทำแท้ง จะมีใครสักกี่คนที่มีความสุขจากการเอาลูกออกจากมดลูกของตัวเอง ตอบได้ไหมครับ กับคำถามที่ถามว่า “ทำไมไม่พร้อมล่ะ” ตอบได้ไหม


ก็ไอ้คำว่าพร้อมหรือไม่พร้อมนี่แหละที่เป็นตัวยุ่ง เชื่อไหมว่า มีเด็กสาวอายุ 18 ปีคนหนึ่ง ทำงานก่อสร้าง เขามีความพร้อมอย่างมากกับการตั้งท้องครั้งนี้ ในขณะที่หญิงสาวอีกฟากหนึ่งที่มีอายุ 18 ปีเท่ากัน แต่เธอกำลังเรียนแพทย์อยู่แล้วเกิดตั้งท้องขึ้นมา เธอจึงบอกว่าเธอไม่พร้อมที่จะตั้งท้องในครั้งนี้ เชื่อไหมว่า หญิงสาวอายุ 35 ปีมีลูกแล้ว 3 คน เธอมีความสุขใจอย่างมากที่ลูกคนที่ 4 กำลังมาอยู่ในท้องของเธอ ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งหญิงสาวอายุ 35 ปี เธอเป็นเลขาฯของประธานบริษัทแห่งหนึ่ง เธอยังไม่เคยมีลูกเลยสักคน แต่ตอนนี้เธอตั้งท้องกับเจ้านายในที่ทำงานนั้น เธอบอกว่าเธอไม่พร้อมที่จะมีลูก เพราะเธอเป็นเมียน้อย และเธอก็ยังไม่ได้แต่งงานเลย เธอจึงไม่พร้อมในการตั้งท้องครั้งนี้

        โรงเรียนแพทย์สอนเรื่องนี้อย่างไรครับ

ตามแผนผังการสอนเขียนเอาไว้ว่า ประเทศเรามีสังคมแบบเกื้อหนุน ครอบครัวสามารถช่วยดูแลเด็กได้ ดังนั้น เราควรให้เขาท้องต่อไป มันเป็นอย่างนี้จริงๆนะครับ หรือไม่ก็ เราสามารถให้เธอตั้งท้องต่อไป ถ้าไม่สามารถเลี้ยงเด็กได้ก็ส่งไปอยู่ที่บ้านเด็กกำพร้าได้ เชื่อไหมครับ


เมื่อผมได้มีโอกาสนั่งคิด คิดตามคำถามง่ายๆ ที่ตอบง่ายบ้างยากบ้าง ก็เลยได้รู้สึกขึ้นมาเล็กๆว่า เรากำลังเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เราจึงไม่รู้สึกหรือไม่มีอารมณ์ร่วมกับคนที่เขากำลังเกิดปัญหาชีวิต ก็มันไม่ใช่ปัญหาของเรานี่นาลองดูตัวอย่างเล่นๆนะครับ

“ทำไมไม่พร้อม ในเมื่อเธอก็มีครอบครัวที่ดูแลได้…แล้วเรารู้ได้อย่างไร ว่าครอบครัวเขาดูแลได้”

“เรียนอยู่ใช่ไหม ก็ลาเรียนสักปีเพื่อท้องและคลอด ปัญหาก็หมดไปแล้ว…แล้วเราจะสามารถลาเรียนแบบเขาได้ไหม”

“ทำไมจึงปล่อยให้ท้องขึ้นมาได้ ยาคุมก็มีทำไมไม่ใช้”…แล้วเรารู้ไหม ว่าเขาจะรู้เหมือนกับที่เรารู้ว่า”ยาคุมทำให้ไม่ท้อง” หรือว่าเขาเคยพยายามใช้แล้ว แต่มันอ๊วก เลยไม่ได้ใช้อีกต่อไป

“ถุงยางก็มีขายกันเกลื่อน”…แล้วเรารู้ไหมว่า เธอไม่กล้าไปซื้อมาใช้ เคยไปซื้อมาแล้ว คนขายมันมองหน้า หรือไม่ก็แฟน (ผู้ชาย)ไม่ยอมใส่ ทำยังไงมันก็ไม่ยอมใส่

“ไม่ยอมใส่ก็เลิกกับมันไปซะสิ”…”จะเลิกได้ยังไงหมอ หนูรักเขามากนะ”

“ทำไมไม่ทำหมัน”…”หากทำหมันแล้วหนูไม่มีแรงทำงาน หมอจะรับผิดชอบไหม”

ฯลฯ เพราะนั่นเป็นเพียงแค่หนังตัวอย่างเท่านั้นครับ

ลองเคยนั่งคิดดูไหม ว่าหากคนที่ตั้งท้องมานั้น เป็นใครก็ไม่รู้ เป็นลูกศิษย์ของเรา เป็นลูกของญาติเรา เป็นญาติเรา เป็นน้องเรา หรือเป็นเราเองที่ไม่พร้อมจะตั้งท้องครั้งนี้ เราจะดูแลคนนั้นเหมือนหรือแตกต่างจากคนอื่นๆไหม ถ้าตอบว่าไม่แตกต่างผมก็ขอซูฮก แต่ถ้าบอกว่าไม่เหมือนกันแน่ๆ ผมก็จะถามต่อว่า “ทำไม”

เมื่อนั่งตรึกตรองจนได้ผลึกมาเม็ดหนึ่ง ก็เลยปรับเปลี่ยนแผนผังของความคิดดูใหม่ คิดว่าคนที่มาขอทำแท้งนั้นเขาเป็นทุกข์ เขากำลังเจอวิกฤติของชีวิต แล้วเราจะช่วยเขาได้อย่างไร การปรับเปลี่ยนความคิดแบบนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เราจะได้เห็นว่า เมื่อมุมมองเของเราปรับเปลี่ยนไปตามสายตาของคนไข้ เราก็จะได้เห็นความทุกข์ของเขา มาช่วยกันหาทางออก ลองมานึกดูนะครับ หากเราเปิดใจตัวเองให้มาดูแลผู้ที่มีปัญหาแบบนี้ คนก็จะกล้าเดินเข้ามาหาเรา แล้วเมื่อเขาได้คุยได้ปรึกษากับเรา เขาอาจจะได้เห็นทางออกของการแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วเราจะไม่ได้ทำแท้งให้เขา แต่อย่างน้อยเขาก็มีที่ที่ปลอดภัยในการรับบริการการยุติการตั้งครรภ์ไม่ใช่หรือ อย่างน้อยเราก็ช่วยไม่ให้เด็กคนหนึ่งไม่ต้องพิการจากการไปทำแท้งเถื่อนมา หรือดีที่สุด เขากลับมองเห็นว่า การอุ้มท้องต่อไปนั้นเป็นทางเลือกที่ลงตัวที่สุด แล้วเขาจะคิดได้อย่างไร ต้องบอกได้เลยว่า บุคลากรทางการแพทย์เยี่ยงเราสามารถทำได้ครับ

การให้การปรึกษาเรื่องทำแท้ง ไม่ได้หมายความว่าเราต้องทำแท้ง แต่ผมกำลังหมายถึงเราให้การช่วยเหลือให้เขาได้ประคับประคองตังเองให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้ มีคนเคยบอกว่า”อย่างนี้งานเข้า เพราะเดี๋ยวก็มีการทำแท้งเสรีแน่ๆ” ผมก็จะอธิบายว่า “การทำแท้งเสรี ไม่เคยมีในประเทศที่เปิดโอกาสให้คนเข้าถึงการบริการด้านทำแท้ง” เพราะเขาจะได้คุย ได้ช่วยกันคิดหาทางออกให้กันอย่างไรเล่า การทำแท้งเสรีจะเกิดในประเทศหรือรัฐที่ทำให้บริการนี้เป็นบริการเถื่อน เป็นงานใต้ดินต่างหาก ชนิดที่ว่า มาปุ๊บแท้งปั๊บ จะอายุครรภ์เท่าไหร่ เด็กร้องไห้เสียดังได้แล้วก็ยังทำแท้งให้ อันนี้ต่างหากที่เป็นแท้งเสรี นี่เรากำลังกลัวเกินขอบเขตไปไหม

กล่าวโดยสรุป ผมคิดว่าตอนนี้ยุคนี้ โรงเรียนแพทย์ควรเปลี่ยนบทบาทของการเรียนการสอนด้านการดูแลสตรีแท้งบุตร จากแต่เดิมที่มุ่งสอนเพื่อให้นักเรียนคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง ควรมาเป็นการสอนเพื่อให้เด็กคิด คิดว่าสาเหตุของการขอทำแท้งนั้นเกิดจากอะไร ทำไมคนคนหนึ่งจึงไม่มีความพร้อมเหมือนคนอื่นๆ แล้วเรามาร่วมกันหาทางออก ให้กับผู้มีความทุกข์เหล่านั้นได้ไหม การเปิดโอกาสให้คนที่ท้องไม่พร้อมได้เดินเข้ามาหาเรานั้น น่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้เรา สามารถลดอัตราการบาดเจ็บหรือการตายจากการทำแท้งเถื่อนลง นั่นก็ยังไม่ได้หมายความว่า ทุกครั้งจะลงเอยด้วยการทำแท้งให้เขาเสมอไปหรอก หากเราสามารถดึงเขา (ผู้มีความทุกข์) ให้ออกมาพบแสงสว่างได้ แสงสว่างที่มีความอบอุ่นของคนที่พร้อมจะเข้าใจ และพร้อมจะต้อนรับเขาให้กลับเข้ามาสู่สังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ นี่ไม่ใช่หรือที่เป็นหน้าที่ของเราทุกคน

ที่มา :  https://www.gotoknow.org/posts/276609