ทำความเข้าใจการค้นหาตัวเองของวัยรุ่น

ทำความเข้าใจการค้นหาตัวเองของวัยรุ่น

หากพูดถึงวัยรุ่นสิ่งที่โดดเด่นในช่วงวัยนี้คงเป็นการค้นหาตัวเองหรืออัตลักษณ์ (Identity) เช่น ค้นหาว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร หรือค้นหาว่าตัวเองอยากเรียนต่อสายไหนและประกอบอาชีพอะไร คำถามเหล่านี้มักเกิดขึ้นในวัยรุ่นเนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการเรียนรู้ความเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดอย่างจริงจังเกี่ยวกับการงานในอนาคตและบทบาทครอบครัวมากยิ่งขึ้น หรือมีความคิดว่าตัวเองจะเติบโตเป็นคนแบบไหน ซึ่งการค้นหาตัวเองของวัยรุ่นจึงมีความสำคัญ เพราะสามารถนำไปสู่พฤติกรรมที่ดีและพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของวัยรุ่นต่อไปได้ ซึ่งในบทความนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักการค้นหาตัวเองของวัยรุ่นในแต่ละแบบกันค่ะ

ในบทความนี้เรานำทฤษฎี Self-Identity ของ James Marcia มาให้ทุกคนได้รู้จักกัน โดย James Marcia ได้แบ่งสถานะของอัตลักษณ์แห่งตนออกเป็น 4 สถานะ คือ การสับสนในอัตลักษณ์ (Identity diffusion), การยึดอัตลักษณ์มาเป็นของตน (Identity foreclosure), การพักเพื่อแสวงหา (Moratorium) และการบรรลุอัตลักษณ์ (Identity achievement)

  1. การสับสนในอัตลักษณ์ (Identity diffusion)

คือวัยรุ่นที่ไม่ได้สำรวจหรือพยายามที่จะค้นหาตัวเอง และไม่ได้ตั้งเป้าหมายในชีวิต จึงใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ตามสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน มักไม่อยากยุ่งเกี่ยวหรือพูดคุยกับคนอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เนื่องจากตัวเองก็ยังไม่เข้าใจตัวตนของตัวเอง อาจจะยังไม่เห็นข้อดีของตัวเอง หรือไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองชอบ

ตัวอย่าง เมื่อนาย ก. เรียนจบม.ปลาย เขาไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เขาอยากทำในชีวิต แต่ในความเป็นจริงนั้นคือเขาแทบไม่ได้คิดถึงเรื่องเป้าหมายในชีวิตเลย เขาจึงไม่ได้สมัครเรียนเพื่อเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา และหันมาทำงานพาร์ทไทม์เพื่อหาเงินค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ แทน แต่เงินที่ได้มานั้นไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต จึงต้องไปอาศัยอยู่กับครอบครัว แต่เขาก็ไม่ได้คิดหาวิธีทำงานประจำเพื่อหาเงินให้ได้มากกว่าเดิม หากถามว่าชีวิตนี้อยากทำอะไร ก็จะตอบว่าไม่รู้ โดยที่เขาเองไม่ได้คิดที่จะหาคำตอบ หรือคิดวางแผนใดๆ ในชีวิตเลย

  1. การยึดอัตลักษณ์มาเป็นของตน (Identity foreclosure)

วัยรุ่นที่อยู่ในสถานะนี้จะไม่ได้พยายามที่จะหาหรือกำหนดว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญสำหรับตนเอง และไม่ได้ตั้งคำถามหรือสงสัยในสิ่งที่ถูกสอนมา ตัวตนจึงมาจากค่านิยม ความเชื่อของครอบครัว สังคมหรือวัฒนธรรม แต่เด็กจะยอมรับตัวตนที่ได้รับมาและมีความมุ่งมั่นกับตัวตนนี้โดยไม่คิดที่จะพิจารณาสิ่งอื่นๆ วัยรุ่นกลุ่มนี้มักจะมีต้นแบบหรือคนที่ชื่นชอบ แล้วจึงนำตัวตนของคนเหล่านั้นมาเป็นของตัวเอง

ตัวอย่าง นางสาว ข. เลือกเรียนคณะและมหาวิทยาลัยตามพี่สาว เนื่องจากเห็นพี่สาวประสบความสำเร็จในชีวิตและได้รับการชื่นชมจากคนในสังคม โดยไม่ได้สำรวจถึงความชอบของตัวเองหรือสิ่งที่ตัวเองถนัด และไม่เคยตั้งคำถามให้สิ่งที่เลือกไว้เลย เธอรู้เพียงว่าจะต้องเป็นเหมือนพี่สาวเท่านั้น

  1. การพักเพื่อแสวงหา (Moratorium)

วัยรุ่นกลุ่มนี้จะมีความคิดเห็นหรือความเชื่อเป็นของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้ตัดสินใจที่จะทำสิ่งใดตามที่ตัวเองคิดหรือใช้หลักการใดในการชี้นำชีวิต มักรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ถนัดอะไร หรือมีข้อดีอย่างไร แต่ยังไม่เลือกว่าจะเป็นอย่างไรหรือจะไปทิศทางไหน

ตัวอย่าง นาย ง. เริ่มที่จะโต้แย้งครอบครัวที่จะพาเขาไปเคารพนับถือคริสตจักร แม้ว่าตัวเองจะเข้าร่วมพิธีกับครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่เขาก็ใช้เวลาในการอ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาที่มีอยู่ในโลก และมีแผนที่จะเยี่ยมชมสถานที่ของทุกๆ ศาสนา เพื่อสังเกตการเคารพนับถือของแต่ละศาสนา ถึงเขายังไม่แน่ใจในสิ่งที่ตัวเองเชื่อแต่เขาก็กำลังค้นหาและสำรวจเพื่อให้ได้คำตอบ

  1. การบรรลุอัตลักษณ์ (Identity achievement)

คนที่สามารถจัดลำดับความสำคัญในชีวิตได้ มักจะมีความมั่นใจในการตัดสินใจ มีค่านิยม ความเชื่อ และเป้าหมายในชีวิตจากการสำรวจตัวเอง

ตัวอย่าง หลังจากที่นางสาว จ. อายุถึงเกณฑ์ในการมีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็ได้ทำการศึกษาผู้สมัครเลือกตั้งและนโยบายต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบ ทบทวนความคิดเห็นของตัวเอง จนพบประเด็นที่สำคัญ และในที่สุดเธอก็ใช้สิทธิ์เลือกตั้งเลือกผู้ลงสมัครที่ตรงกับความเชื่อของเธอมากที่สุด

ความแตกต่างของปัจจัยในชีวิตจะทำให้วัยรุ่นมีการค้นหาตัวตนในรูปแบบที่แตกต่างกัน จากรูปแบบทั้ง 4 สถานะที่ได้นำเสนอ น้องๆ อาจลองสังเกตตัวเองดูว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ในรูปแบบไหน เพื่อให้เข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่หนทางในการค้นหาตัวเองต่อไป เช่น หากน้องๆ สังเกตตัวเองแล้วพบว่าอยู่ในสถานการณ์สับสนใน      อัตลักษณ์ (Identity diffusion) ก็อาจจะลองตั้งเป้าหมายในชีวิตดู หากยังไม่เจอตัวตนของตัวเองก็ไม่เป็นไร ค่อย ๆ มองหาสิ่งที่ชอบ อาจจะเริ่มจากการลองทำกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลายเพื่อสำรวจความชอบของตัวเองก่อน หรือถ้าพบว่าอยู่ในสถานะการยึดอัตลักษณ์มาเป็นของตน (Identity foreclosure) ก็ลองสำรวจตัวเองดูอีกสักครั้ง มองหาว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่เราชอบจริงๆ และสิ่งไหนคือสิ่งที่เราไม่ได้ต้องการ เพียงแต่มาจากคนต้นแบบหรือไอดอลที่เราชื่นชอบเท่านั้น หรือหากน้องๆ พบว่าตัวเองอยู่ในสถานะการพักเพื่อแสวงหา (Moratorium) ก็ลองใช้เวลาเหล่านั้นในการหาข้อมูลในสิ่งที่เราสนใจ ให้เวลาตัวเองได้เรียนรู้ เพื่อพบเจอสิ่งที่ใช่ที่สุดสำหรับตัวเอง และสถานะสุดท้ายคือการบรรลุอัตลักษณ์ (Identity achievement) ถ้าน้องๆ รับรู้ว่าตัวเองอยู่ในสถานะนี้แล้ว ให้มุ่งมั่นและพัฒนาตัวเองไปกับสิ่งที่เลือก และอย่าลืมสำรวจตัวเองอยู่เสมอ ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นตัวตนของเราหรือเปล่า

 

อธิญา ยุทธนาศาสตร์  นิสิตฝึกงานสาขาจิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ข้อมูลอ้างอิง :https://www.gracepointwellness.org/1310-child-development-theory-adolescence-12-24/article/41164-james-marcia-and-self-identity