ท้อง หรือ ไม่ท้อง?

ท้อง หรือ ไม่ท้อง?

อาการแบบนี้…ท้องหรือเปล่าคะพี่ เรียกได้ว่าเป็นคำถามยอดฮิตในห้องแชทเลิฟแคร์ทีเดียว วันนี้พี่ๆ จากสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย จึงขออาสามาคลายความสงสัยกัน
เมื่อเริ่มสงสัยว่าท้อง สิ่งเเรกที่ต้องนึกถึงคือ
๐ มีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?
๐ ครั้งสุดท้ายที่มีเพศสัมพันธ์ได้ทำอะไรไปบ้าง?
๐ มีการสอดใส่หรือไม่?
๐ ใส่ถุงยางหรือ มีการป้องกันอื่นๆ หรือไม่?
๐ มีการหลั่งภายในร่างกายหรือไม่?
หากมีการสอดใส่ และหลั่งภายในโดยไม่ได้ใช้วิธีอะไรป้องกัน ถือว่าสามารถมีโอกาสที่จะท้องได้ แต่ถ้ามีการป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัย หรือการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ อย่างถูกต้อง ก็สามารถช่วยลดโอกาสที่จะท้องได้ หรือทําให้ไม่สามารถท้องได้ [1]

อาการที่อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้
อาการเเรกเริ่มของการตั้งท้องคล้ายกับอาการตอนใกล้จะมีประจำเดือนมาก ทำให้ผู้หญิงบางคนเกิดความเข้าใจผิดๆ ว่าตนเองท้อง ทั้งๆ ที่ไม่ได้ท้อง
อาการทั่วไปของการตั้งครรภ์ระยะแรกมีดังต่อไปนี้
• ขาดประจำเดือน (แต่ความเครียด การออกกำลังกายอย่างหนัก การอดอาหาร ความไม่สมดุลของฮอร์โมน ก็ทำให้ขาดประจำเดือนได้)
• การเข้าห้องน้ำบ่อยๆ (อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การตั้งครรภ์)
• รู้สึกเพลีย (อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การตั้งครรภ์)
• รู้สึกคลื่นไส้ (อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การตั้งครรภ์)
• เจ็บคัดตึงเต้านม (อาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่การตั้งครรภ์)
อาการเหล่านี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน และสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้ด้วย จึงไม่ได้เป็นตัวชี้ชัดว่าท้องหรือไม่ท้อง อย่างที่หลายคนคิด [2,3]

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าท้อง หรือ ไม่ท้อง?
วิธีที่แน่ใจที่สุดที่จะรู้ได้ว่าท้อง หรือไม่ท้องนั้น คือ การใช้ที่ตรวจครรภ์ ซึ่งสามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปสามารถเริ่มตรวจได้ถ้าประจำเดือนมาช้ากว่ากําหนดไป 7 วัน แต่หากไม่แน่ใจว่ารอบเดือนของตนเองเท่าไหร่ ให้รออย่างน้อย 14 วัน หลังการมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดถึงจะตรวจได้ผลที่เชื่อถือได้ [4]
หากตรวจแล้วขึ้น 1 ขีด แปลว่า ผลเป็นลบ ไม่ตั้งครรภ์ ถ้าหากตรวจแล้วขึ้น 2 ขีด แปลว่า ผลเป็นบวก หมายความว่า ตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม บางครั้งผลการตรวจอาจขึ้นขีดแบบจางๆ หรือไม่เจอขีดเลย ให้ตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจากนั้นประมาณ 2-3 วัน หรือประมาณ 1 สัปดาห์ เพราะอาจมีหลายสาเหตุที่ส่งผลต่อผลตรวจ เช่น ตรวจเร็วเกินไป ชุดตรวจเสื่อมคุณภาพ หรือเกิดจากการกินยาบางชนิด เป็นต้น [5]
ถ้าท้องไม่พร้อม ทำอย่างไรดี?
สามารถปรึกษาความกังวลใจเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ได้ที่ห้องเเชท Lovecare Station พี่ๆ พร้อมให้คำปรึกษา และคำแนะนำสำหรับทางเลือกต่างๆ รวมถึงข้อมูลการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย สามารถเข้าห้องแชทได้ทาง https://www.lovecarestation.com/ หรือ โทรสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 เวลา 9.00-21.00 น. หรือเพจ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม https://www.facebook.com/1663telephonecsg

#SCORAxLovecare station

เรื่องโดย : สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand)
Content Creator
๐ นางสาวญาณิศา พิศาลายน นิสิตเเพทย์ชั้นปีที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๐ นางสาวบุญสิตา เสือทอน นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
Editor
นางสาวมณีพรรณราย จิวจินดา นิสิตเเพทย์ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยแพทย์จุฬาภรณ์

อ้างอิง
1. IFMSA Thailand. (2020, March 19). ทำแบบนี้เเล้วจะท้องไหม?. In Lovecare Station. Retrieved May 12, 2020, from https://tinyurl.com/ydxpqut5
2. 5 Reliable Early Pregnancy Signs. (2019, June 25). In Cleveland Clinic. Retrieved May 12, 2020, from https://health.clevelandclinic.org/5-reliable-early-pregnancy-signs/
3. Pregnancy: Am I Pregnant?. (2020, April 1). In Cleveland Clinic. Retrieved May 12, 2020, from https://my.clevelandclinic.org/health/articles/9709-pregnancy-am-i-pregnant
4. Marcin, A. (2017, March 7). When You Should Take a Pregnancy Test. In Healthline Parenthood. Retrieved May 12, 2020, https://www.healthline.com/health/pregnancy/five-signs-to-take-pregnancy-test#overview
5. Doing a Pregnancy Test. (2018, October 1). In NHS. Retrieved May 12, 2020, from https://www.nhs.uk/conditions/pregnancy-and-baby/pregnancy-test/