ของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
มาตรการและแนวทางการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน โดยศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดทำขึ้นเพื่อให้สถานศึกษาและสำนักเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง ได้มีข้อมูลความรู้ความเข้าใจและการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงได้กำหนดมาตรการและแนวทางเป็น 4 ด้านดังต่อไปนี้
สำหรับการดูแลให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียนที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน ได้กำหนดแนวทางช่วยเหลือเป็นสองระดับ คือ ระดับสถานศึกษา และ ระดับสำนักเขตพื้นที่การศึกษา ดังต่อไปนี้
ระดับสถานศึกษา
การช่วยเหลือนักเรียนที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน โดยมีตัวชี้วัดคือ ร้อยละของนักเรียนที่ประสบปัญหาได้รับความช่วยเหลือ มีแนวทางการดำเนินงานดังต่อไปนี้
1. จัดบริการปรึกษาแนะนำและทำหน้าที่ผ่อนคลายระบายทุกข์ให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองที่กำลังประสบปัญหา
2. เปิดช่องทางการสื่อสารขอความช่วยเหลืออย่างหลากหลายเพื่อให้นักเรียนได้ส่งสัญญานขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือประสบปัญหาที่อาจนำไปสู่การตั้งครรภ์ในวัยเรียน
3. ประสานความร่วมมือกับแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือนักเรียนตามระดับความรุนแรงของปัญหา
4. สถานศึกษาต้องรีบนำนักเรียนออกจากสถานการณ์ปัญหาให้เร็วที่สุดและดำเนินการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างรวดเร็ว
5. ประสานส่งต่อนักเรียนที่ประสบปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้นักเรียนได้รับการดูแล ช่วยเหลือบำบัด ฟื้นฟูอย่างถูกวิธีและทันเวลา
การให้ความคุ้มครองนักเรียนที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน โดยมีตัวชี้วัดคือ
ร้อยละของนักเรียนที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิและโอกาส มีแนวทางในการดำเนินงานต่อไปนี้
- ดำเนินการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาโดยหลีกเลี่ยงการลงโทษหรือให้นักเรียนออกจากระบบการศึกษา
- สร้างและพัฒนารูปแบบการให้บริการทางการศึกษาให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพของนักเรียนที่กำลังประสบปัญห
- คุ้มครองสิทธิและโอกาสทางการศึกษา โดยใช้กระบวนการประชุมสหวิชาชีพ เพื่อพิจารณาและคุ้มครองสิทธิตามสมควรแก่กรณี
- จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างต้นทุนชีวิตให้แก่นักเรียน ทั้งกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียน
ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
สำนักงานพื้นที่การศึกษา ให้จัดมาตรการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียน โดยมีตัวชี้วัดคือ ร้อยละของสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน และมีแนวทางดังต่อไปนี้
- สนับสนุนให้สถานศึกษา มีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน
- ส่งเสริมให้สถานศึกษา ดำเนินการจัดการศึกษาทางเลือก (Alternative Education Program)
- เป็นที่บริการปรึกษาแนะนำและช่วยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือสถานศึกษา
- เร่งติดตามและรายงานข้อมูลผลการให้การดูแลช่วยเหลือและคุ้มครองนักเรียนที่ประสบปัญหาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง