ลมหายใจ : จิ๋มบันเทิง

“หมอ หนูถามหน่อยเถอะ หมอดูจิ๋มของหนูบ่อยๆเนี่ย ไม่เบื่อบ้างเหรอ”

ผมยิ้มแทนคำตอบ

หลายๆครั้ง ผมเลือกที่จะใช้อวัจนภาษาตอบออกไปแทนคำพูด ถ้าผู้ฟังยังคงมองหน้าเรา

เอิ่ม….และกรุณาอย่าเพิ่งสงสัย ว่าผมจะตอบเธอว่าอย่างไร

……………………….

เมื่อคืนผมได้มีโอกาสคุยกับคนไข้คนหนึ่งซึ่งผมรู้จักพวกเธอเกือบทั้งครอบครัว ตั้งแต่แม่ไปจนถึงสามสาววัยรุ่นที่คลานตามกันออกมา

“เจ้าหัวแดงน้องสาวเธอเป็นไงบ้าง” ผมถามถึงเจ้าคนเล็กที่เพิ่งเข้าไปเรียนในชั้นมหาวิทยาลัย

“ก็ดูมันสดชื่นดีนะคะหมอ ได้เรียนวิชาที่ถนัดของเค้าเลย” คนเป็นพี่ตอบมา

“แล้วเจ้าลูกศิษย์ของหมอล่ะ มันอยู่ปีไหนแล้ว”

“ปี ๔ แล้วค่ะ เค้าบอกว่าเครียดและเหนื่อย” คนเป็นพี่ยังคงรายงานต่อไป

“แล้วเค้าชอบเรียนหมอจริงๆมั้ยล่ะ” นั่นคงเป็นชุดคำถามที่ผมใช้ยิงคู่ต่อสู้ตรงหน้าอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะกับเด็กยุคใหม่

คนเป็นพี่สาวยิ้มให้ผมเป็นคำตอบพร้อมกับการส่ายหน้า

บางครั้งผมก็รู้สึกสงสาร บางครั้งผมก็รู้สึกสมน้ำหน้า และบางครั้งผมก็ไม่รู้จะรู้สึกอย่างไร กับคำตอบแบบนี้ซึ่งมันดูจะคล้ายๆกันในลูกศิษย์อีกหลายๆคน

จะไม่ให้ผมงงในความรู้สึกตัวเองแบบนี้ไม่ได้ยังไง ในเมื่อเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้ ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนชั้น ม.๖ ที่สอบเข้ามาเรียนหมอได้จำนวน ๓ คน (เอิ่ม..เค้าให้ผมสัมภาษณ์ ๓ คนนะครับ ไม่ใช่เด็กสอบติดเพียง ๓ คน)

๒ คน เป็นเด็กปั้นโครงการวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนอะไรวะ “วมว.” มั้ย ถ้าจำไม่ผิด และอีก ๑ คน เป็นเด็กห้องเรียนปกติ

“ผมถามจริงๆเถอะนะ หนูอยากเรียนอะไร” ผมถามออกมา หลังจากที่คุยมาได้ระยะหนึ่งและสังเกตว่า เจ้าหนูนั่นมันดูเซ็งๆ มันคงเบื่อที่อาจารย์หมอรุ่นหนุ่มปลายๆหัวหงอกถามอะไรตั้งมากมายที่เธอตอบไม่ได้เลย

“เธอรู้มั้ย สงครามที่แถบตะวันออกกลางตอนนี้ ใครรบกับใคร”

“สัตว์สงวนชนิดใหม่ที่อยู่ในทะเลคืออะไร”

“เอาใหม่ ผมอาจจะถามผิด สัตว์ทะเลที่ถูกประกาศให้เป็นสัตว์สงวนล่าสุดคืออะไร”

“ถามหน่อย วันๆหนูทำอะไรบ้าง”

คำตอบนี้เธอตอบได้แฮะ

เรียนเช้าถึงเย็น เรียนต่อจนถึงค่ำเพราะเป็นห้องเรียนพิเศษ อ่านหนังสือต่อจนดึก (อันที่จริงทำการบ้านด้วย และเยอะมากเสียด้วย) วันเสาร์และอาทิตย์ก็เรียนพิเศษเต็มวัน

“แล้วหนูอยากเรียนอะไรล่ะลูก” ถามไปถามมา การสอบสัมภาษณ์ก็กลายเป็นการคุยระหว่างพ่อกับลูกไปเสียแล้ว

“สถาปัตย์ค่ะ หนูอยากเป็นสถาปนิก หนูชอบวาดรูป หนูชอบออกแบบ” พร้อมๆกับคำตอบ ผมมองเข้าไปในแววตาของเจ้าหนูคนนั้น และบอกไม่ถูก ว่าเธอกำลังรู้สึกอย่างไร

“แล้วนี่เธอจะเรียนหมอไหวเหรอ”

“น่าจะไหวค่ะ เรียนให้จบน่ะ เรียนได้อยู่แล้ว”

ผมเองก็เชื่อตามนั้นนะครับ ว่าเธอเรียนได้จนจบนั่นแหละ เพราะเด็กเหล่านี้เกิดมาเพื่อเรียนกันอยู่แล้ว พวกเขาถูกฝึกอย่างหนักเพื่อเรียนให้ได้ สอบให้ผ่าน ผู้กล้าทั้งหลายเหล่านี้ผ่านมาหลายสมรภูมิ ได้รับการประกาศเกียรติภูมิตามผนังรั้วโรงเรียนมามากมาย บางโรงเรียนสามารถฝึกผู้กล้าได้เป็นจำนวนมาก จนต้องสร้างผนังโรงเรียนเพิ่มเพื่อติดรูปประกาศด้วยซ้ำ

วันนั้น เด็กห้องพิเศษที่ผมสัมภาษณ์ทั้ง ๒ คน ตอบเหมือนกัน ว่าเธออยากเป็นสถาปนิกส์ (ตั้งใจเติม ส์ เพราะอยากเป็นทั้ง ๒ คน) ซึ่งต่างจากอีกคนหนึ่ง บุรุษมาดเซอร์ผู้เรียนห้องปกติ ไม่ยอมเรียนพิเศษ และเขาอยากเป็นหมอมาตั้งแต่เด็กๆ เขาเข้ามาสอบสัมภาษณ์ด้วยแววตาที่แตกต่างกัน

ผมคิดถึงตัวเองเมื่อครั้งตัดสินใจเลือกเรียนหมอ

ผมไม่กล้าคิดว่าตัวเองจะเรียนหมอ เพราะไม่ใช่คนที่เรียนเก่งที่สุดในห้อง

สมัยก่อนนู้นมีสถาบันที่มีคณะแพทย์เพียง ๘ แห่ง คนที่สอบเข้าได้ก็คือพวกพี่ๆที่เป็นเทพประจำรุ่นทั้งนั้น แต่ที่ผมเลือกเรียนหมอ ก็เพราะผมอยากเป็นหมอมาก และโปรดอย่าถามต่อ ว่าทำไมจึงอยากเป็นหมอ เพราะมันตอบไม่ได้จริงๆ อยากก็คืออยาก แค่นั้น

และทันทีที่ผลสอบประกาศออกมาว่าผมติดคณะแพทย์ เพื่อนๆไชโยโห่ร้อง (แทนที่จะเป็นพ่อกับแม่นะ ไม่สิ ก็เพราะตอนประกาศผล สมัยก่อนเค้าประกาศทางทีวี และพวกเราก็ไปกระจุกตัวกันที่บ้านพักของเพื่อนหลังหนึ่งเพื่อลุ้นร่วมกัน มันฟินกว่าอยู่กับพ่อแม่แน่ๆสินะ)

“ไอ้แป๊ะติดหมอ มันต้องเป็นหมอสูติแน่ๆ” ครูหยูเพื่อนผมตะโกนออกมา

โถ..เมื่อมานั่งย้อนนึกไปถึงตอนนั้น ผมแทบจะนึกไม่ออกเสียแล้ว ว่าทำไมเพื่อนๆจึงพูดออกมาเช่นนั้น ผมออกจะเป็นเด็กเรียบร้อยและเป็นที่รักของคุณครูส่วนใหญ่

จากนั้นมา…
ผมเฝ้ารอการมาเรียนมหาวิทยาลัยอย่างใจจดใจจ่อ

ผมเฝ้ารอการเรียนชั้นปี ๒

ผมเฝ้ารอการเรียนวิชาผ่าศพ

 

ผมเฝ้ารอเรียนผ่าในช่วงอวัยวะเพศ อาจารย์ใหญ่ของผมเป็นผู้ชาย และในช่วงนั้น ผมเดินไปหาเพื่อนอีกคนเพื่อขอสับเปลี่ยนโต๊ะเพียงช่วงหนึ่ง ผมขอผ่าอาจารย์ผู้หญิง

ผมเฝ้ารอการขึ้นชั้นคลินิก

ผมเฝ้ารอการมีคนไข้เป็นของตัวเอง

ผมเฝ้ารอการขึ้นไปดูคนไข้ก่อนพี่ๆแพทย์ใช้ทุน เฝ้ารอการรายงานพี่ว่าแผลของคนไข้เป็นเช่นไร อาการคนไข้เป็นอย่างไร โดยแลกกับการตื่นเช้าและขึ้นไปราวนด์ก่อน ๖โมงเช้าเกือบทุกวัน

ผมเฝ้ารอการขึ้นวอร์ดสูติฯมาก แต่รุ่นผม เค้าจัดการสอนสูตินรีเวชในชั้นปี ๕

ผมจึงเฝ้ารอการขึ้นปี ๕

ผมเฝ้ารอการเป็นคนทำคลอดคนแรกของชั้นปี แต่สวรรค์ก็จัดให้ผมอยู่วอร์ดสูติเป็นกองสุดท้ายของปี ๕

แต่ไม่เป็นไร เมื่อทำคลอดคนแรกไม่ได้ ก็ขอเป็นคนทำคลอดรายสุดท้ายของชั้นปีก็ได้

และผมก็ได้ทำคลอดผู้ป่วยรายสุดท้ายจริงๆ

ผมยังคงเฝ้ารอการขึ้นชั้นปี ๖ หรือ extern เพราะว่านั่นคือแพทย์ฝึกหัดในยุคนั้น ลายเซ็นของเราสามารถใช้รักษาคนไข้ได้จริงๆ

ก็เป็นอันว่า ตลอดระยะเวลา ๖ ปีของการเรียนแพทย์ของผม มีแต่การเฝ้ารอที่จะทำนู่นทำนี่ตลอดเวลา ซึ่งจะมองไป มันคือความสุขในแต่ละขั้นตอนจริงๆ

ผมมีความสุขมากตลอดเวลาการเรียนแพทย์ ๖ ปี

อันที่จริงก็มีบ้างที่รู้สึกไม่เป็นสุข แต่นั่นก็คือชีวิตจริงๆนั่นเอง

ผมดึงตัวเองกลับมาอยู่ในปัจจุบัน

สมัยนี้ จะมีนักเรียนสักกี่คน ที่เลือกมาเรียนหมอด้วยเพราะเขาอยากเป็นหมอจริงๆ ไม่ใช่เพียงเพราะเขาเรียนเก่ง หรือได้เรียนในห้องเรียนชั้นพิเศษ โครงการผลิตหมอ โครงการเป็นเลิศชนิดต่างๆ SME SMP EP SMA SOAP S-HA อะไรอีกวะ

และพวกเขาก็หลุดเข้ามาในคณะแพทย์ได้ด้วยความบังเอิญ จริงๆ

“ฝากไปบอกเจ้าลูกศิษย์ฉันด้วยนะ ว่าฉันเฝ้ารอการขึ้นวอร์ดสูติของเธออยู่ และจะรับน้องให้หายเครียด” เจ้าคนที่เป็นพี่สาวพยักหน้าและหัวเราะ เธอบอกผมก่อนจะจากกันไปว่า

“น้องมันเล่าให้หนูฟังว่า อาจารย์ lecture เรื่อง sex ได้สนุกมาก มันคือ lecture ในตำนาน”

………………………………….

ผมยิ้มให้เจ้าของคำถาม และลงมือตรวจร่างกายเธอตามปกติ และนั่นก็หมายถึงการตรวจภายในเพื่อหาว่ามีรอยโรคภายในอวัยวะเพศของเธอหรือไม่

โดยปกติ เหล่าบรรดาผู้ขายบริการทางเพศส่วนหนึ่งมีหน้าที่ต้องเข้ามารับการตรวจจากผมอย่างสม่ำเสมอ

มันจึงเป็นที่มาของคำถามที่ออกจะดูแปลกไปสักหน่อย

แต่จะว่าไป มันก็คงจะไม่ได้แปลกประหลาดอะไรมากมายนัก หากคนถามคือ “เธอ” และคนถูกถามคือ “ผม”

“ฉันจะเบื่อได้อย่างไร เธออย่าลืมสิ นี่มันหน้าที่ของฉันนี่นา
เอิ่ม…มันคือลมหายใจของฉันเชียวล่ะ”
คุณว่ามันเว่อร์มั้ย

ธนพันธ์ ชูบุญตื่นมาทุกวันตอนนี้ก็คือการใช้ชีวิตนั่นเอง “ลมหายใจ”
๖ ตค ๖๐ (๖/๑๐/๖๐ เลขสวยดี)