ท้องไม่พร้อม 102 : นานาประเทศ

                การท้องไม่พร้อม หรือ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม เป็นคำที่ใช้ในภาษาไทยอย่างกว้างขวาง อันเป็นผลมาจากการศึกษาวิจัยในประเทศไทยที่พบว่า ผู้หญิงที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปมักให้เหตุผลถึงความไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ต่อไป สำหรับในต่างประเทศ มีศัพท์ที่ใช้ในความหมายใกล้เคียงกัน ได้แก่ Unwanted Pregnancy (การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์) หรือ Unplanned Pregnancy (การตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผน) หรือ Unintended Pregnancy (การตั้งครรภ์ที่ไม่ตั้งใจ) ซึ่งทั้งหมดให้ความหมายว่า การตั้งครรภ์ของผู้หญิงนั้นอยู่ภายใต้ความไม่พร้อม ทั้งนี้ ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าในโลกนี้มีผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมจำนวนเท่าไร การตัดสินใจของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม มีทั้งท้องต่อ และยุติการตั้งครรภ์

ปัจจุบัน นานาชาติหันมาให้ความสำคัญของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมากขึ้น เนื่องจากพบว่า ประเทศจำนวนมากรวมทั้งประเทศไทย มีอัตราการคลอดของวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องๆ โดยประเทศที่มีอัตราการคลอดของวัยรุ่นมากที่สุดคือ สาธารณรัฐอาฟริกากลาง คืออัตรา 229 ต่อพัน ส่วนประเทศที่น้อยที่สุดคือประเทศสิงคโปร์ คืออัตรา 3.6 ต่อพัน ประเทศที่มีอัตราการคลอดของวัยรุ่นสูง ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอาฟริกา รองลงมาคือประเทศในอเมริกาใต้ และบางประเทศในเอเชียใต้ สำหรับประเทศไทย จากการรวบรวมของสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข[1] พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการคลอดของวัยรุ่น 46.7 ต่อพัน ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 107 ของโลก อันดับที่ 15 ของเอเชีย และอันดับที่ 6 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หน่วยงานในด้านสุขภาพระดับสากลโลก คือ องค์การอนามัยโลก ได้ให้ความสนใจไปที่ผลพวงจากการยุติการตั้งครรภ์ไม่ปลอดภัยที่ทำให้ผู้หญิงต้องติดเชื้อและเสียชีวิต รายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลกในปี 2555[2] ระบุว่า มีการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นกับผู้หญิง 22 ล้านคน ส่งผลให้เกิดการตายของผู้หญิงราว 47,000 คน และการพิการถึง 5 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้พบว่า กว่าครึ่งของการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือราว 10.5 ล้านคน เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเซีย และประมาณหนึ่งในสามเกิดขึ้นในเอเซียใต้[3] โดยในระหว่างปี พ.ศ. 2546-2551 ปัญหาการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยยังอยู่ที่อัตรา 14 ต่อ 1,000 คน

องค์การอนามัยโลกได้มีข้อเสนอแนะต่อนานาประเทศให้ออกกฎหมายและนโยบายที่ปกป้องสุขภาพและสิทธิของผู้หญิงเป็นสำคัญ และควรปรับเปลี่ยน ถอดถอน และกำจัดแนวปฎิบัติ นโยบาย การดำเนินงานใดๆ ที่ส่งผลต่อการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยอย่างทันการ รวมทั้งสร้างและพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลและบริการคุมกำเนิดที่มีคุณภาพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มวัยรุ่น สตรียากจน ผู้ที่ถูกข่มขืนหรือกระทำความรุนแรง และผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวี

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านกฎหมายของประเทศนั้นๆ ว่ามีข้อกำหนดหรือเกณฑ์อย่างไรในการที่ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ตามกฎหมาย โดยทั่วไป เกณฑ์ในการยุติการตั้งครรภ์มีตั้งแต่เพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้หญิง เพื่อเหตุผลทางสุขภาพอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพทางกาย และใจของผู้หญิง การตั้งครรภ์อันเนื่องมาจากกรณีข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ เพศสัมพันธ์ร่วมสายเลือดเดียวกัน ปัญหาสุขภาพของตัวอ่อนในครรภ์ รวมทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และเกณฑ์ที่เปิดกว้างมากที่สุดคือ เมื่อผู้หญิงต้องการ[5] เกณฑ์ของประเทศต่างๆ ในโลกมีการทำให้เป็นปัจุบันทุกปี สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็ปไซต์ http://worldabortionlaws.com/


[1] สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, 2557 (จากหนังสือ “การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น: นโยบาย แนวทางการดำเนินงาน และติดตามประเมินผล”)
[2] จาก Safe abortion: technical and policy guidance for health systems, second edition.  WHO, 2012
[3] ข้อมูลจาก Asia Safe Abortion Partnership เข้าถึงได้จาก http://www.asap-asia.org
[4]ผศ.นพ.สัญญาภัทราชัยภาควิชาสูติศาสตร์-นรีวิทยาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี,สืบค้นได้จาก http://hpc5.anamai.moph.go.th/download/file_pdf/teenupcare/Putthatad.pdf
[5] The world abortion laws, Center for Reproductive Rights, 2015