ทำแท้งทำได้มีกฏหมายรองรับ

ยุติการตั้งครรภ์(ทำแท้ง)ทำได้มีกม.รองรับ หมอสูติฯ มอ. เผยการยุติการตั้งครรภ์ทำได้เพราะมีกฎหมายรองรับ แนะควรคำนึงถึงสุขภาพใจของผู้รับบริการเป็นหลัก

จากสถิติการสำรวจสถานการณ์การยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พ.ศ. ๒๕๕๕ มีอัตราการเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยของผู้หญิงไทยปีละ ๒๕–๓๐ คน และบาดเจ็บเพราะภาวะแทรกซ้อนจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยประมาน ๓๐,๐๐๐ คน

นายธนพันธ์ ชูบุญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าการยุติการตั้งครรภ์(ทำแท้ง) สามารถทำได้โดยขึ้นนอยู่กับสองเหตุผล

ประการแรก : เหตุผลทางกฎหมาย เมื่อการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดทางอาญาในกรณีข่มขืนและกรณี เกี่ยวเนื่องกับการจัดหาบริการทางเพศที่มีการข่มขู่เพื่อซื้อขายบริการทางเพศ แพทย์ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงผู้หญิงตั้งครรภ์อายุไม่เกิน ๑๕ ปีบริบูรณ์ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ เพราะมีกฎหมายคุ้มครองผู้เยาว์

ประการที่สอง : เหตุผลทางการแพทย์ หากการตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพของมารดา ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้
แต่ทั้งสองประการดังกล่าวก็มิได้ทำให้แพทย์ทุกคนตัดสินใจให้บริการยุติการตั้งครรภ์

นายธนพันธ์กล่าวว่า การยุติการตั้งครรภ์เป็นการรักษาโรคอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับความผิดปกติจากการตั้งครรภ์ซึ่งมองในทางการแพทย์ว่าเป็นการรักษาพยาบาลหรือการให้บริการทางสุขภาพ แต่แพทย์ถูกสอนมาว่าโรคที่ทำให้เกิดปัญหาจากการตั้งครรภ์เป็นโรคทางกายทั้งหมด เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของมารดาแต่ในความเป็นจริงแล้ว สุขภาพที่กล่าวถึงตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก(WHO) ไม่ใช่เพียงสุขภาพทางกายเท่านั้นแต่รวมถึงสุขภาพทางใจด้วย
นายธนพันธ์กล่าวต่อว่า ถ้าไม่ยุติการตั้งครรภ์(ทำแท้ง)ให้ผู้หญิงที่มาขอรับบริการ อาจทำให้เขาไปใช้บริการยุติการตั้งครรภ์ผิดกฎหมายซึ่งไม่มีการรับรองความปลอดภัยและอาจส่งผลให้มีการติดเชื้อในมดลูก กระแสโลหิต และอุ้งเชิงกราน จนต้อตัดมดลูกทิ้ง รวมถึงปัญหาเรื่องของไตวาย ตับวายที่จะเกิดตามมา ทำให้ระบบการยังชีพของมนุษย์เสียหาย และนำมาซึ่งการเสียชีวิตในที่สุด ถ้าเป็นเช่นนั้นการยุติการตั้งครรภ์ก็ถือว่าเป็นการรักษาชีวิตของ คนๆหนึ่งเช่นกัน “เรามักให้ความสำคัญกับสิ่งที่ยังจับต้องไม่ได้หรือไม่เห็น เช่น ตัวอ่อนอายุครรภ์ ๖ สัปดาห์มีความยาวครึ่งเซนติเมตร เราก็ไปให้ความสำคัญกับเด็กมากจนลืมไปว่าผู้หญิงที่มาขอรับบริการ เขาผ่านการใช้ชีวิตมากี่ปี เขามี พ่อแม่ มีสามี มีเพื่อน มีสังคมที่เขารักและรักเขา แต่แพทย์จำนวนหนึ่งกลับไม่สนใจสิ่งเหล่านี้ เพราะกลัวผิด กฎหมาย กลัวบาป กลัวต้องชดใช้กรรม ทั้งๆ ที่ผู้หญิงเหล่านี้ก็เป็นคนที่มีชีวิตและมีจิตวิญญาณเช่นกัน” นายธนพันธ์กล่าว
นางทัศนัย ขันตยาภรณ์ ที่ปรึกษามูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมต่างมีเหตุผลที่ จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจกำลังศึกษาอยู่ ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ถูกผู้ชายทอดทิ้ง เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ หรือมีบุตรมากแต่มีฐานะยากจน อีกทั้งสังคมไทยยังไม่เปิดกว้าง เพราะเข้าใจผิดในเรื่องกฎหมาย เรื่องบาปบุญ ทำให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมไม่กล้าตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ นางทัศนัย กล่าวต่อว่า แม้ในปัจจุบันจะมีโครงการรณรงค์เรื่องการยุติการตั้งครรภ์หลายโครงการ แต่ไม่ได้ทำให้คนในสังคมเข้าใจผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและอยากยุติการตั้งครรภ์มากเท่ากับการได้สัมผัสชีวิตของเขา และรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งอาจทำให้คนในสังคมเปลี่ยนความคิดในเรื่องยุติการตั้งครรภ์ได้
ที่มา : การประชุมระดับชาติ เรื่องสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 1
การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น วันที่ 10 กันยายน 2557 อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี นนทบุรี