มาทำความรู้จักกับ PEP และ PrEP กันเถอะ!

มาทำความรู้จักกับ PEP และ PrEP กันเถอะ!

Post exposure prophylaxis (PEP) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ยาต้านฉุกเฉิน คือ ยาที่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อ HIV หลังจากการได้รับเชื้อมาแล้วเช่น หลังจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน โดยยาชนิดนี้ควรกินทันที ภายใน 72 ชั่วโมง หลังจากมีความเสี่ยงได้รับเชื้อและกินต่อเนื่องเป็นเวลา 28 วัน

Pre exposure prophylaxis (PrEP) หรือ ยาป้องกันเชื้อ HIV ซึ่งยาชนิดนี้จะต่างกับ PEP ตรงที่ ใช้ในผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบ และกินก่อนจะมีโอกาสสัมผัสเชื้อ โดยกินต่อเนื่องไปจนหมดความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่น แพทย์ที่จะต้องผ่าตัดให้ผู้ติดเชื้อ HIV โดยยาชนิดนี้ควรกินเป็นประจำทุกวัน วันละ 1 ครั้งและกินไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดความเสี่ยง นอกจากนี้ ควรเข้ารับการตรวจเลือดทุก ๆ สามเดือน เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยา

ผลข้างเคียงจากการกินยา
สำหรับยา PEP และ PrEP เป็นยาที่มีผลข้างเคียงน้อย โดยอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและเวียนหัวในช่วงแรกที่เริ่มกินและอาการจะค่อย ๆ หายไปหลังจาก 1 สัปดาห์ นอกจากนี้การกินยาไม่ครบตามโดสที่แพทย์กำหนดอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง

ใครบ้างที่ควรจะกินยานี้

  • ผู้ให้บริการทางเพศ (Sex Workers)
  • ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดนไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยหรือถุงยางอนามัยขาด
  • ผู้ใช้สารเสพติดแบบที่ฉีดเข้าเส้น
  • บุคคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง

รับยานี้ได้ที่ไหนบ้าง
ยา PEP และ PrEP สามารถรับได้ที่

  • โรงพยาบาลรัฐและเอกชนทุกแห่ง
  • คลินิคโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่น คลินิกนิรนามของสภากาชาด
  • สั่งยาผ่านระบบออนไลน์ผ่านคลินิกต่างๆ (สำหรับผู้ป่วยที่เคยติดต่อรับยาจากสถานที่นั้นๆแล้ว)

โดยปกติแล้วก่อนได้รับยาชนิดนี้ แพทย์จะส่งตรวจเลือดเพื่อดูว่าติดเชื้อ HIV หรือไม่เพื่อจะได้ให้การรักษาที่ถูกต้อง ยาชนิดนี้จึงไม่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป เพราะต้องผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์

ข้อควรระวังอื่นๆ
ยา PEP และ PrEP ไม่สามารถป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เช่น หนองใน, ซิฟิลลิส นอกจากนี้ยาชนิดนี้ไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ผู้ที่ได้รับยาชนิดนี้ควรกินยาให้ครบและตรวจเลือดทุก ๆ 3 เดือนด้วย

สรุป
สรุปง่าย ๆ ว่า PEP กินหลังได้รับเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง ส่วน PrEP กินก่อนได้รับเชื้อเพื่อป้องกันและกินต่อไปเรื่อย ๆ จนหมดความเสี่ยง การกินยาควรกินให้ครบโดสตามแพทย์สั่งเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

 

อ้างอิง

  1. PrEP กับ PEP คืออะไร ทำความเข้าใจก่อนใช้ In Chulalongkorn Hospital. Retrieved 16th April 2021,from  https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/prep-กับ-pep-คืออะไร-ทำความเข้าใ/
  2. ยาต้านไวรัส HIV แบบป้องกันและฉุกเฉิน คืออะไร รับได้ที่ไหน. (21 October 2019) In Bangkok Safe Clinic. Retrieved 16th April 2021,from https://www.bangkoksafeclinic.com/th/arv/

จัดทำโดย
สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand)

Content Creator
นาย วรท วิไลนาม นักศึกษาเเพทย์ชั้นปีที่ 2 โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Editor
นางสาว มินนี่ ผดุงเกียรติสกุล นักศึกษาเเพทย์ชั้นปีที่ 2 โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Infographic
นาย ภูดิศ บูรณะชัยทวี  นิสิตเเพทย์ชั้นปีที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย