ทำไมเราถึงถูกรังแก..

หลายครั้งขณะที่อยู่ในโรงเรียน เราคงเคยสังเกตเห็นว่า มักจะมีเพื่อน คนรู้จัก หรือนักเรียนในโรงเรียนบางส่วนที่รังแกคนอื่นเป็นประจำ สงสัยหรือไม่ว่า ทำไมพวกเขาเหล่านั้นถึงรังแกเด็กๆคนอื่น ในบทความนี้ เลิฟแคร์ ไม่รังแกกันจะพาไปสืบหาสาเหตุกัน!

การที่นักเรียนใน โรงเรียนไปแกล้ง หรือรังแกนักเรียนคนอื่นๆ จะต้องมีปัจจัยบางอย่าง ที่ไปกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรม ซึ่งจากการเก็บข้อมูลจากโครงการไม่รังแกกัน โดยมูลนิธิแพธทูเฮลท์ร่วมกับแพลนอินเตอร์เนชั่นเนล และองค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ ได้ลงเก็บข้อมูลสาเหตุของการรังแกในโรงเรียนที่ร่วมโครงการ 5 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และได้สัมภาษณ์นักเรียนที่ไปรังแกผู้อื่น 5 คน พบว่า

3 ใน 5 คน เคยเป็นคนถูกรังแกมาก่อน แต่เมื่อเริ่มสู้กับฝ่ายตรงข้ามได้บ้างก็จะมีความรู้สึก หึกเหิม มีความมั่นใจกับวิธีการที่ตนทำและเชื่อว่าการจะใช้กำลัง เช่น การตบตี เพื่อตอบโต้ในครั้งต่อไป อาจนำไปสู่การเริ่มรังแกเด็กคนอื่นๆที่อ่อนแอกว่าตัวเอง เพื่อแสดงให้ว่าตนเองไม่ได้อ่อนแอนั่นเอง

และ 3 ใน 5 ที่พบว่าในครอบครัวมีการใช้ความรุนแรง เช่น การทุบตี การดุด่า และเพิกเฉย ทำให้นักเรียนเกิดพฤติกรรมใช้ความรุนแรง และนำมาใช้กับเพื่อนที่โรงเรียน  หรือบางส่วนอยู่ห่างจากผู้ปกครอง ขาดการดูแลเอาใจใส่จึงต้องการการยอมรับในหมู่เพื่อน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น อย่างวัฒนธรรมรุ่นพี่รุ่นน้องในโรงเรียนที่ทำสืบต่อกันมา รวมถึงการคบเพื่อนที่ส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรงก็เป็นอีกปัจจัยด้วยนะ

แต่อย่างไรก็ตาม คนที่รังแกไม่ได้เป็นคนที่ชอบรังแกคนอื่นมาตั้งแต่เริ่มต้น เราสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงพวกเขาได้โดยไม่ใช้การลงโทษ หรือความรุนแรง จากรายงานฉบับเดียวกัน มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

กรณีนี้เป็น ของ G (นามสมมุติ) นักเรียนชายโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ร่วมโครงการ เขาเคยเป็นหัวโจกรังแกคนอื่นๆมาก่อน แต่มีจุดเปลี่ยนที่ว่าวันหนึ่งเข้าถูกเพื่อนเลือกให้เป็นหัวหน้าห้อง ทำให้เขาได้รับความคิดใหม่ เราพการเป็นหัวหน้าห้องต้องคอยดูแลเพื่อน รับผิดชอบเพื่อน ช่วยแก้ปัญหาให้เพื่อน จุดนี้เองทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า “การได้รับการยอมรับจากเพื่อน จากการได้ปกป้องเพื่อนในห้องทุกคน มันรู้สึกดีกว่าการได้รับการยอมรับจากการที่ทำให้เพื่อนหวาดกลัว ด้วยการ ข่ม ซึ่งเขาก็ยังได้เป็นหัวโจกหรือขาใหญ่เมือนเดิม แต่เพื่อนคุยกับเขามากขึ้น ต่างจากที่เดิมเพื่อนกลัว

รู้แบบนี้แล้ว การที่คนๆนึงจะไปรังแกใคร คงไม่ได้เป็นเรื่องผิวเผินอย่างที่เราคิด ดังนั้นการแก้ปัญหาอาจจะไม่ใช่โดยการห้ามไม่ทำ หรือลงโทษโดยการหักคะแนน แต่เป็นการเข้าใจสาเหตุที่มา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเรื่องนี้จะต้องอาศัยทั้งครู ผู้ปกครอง และเพื่อนๆในชั้นเรียน ให้โอกาส และคอยช่วยเหลือด้วย

อ้างอิง รายงานการศึกษาสถานการณ์การรังแกกันบริบทโรงเรียนไทย ที่เข้าร่วมโครงการป้องกันและลดการใช้ความรุนแรง และการรังแกกันในสถานศึกษา พื้นที่กรุงเทพ