ผ้าอนามัย เรื่องใหญ่ที่คนไม่ใช้ไม่คิดว่าเป็นปัญหา

เราทุกคนจะคุ้นหูกับโฆษณาผ้าอนามัยนานาชนิด ทั้งแบบเย็นสดชื่นไม่อับชื้น แบบที่หลับสนิทตลอดคืน มีให้เลือกซื้อทั้งแบบกลางวัน กลางคืน แบบบางพิเศษ ผิวสัมผัสหนานุ่ม แต่เรารู้หรือไม่ว่า ยังมีเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียนเพราะเริ่มมีประจำเดือน แล้วไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย

ผู้หญิงส่วนใหญ่ เริ่มมีประจำเดือนเมื่ออายุ 11-13 ปี แล้วจะหมดประจำเดือน เมื่ออายุ 45-55 ปี โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงจะมีประจำเดือน 3-7 วันต่อเดือน วันหนึ่งจะใช้ผ้าอนามัย 3-5 แผ่น ขึ้นอยู่กับปริมาณประจำเดือนในแต่ละวัน ผ้าอนามัยเฉลี่ยประมาณ 4-7 บาท ฉะนั้นในแต่ละเดือนผู้หญิงแต่ละคนมีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าผ้าอนามัยเท่ากับ

ราคาผ้าอนามัยแผ่นละ 5 บาท ใช้วันละ 5 แผ่น รอบละ 5 วัน จะเท่ากับ 125 บาท หรือปีละ 1,500 บาท ยังไม่รวมค่ายาแก้ปวดในกรณีที่บางคนมีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงและการเสียโอกาสในการทำงาน หากปวดท้องจนไม่สามารถไปทำงานได้ หรือจะต้องไปพบแพทย์

รวมแล้วทั้งชีวิตผู้หญิงต้องจ่ายค่าผ้าอนามัยเป็นจำนวนเงินอย่างน้อย 66,000 บาท เงินก้อนนี้สามารถนำมาใช้เป็นค่าเทอมการเรียนมหาลัยได้หลายเทอม แล้วผู้หญิงที่ยากจนจะเข้าถึงการใช้ผ้าอนามัยที่สะอาดได้มาตรฐานได้อย่างไร มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย ทำให้ต้องใช้วัสดุอื่นมาทดแทน เช่น ถุงเท้า เศษผ้า กระดาษชำระ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขอนามัยตามมา

 

ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เมื่อเริ่มมีประจำเดือน เด็กคนนั้นอาจไม่ได้กลับไปเรียนอีกตลอดชีวิต เพราะไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัยและอับอายหากไปโรงเรียนโดยไม่ได้ใช้ผ้าอนามัย ผ้าอนามัยแผ่นละ 5 บาท แลกได้กับอนาคตของเด็กคนหนึ่งเลยเชียวเหรอ หรือมันเป็นเรื่องเล่าที่เกินจริงในสายตาของคนที่มองมาจากหอคองาช้าง ไม่น่าเชื่อว่าการมีประจำเดือน ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำสังคมขนาดนี้

ผ้าอนามัยที่ ราคาถูก คุณภาพเหมาะสม สะอาด ได้มาตรฐาน โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติพิเศษใดๆ ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงที่ควรได้รับ

ดังเช่น ประเทศอังกฤษ เวล และสกอตแลนด์ ที่เริ่มมีนโยบายแจกผ้าอนามัยฟรีให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนและผู้มีรายได้น้อย แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิค-19 ทำให้โรงเรียนทุกโรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอนชั่วคราว แต่ประจำเดือนยังมาทุกเดือนไม่หยุดตามไวรัส เมื่อเด็กที่มีรายได้น้อยไม่ได้ไปโรงเรียนก็ไม่สามารถได้รับผ้าอนามัยแจกฟรี อีกทั้งเด็กบางคนอายเกินกว่าจะบอกพ่อแม่ให้ซื้อผ้าอนามัยให้ เมื่อออกไปซื้อของที่จำเป็นในช่วงล็อคดาวน์หรือพ่อแม่ไม่มีเงินพอที่จะซื้อผ้าอนามัยให้ เนื่องจากต้องหยุดงานหรือตกงาน และจำเป็นต้องเก็บเงินไว้ซื้ออาหารหรือสิ่งของอื่นๆ มากกว่า อีกทั้งเมื่อเกิดวิกฤตขึ้น ผู้คนที่เคยบริจาคอาหาร สิ่งของต่างๆ หรือผ้าอนามัยให้แก่ Food Bank หรือธนาคารอาหาร ลดการบริจาคลงเพราะต้องเก็บเงินไว้เพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นเช่นกัน

ในประเทศอังกฤษมีคนที่เห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีรณรงค์ให้เกิดแคมเปญต่างๆ ขึ้นมากมาย เพื่อช่วยเหลือเด็กในสามารถเข้าถึงผ้าอนามัย ในช่วงเกิดวิกฤตโคโรน่าไวรัส ทั้ง BLOODY GOOD PERIOD ที่ก่อตั้งโดย GABBY EDLIN ที่เปิดรับบริจาคเงินและผ้าอนามัยให้แก่เด็กที่มีรายได้น้อย โดย GABBY EDLIN กล่าวว่า การที่เราให้ผ้าอนามัยแก่เด็กๆ เท่ากับเราบอกเด็กๆว่า พวกหนูไม่ต้องกังวลเรื่องประจำเดือนหรือผ้าอนามัยอะไรทั้งนั้นเพราะพวกหนูมีเรื่องอื่นให้ต้องกังวลเยอะแล้ว

หรือโครงการ Free Periods ที่เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่มีเป้าหมายว่าจะต้องไม่มีเด็กผู้หญิงคนไหน ต้องหยุดเรียนหนังสือเพราะไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย โดยเริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2017 โดยร่วมกับโครงการ Red Box ผ่าน #PeriodRevolution! เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษปฏิบัติตามพันธกรณีของกฎหมายที่สนับสนุนให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม ไม่มีการกีดกันทางเพศ รวมทั้งเด็กผู้หญิงต้องได้รับการศึกษาต่อไปหากเริ่มมีประจำเดือนแต่ไม่มีเงินซื้อผ้าอนามัย โดยผลตอบรับที่ได้ คือ รัฐบาลอังกฤษ สกอตแลนด์และเวลส์ให้เงินสนับสนุน เพื่อจัดหาผ้าอนามัยฟรีให้แก่เด็กในโรงเรียน และขณะนี้กำลังมีโครงการกำลังสนับสนุนให้มีการพูดคุยเรื่องประจำเดือนได้อย่างเปิดเผย เพื่อไม่ให้เรื่องประจำเดือนเป็นเรื่องที่ต้องปกปิด น่ารังเกียจ สกปรกหรือน่าอาย โดยสนับสนุนให้เด็กผู้ชาย หรือคนที่ไม่มีประจำเดือนได้มีส่วนร่วมในการพูดคุยเรื่องประจำเดือน ผ่านทาง #FreePeriodStories

และโครงการร่วมระหว่าง The Red Box Project และ Free Periods อีกโครงการที่เป็นโครงการต่อเนื่องที่เล็งเห็นว่า เด็กๆ จะได้รับแจกผ้าอนามัยฟรีที่โรงเรียน แต่เมื่อโรงเรียนหยุดชั่วคราวจากวิกฤตโควิค-19 เด็กๆ จะยังได้รับผ้าอนามัยหรือไม่ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบยืนยันว่าจะมีการส่งผ้าอนามัยไปให้แก่เด็กๆ ในช่วงที่โรงเรียนหยุด และโครงการยังเป็นตัวกลางที่จะคอยรับแจ้งจากเด็กๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไปอีกด้วย

ปัญหาผ้าอนามัยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแต่กลับไม่มีคนออกมาผลักดัน หรือกล่าวถึง ผู้ที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างๆ ละเลย และทำให้คนในสังคมมองไม่เห็นปัญหา ผ้าอนามัยกลายเป็นสิ่งที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง เอมิกา จอร์จ (Amika George) เด็กผู้หญิงชาวอังกฤษ ที่เป็นผู้เริ่มรณรงค์ #FreePeriods ตั้งแต่อายุ 17 ปี ถึงขั้นกล่าวว่า ถ้าผู้ชายมีประจำเดือน ผ้าอนามัยจะเป็นของฟรีมาตั้งแต่แรก แท้ที่จริงแล้วปัญหาเรื่องผ้าอนามัย หากมีการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ผู้กำหนดนโยบาลมีความเข้าใจถึงปัญหา ย่อมทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงผ้าอนามัยที่มีคุณภาพ สะอาดได้ในราคาถูกได้

#####

อ้างอิง:
https://www.sanook.com/news/8017310/
https://www.vogue.co.uk/miss-vogue/article/period-poverty-coronavirus
http://redboxproject.org/
https://www.freeperiods.org/mission
https://www.bloodygoodperiod.com/