พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องวัยรุ่น หนุนสอนเพศศึกษา ลดปัญหาเยาวชน

พ.ร.บ.ป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องวัยรุ่น บังคับใช้สิ้นเดือนนี้ กรมอนามัยตั้งเป้าลดแม่วัยใสกว่าครึ่ง ด้านเยาวชนขอเพิ่มสัดส่วนเป็นอนุกรรมการ

เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีการแถลงข่าวเรี่อง
“พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น: เด็ก เยาวชนได้ประโยชน์จริงหรือ?”
ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

นายแพทย์กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กรมอนามัย สธ. กล่าวว่า
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม เพื่อคุ้มครองสิทธิของเยาวชน
ให้ได้รับบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ โดยมีการรักษาความลับ เป็นส่วนตัว ได้รับความเสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติ
โดยยุทธศาสตร์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะสนับสนุนส่งเสริมการสอนเพศศึกษา คือทำให้เยาวชนมีความรู้เรื่องเพศ
และพัฒนาระบบบริการด้านสาธารณสุขและสังคม โดยจะพัฒนาระบบการจัดบริการที่ได้มาตรฐาน
มีระบบส่งต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
สนับสนุนด้านทรัพยากรและงบประมาณในการจัดทำการป้องกันและแก้ปัญหาเยาวชน    

นายแพทย์กิตติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ในการคุ้มครองสิทธิของเยาวชน
จะมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ใน ๕ กระทรวงคือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ

“ยุทธศาสตร์นี้มีระยะเวลา ๑๐ ปี เป้าคือเพื่อลดการตั้งครรภ์ของเยาวชนลง โดยสัดส่วนของเยาวชนอายุ ๑๕ – ๑๙ ปี
ให้มีอัตราการตั้งครรภ์ไม่เกิน ๒๕ ต่อ ๑,๐๐๐ คน ขณะที่สัดส่วนในปัจจุบันอยู่ที่ ๔๔.๓ ต่อ ๑,๐๐๐ คน”
ผู้อำนวยการสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้เปรียบเหมือนร่มใหญ่ แม้มี พ.ร.บ.แล้ว แต่ยังต้องจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ ระเบียบปฏิบัติ โดยเสียงสะท้อนหรือความคิดเห็นต่างๆ จะถูกรวบรวมเพื่อนำไปปรับใช้ในแผนปฏิบัติการต่อไป

ด้านนายมณฑล กิจวิทยาพงศ์ ตัวแทนเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพฯ กล่าวว่า
คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้มีสัดส่วนของเยาวชนเพียง ๒ คน เขาต้องการให้มีคณะอนุกรรมการ
ที่เป็นสัดส่วนของเยาวชนเพิ่มขึ้น เพื่อให้เป็นเสียงสะท้อนของเยาวชนอย่างแท้จริง

นางสาวภัทรวดี ใจทอง รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า
จากการระดมความคิดเห็นของเยาวชน ๑๑ เครือข่ายทั่วประเทศ หากจะทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นจริงได้ คือ
๑.ต้องจัดให้มีวิชาเพศศึกษาแยกออกจากวิชาสุขศึกษา และเพิ่มเรื่องทักษะชีวิตให้ใช้ได้จริง โดยครูจำนวนมาก
ในโรงเรียน ยังมีทัศนคติที่ไม่ดีกับนักเรียนที่ตั้งครรภ์ ดังนั้น โรงเรียนควรมีแกนนำเพื่อนช่วยเพื่อน
และมีผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขคอยประเมินการเรียนการสอน

นางสาวภัทรวดี กล่าวอีกว่า ๒.ให้เยาวชนที่ตั้งท้องต้องได้เรียนต่อ หรือไม่ถูกบังคับให้ออกกลางคัน
โดยผู้บริหารต้องไม่มองว่าเด็กท้องเป็นปัญหา อาจจัดอบรมให้ความรู้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง
จัดให้มีห้องให้คำปรึกษา หรือถ้าเยาวชนที่ท้องแล้วไม่พร้อมที่จะเรียน ก็ออกแบบการเรียนให้สอดคล้อง
กับความต้องการของเขา ๓.เยาวชนสามารถใช้บริการคลินิกสุขภาพทางเพศได้อย่างไม่อาย
โดยบุคลากรควรเป็นมิตร มีศูนย์ให้คำปรึกษา และเป็นบริการที่ไม่เสียเงิน ๔.เยาวชนมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ
เมื่อมีปัญหาในการตั้งครรภ์ โดยเพิ่มช่องทางการให้คำปรึกษาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แบบไม่บันทึกประวัติ
และสื่อต้องไม่ประณามเยาวชนที่ตั้งครรภ์ ๕.สนับสนุนให้เยาวชนที่ตั้งครรภ์เลี้ยงลูกได้อย่างมีคุณภาพ

นางสาวอรอนงค์ ไชยแสนทา ตัวแทนเยาวชน ให้ความเห็นว่า
เขาเคยมีเพื่อนที่ท้องในวัยเรียน จึงต้องการให้เพื่อนได้เรียนต่อ เพราะหากไม่มีวุฒิการศึกษาก็จะทำงานไม่ได้
เมื่อทำงานไม่ได้ ก็จะไม่มีอะไรไปเลี้ยงลูก จึงไม่ต้องการให้ผู้ใหญ่กดดันเด็กที่ท้องในวัยเรียน

นายสุพจน์ แย้มสมัย ประธานสภาเด็กและเยาวชน อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ให้ความเห็นว่า
เขาเคยสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนว่าหากท้องไม่พร้อมแล้วจะไปปรึกษาใคร โดยส่วนใหญ่จะปรึกษาเพื่อน
หรือไม่ก็หาทางออกด้วยตัวเอง ซึ่งมีจำนวนน้อยมากที่จะคิดถึงครูหรือผู้ปกครอง ทำให้การแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง 

๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๙