ยุติการตั้งครรภ์ด้วยการใช้ยาอย่างปลอดภัย:อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับ ‘ผู้หญิงท้องไม่พร้อม’

การยุติการตั้งครรภ์โดยการทำแท้งเถื่อน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ได้รับบาดเจ็บ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย จากรายงานสถานการณ์ และสถิติการทำแท้งในประเทศไทย พบว่ามีการทำแท้งประมาณปีละ 300,000 คน และผู้หญิงประมาณ 300 คน ต่อ 100,000 คน ได้รับอันตรายจากการทำแท้ง ในปี พ.ศ. 2552 ประมาณการณ์ว่า มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้ง จำนวน 123.3 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมความสูญเสียทางจิตใจ

นอกจากนี้ เครือข่ายท้องไม่พร้อมร่วมกับเครือข่ายแพทย์อาสา R-SA เผยข้อมูลเชิงตัวเลขว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ ของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ที่ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ หลายกรณี เกิดจากการป้องกันที่ผิดพลาดและไม่พร้อมมีบุตร บางกรณีอาจเกิดจากฝ่ายชายไม่ยอมป้องกันและไม่รับผิดชอบลูกในท้อง หรือปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถดูแลสมาชิกใหม่ได้อย่างมีคุณภาพ การยุติการตั้งครรภ์ด้วยการใช้ยาในผู้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์ อย่างปลอดภัย จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ควรนำมาศึกษาหรือพูดคุยกันอย่างจริงจังเพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจ เรื่องสิทธิในชีวิตและร่างกายของผู้หญิงว่า ผู้หญิงควรจะมีสิทธิเลือกว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของตนเองได้หรือไม่

การทำแท้งภายใต้ระบบกฎหมายไทย

ตามกฎหมายไทย การยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้งเป็นความผิดทางอาญา หญิงที่ทำให้ตัวเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้แท้งลูก มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะเดียวกัน ผู้ทำให้หญิงแท้งลูกโดยความยินยอมก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 302 ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินห้าปีปรับไม่เกิน10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากการทำแท้งเป็นเหตุให้หญิงได้รับอันตรายสาหัส ผู้ทำให้หญิงแท้งลูกมีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากการทำแท้งเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้ทำให้หญิงแท้งต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ก็ยกเว้นความผิดของมาตราหญิงที่ทำแท้งและผู้ทำแท้งเอาไว้ ในกรณีผู้ทำแท้งเป็นแพทย์ผู้มีใบอนุญาต และเป็นการทำแท้งด้วยความจำเป็นด้านสุขภาพของหญิง กรณีที่หญิงตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืนกระทำชำเรา กรณีที่หญิงคนที่ตั้งครรภ์อายุไม่ถึง 15 ปี รวมทั้งกรณีที่การตั้งครรภ์เกิดจากการถูกล่อลวง บังคับ ข่มขู่ เพื่อทำอนาจารสนองความใคร่

นอกจากประมวลกฎหมายอาญา ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ก็ระบุเงื่อนไขที่แพทย์ทำแท้งให้หญิงโดยไม่มีความผิดไว้ว่า นอกจากการทำแท้งที่เป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 (1) และ (2) แล้ว ในกรณีที่หญิงมีปัญหาสุขภาพทางจิต หรือหญิงมีความเครียดอย่างรุนแรงเพราะพบว่าทรกในครรภ์มีหรือมีความเสี่ยงที่จะพิการอย่างรุนแรง หรือเป็นหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดต่อทางพันธุกรรมอย่างรุนแรง ก็สามารถทำแท้งให้ได้โดยไม่ผิดกฎหมายทั้งแพทย์ผู้ทำแท้งและหญิงที่ถูกทำให้แท้ง

การยุติการตั้งครรภ์ ความรับผิดชอบ “ร่วมกัน” ที่ฝ่ายหญิงมักต้องแบกรับฝ่ายเดียว
ความเข้าใจทั่วไป การยุติการตั้งครรภ์ไม่เพียงเป็นสิ่งผิดในมิติของกฎหมาย หากแต่ยังถูกมองว่าเป็นสิ่งผิดในมิติทางศีลธรรมด้วย เวลามีข่าวหญิงยุติการตั้งครรภ์ สิ่งที่ตามมามักจะเป็นคำก่นด่าประนามทำนองว่าหญิงคนนั้น เป็น “แม่ใจยักษ์” “แม่ใจแตก” “แม่ทำบาป” ซึ่งกลายเป็นมายาคติที่ควบคุมพฤติกรรมของสังคมไปแล้ว นอกจากนี้ รายการเล่าเรื่อง “ผี” หรือแก้กรรม ก็มักมีการหยิบยกเรื่องหญิงยุติการตั้งครรภ์แล้วถูกวิญญาณเด็กติดตามมาบอกเล่าพร้อมแฝงข้อคิดในทำนอง “การทำแท้งเป็นบาป”

ท่ามกลางเสียงก่นด่าประนามหรือสั่งสอน เหตุผลที่ทำให้หญิงคนหนึ่งยอมที่จะเผชิญความเจ็บปวดทั้งที่เกิดขึ้นกับร่างกายในระหว่างยุติการตั้งครรภ์หรือทางจิตใจที่ต้องทำลาย ‘ส่วนหนึ่ง’ ของชีวิต ก็มีความซับซ้อนบีบคั้นแตกต่างกันไป หญิงไทยจำนวนหนึ่งที่เลือกยุติการตั้งครรภ์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเหตุผลที่ต้องยุติการตั้งครรภ์ไว้บนเว็บไซต์ women on web ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมประสบการณ์ของหญิงที่ตัดสินยุติการตั้งครรภ์โดยการใช้ยาจากทั่วทุกมุมโลก

โดยเหตุผลที่ทำให้หญิงไทยเหล่านั้นตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ ได้แก่ ความคาดหวังทางสังคมและครอบครัวซึ่งมองว่าการท้องระหว่างเรียนเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หลายคนตัดสินใจและเข้าสู่กระบวนการยุติการตั้งครรภ์อย่างโดดเดี่ยวเพราะฝ่ายชายปฏิเสธความรับผิดชอบ เช่น

“พี” (นามสมมติ) แชร์ประสบการณ์ของเธอบนเว็บไซต์ว่า เวลามีเพศสัมพันธ์แฟนของเธอไม่ยอมป้องกัน หลังจากเธอตั้งท้องแฟนของเธอก็ปัดความรับผิดชอบไม่ขอรับรู้เรื่องใดๆ “พี” ซึ่งกำลังศึกษาอยู่และถูกกดดันด้วยสถานภาพของครอบครัวที่มีหน้ามีตาในสังคม จึงตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์และเข้าสู่กระบวนการเพียงลำพัง “ฉันเป็นหนึ่งในหญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม เหตุผลคือ การเรียน และหน้าตาของครอบครัวซึ่งค่อนข้างมีหน้าตาในสังคม แม้กระทั้งพ่อแม่ฉัน ยังเล่าให้ฟังไม่ได้”

“หญิง” (นามสมมติ) ผู้ผ่านประสบการณ์ยุติการตั้งครรภ์อีกคนหนึ่งเล่าว่า เธอเคยถูกเพื่อนข่มขืนโดยไม่มีการป้องกัน และเคยมีเพศสัมพันธ์กับแฟนขณะที่เธอเมา หลังจากนั้นประมาณสองสัปดาห์ เธอรู้สึกอ่อนเพลีย เวียนหัว คลื่นไส้ เมื่อซื้อที่ตรวจครรภ์มาตรวจก็พบว่าตัวเองท้อง ท่ามกลางความสับสนและความเคว้งคว้างจากการถูกแฟนบอกปัดความรับผิดชอบ เธอจึงตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ “ไม่รู้ใครเป็นพ่อเด็ก สับสนในชีวิตตัวเอง และไม่อยากให้พ่อแม่ผิดหวังในตัวเรา และสุดท้ายยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนชะตาชีวิตตัวเอง”

การยุติการตั้งครรภ์ด้วยการใช้ยา ทางเลือกหนึ่งที่ถูกควรรับฟัง
สำหรับหญิงที่เผชิญปัญหาท้องไม่พร้อมและตัดสินใจที่จะยุติการตั้งครรภ์ ทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้านแต่เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง จึงต้องอยู่ในความดูแลของคณะแพทย์และพยาบาล นั่นคือ วิธีการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ ในอายุครรภ์น้อยกว่า 9 สัปดาห์

โดยยายุติการตั้งครรภ์ มีชื่อว่า ไมเฟฟริสโตน (mifepristone) และไมโซพรอสทอล (misoprostol) ปัจจุบันมียารวมเม็ดเรียกว่า เมทตาบอล ซึ่งสูตรของยาดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนเป็นบัญชียาหลักขององค์การอนามัย (World Health Organization – WHO) สามารถใช้ในอายุครรภ์ น้อยกว่า 9 สัปดาห์ได้อย่างปลอดภัย สำหรับประเทศไทย สูตรยาดังกล่าวก็ได้ขึ้นทะเบียนยาสูตร MeFi-Miso เมื่อเดือนธันวาคม 2557 และล่าสุดเดือนมิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา MeFi-Miso ได้ขึ้นบัญชียาหลัก จ (1 ) ซึ่งหมายความว่า คนทั่วไปสามารถเข้าถึงยา ไมเฟฟริสโตน (mifepristone) ไมโซพรอสทอล (misoprostol) และเมทตาบอลได้ แต่ต้องอยู่ในโครงการพิเศษของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วย งานรัฐ ที่มีการติดตามประเมินการใช้ยาตามโครงการปัจจุบันมีเครือข่าย โรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงคลินิก จำนวน 85 แห่งทั่วประเทศไทย ที่หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์สามารถเข้าถึงได้ ซึ่ง โดยทั่วไปแล้ว ยาดังกล่าว ไม่มีการจำหน่ายตามร้านขายยา หรือโรงพยาบาลและคลินิกที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ 1663 คือ สายด่วนปรึกษาท้องไม่พร้อมและเอดส์แบบนิรนาม ซึ่งจะเก็บข้อมูลของผู้มาติดต่อรับบริการขอคำปรึกษาเป็นความลับ โดย 1663 ทำงานร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮ้ลท์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และภาคี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ให้บริการผู้หญิงที่ประสบปัญหา “ท้องไม่พร้อม” สามารถโทรศัพท์เข้ามาขอรับคำปรึกษาได้ สำหรับการให้บริการปรึกษาท้องไม่พร้อมและเอดส์ ล่าสุดเมื่อปี 2557 ยอดผู้ใช้บริการขอรับคำปรึกษามีจำนวนประมาณ 22,866 คน กล่าวว่า

“สายด่วน 1663 ไม่สนับสนุนการทำแท้งด้วยต่อเอง เพราะหลายคนซื้อยามาทำเองแล้วทำไม่ถูกวิธี ใช้ยามากหรือน้อยไปไม่เหมาะสมกับอายุครรภ์ เกิดผลกระทบตามมามากมาย ดังนั้น 1663 สนับสนุนให้คนที่มีปัญหาท้องไม่พร้อมโทรมาปรึกษา และหากต้องการยุติการตั้งครรภ์ 1663 พร้อมส่งต่อไปยังเครือข่ายแพทย์ซึ่งเรารับรองความปลอดภัย”

สำหรับวิธีการยุติการตั้งครรภ์มี 2 วิธี คือการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ (เรียกว่า เครื่องดูดสูญญากาศ) และการใช้ยา (ปัจจุบันมียารวมเม็ดเรียกว่า เมทตาบอล) ซึ่งทั้งสองวิธีเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกยอมรับว่า มีความปลอดภัยสูงและทำแท้งได้สำเร็จ โดยการใช้เครื่องมือ สามารถใช้ได้ในอายุครรภ์ที่ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ส่วนการใช้ยา สามารถใช้ได้จนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ แต่อายุครรภ์น้อยกว่า 9 สัปดาห์จะมีความปลอดภัยมากกว่า นอกจากนี้ หากมีอายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ขึ้นไป ก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ ทางการแพทย์เรียกว่า เร่งคลอด

ในเกณฑ์ของ 1663 การใช้ยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ อยู่ในราคาเฉลี่ย 3,900-5,000 บาท โดยผู้ที่มีความประสงค์จะต้องไปยังสถานที่ยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตามที่ 1663 ได้จัดเตรียมไว้ สำหรับผู้ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถโทรไปที่สายด่วนได้ โดยการสนทนาจะถูกเก็บเป็นความลับและไม่มีการเปิดเผยตัวตน

“การตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ เป็นสิทธิของเค้า เพราะครรภ์ที่เค้าต้องอุ้ม 9 เดือน เป็นของเค้าเอง สำหรับ 1663 ทางการแพทย์ ชีวิตของหญิง คือ ความปลอดภัย ” อาสาสมัครของสายด่วน 1663 ทิ้งท้าย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น 1663 ไม่ได้เสนอการยุติการตั้งครรภ์เป็นเพียงทางเลือกเดียว สำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ยังมีทางเลือกที่หญิงจะตั้งครรภ์ต่อ ดังนั้นระหว่างรอการคลอด บริการด้านความจำเป็นทั้งที่พักพิง และการรองรับหลังคลอดจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดย 1663 มีสถานที่ให้หญิงและเด็กพักอาศัยระหว่างตั้งครรภ์ และหลังตั้งครรภ์ โดยมีคณะแพทย์และพยาบาลคอยดูแล นอกจากนี้ ยังมีสถานที่รับเลี้ยงเด็ก หากหญิงที่ตั้งไม่พร้อม มีกำหนดคลอดออกมาแล้ว ไม่สามารถรับผิดชอบชีวิตเด็กให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

ที่มา : https://ilaw.or.th/node/4297