วันแม่ ที่ไม่มีแม่
“เราเกิดจากกระบอกไม้ไผ่” คือคำที่ครูบอกกับเพื่อนสนิทผมให้บอกใครต่อใคร เมื่อถูกถามว่า
“วันนี้วันแม่ แล้วแม่ไปไหน” “ทำไมให้ป้ามาแทน”
“ฉันเกิดจากกระบอกไม้ไผ่” เป็นคำอธิบายที่ไม่สามารถเข้าใจได้ แต่ครูคงไม่รู้ว่าจะแนะนำเพื่อนให้พูดยังไง เพราะมันเป็นเรื่องไม่ง่าย อาจเป็นเรื่องที่อ่อนไหว โดยเฉพาะในวันที่ทุกคน มีแม่นั่งอยู่บนเก้าอี้พลาสติกสีฟ้า รอคอยการเอาดอกมะลิที่ตั้งใจเลือกจากตลาดมอบให้ผู้เป็นแม่และบอก “รัก ขอบคุณ” ด้วยความรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณ
ในวันที่หลายคนให้ความสำคัญกับ “ความเป็นแม่” แต่สำหรับเด็กที่ไม่มีแม่ อาจเป็นอีกวันที่แย่สำหรับเขา
จะบอกลูกอย่างไรในวันที่ไม่มีแม่
บอกตามพัฒนาการของลูก หากเด็กที่สูญเสียแม่ยังมีอายุอยู่ในช่วงก่อน 3-4 ขวบ การที่แม่หายไปจากชีวิต คือการหายไปของวัตถุชิ้นสำคัญ บอกว่าไม่อยู่กับเราแล้ว เป็นการช่วยให้เด็กสามารถเข้าใจได้โดยไม่ต้องลงรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุผลของการไม่อยู่มากนัก เนื่องจากเด็กไม่สามาถเข้าใจและอาจรู้สึกสับสน ทั้งนี้เพื่อการช่วยให้เด็กสามารถยอมรับกับความเสียใจอย่างสงบ ผู้พูดต้องสำรวจตนเองก่อนว่ากำลังรู้สึกอย่างไร และความรู้สึกนั้นส่งผลต่อภาษากายของเราอย่างไร หากร้อนรน หรือกังวลมากเกินไป เด็กอาจรู้สึกไม่ปลอดภัยและแปลว่าความหมายว่าการหายไปของแม่ของหายนะ
หากเด็กโตขึ้นมาประมาณ 7-9 ปี ที่พอเข้าใจความหมายเชิงนามธรรม ค่อยๆ เล่าเรื่องราวที่มีความหมายเพิ่มเติม อาทิ แม่ไปทำงานไกลกลับมาเจอเราบ่อยๆ ไม่ได้ เป็นต้น
บอกเหตุผลตามความเป็นจริง แบบไม่ลงรายละเอียด แม้ในเด็กโตการจะเข้าใจเหตุผลที่ซับซ้อน หรือรายละเอียดปลีกย่อยมากเกินไปของการไม่มีแม่ อาจไม่เป็นประโยชน์ มิหนำซ้ำอาจเป็นโทษหากผู้อธิบายใส่มุมมองที่เป็นอคติ หรือความรู้สึกมากเกินไปในขณะที่อธิบายเหตุผล เด็กที่รับฟังอาจมีความเห็นที่คล้อยตามมากเกินไปจนสะสมเป็นความรู้สึกเศร้า เสียใจ หรืออาจมีความเห็นต่างอย่างสุดขั้วและสะสมเป็นความรู้สึกโกรธ ไม่พอใจ และพยายามมากขึ้นที่จะหาวิธีการในการอธิบายเหตุผลด้วยตนเอง
อาทิ หากเด็กต้องไม่มีแม่เนื่องจากความเจ็บป่วย พูดอธิบายอาจเล่าเกี่ยวกับความเจ็บป่วยนั้น การดูแลที่ผ่านมา และสิ่งที่เชื่อว่าแม่คาดหวังหลังการจากไป มากกว่าพยายามเล่าเกี่ยวกับความทุกข์ทรมานของความเจ็บป่วยเพื่อกระตุ้นให้เด็กนำเอาความทุกข์นั้นไปผลักดันให้ตนเองเติบโต
หรือหากต้องจากลาเพราะผู้ใหญ่ไม่สามารถสานต่อความสัมพันธ์กันได้ ก็ไม่ต้องลงรายละเอียดถึงปัญหา สถานการณ์ของความขัดแย้ง หรือแม้กระทั่งความคิดเห็นต่อความสัมพันธ์และความคิดเห็นต่อตัวตนของอีกฝ่าย อย่างมากก็เพื่อปกป้องสิทธิ์ในภาพพจน์ของผู้เป็นแม่ อย่างน้อยก็เพื่อเคารพสิทธิ์ของลูกที่ควรได้รับโอกาสมีมุมมองต่อแม่ของตนด้วยตัวเอง
เด็กย่อมใช้เวลาในการยอมรับความสูญเสีย แม้ผู้ใหญ่จะพยายามเข้าใจธรรมชาติตามพัฒนาการ พยายามมากในการจัดการอารมณ์ และสื่อสารอย่างใจเย็น ก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าเด็กจะสามารถสงบอารมณ์ต่อความสูญเสียได้ในทันที เพราะการสูญเสียบุคคลเพียงหนึ่งเดียวที่ให้ใครมาทดแทนก็ไม่อาจเหมือน ย่อมส่งผลต่อจิตใจ เด็กอาจแสดงออกมาด้วยความโกรธที่ซ่อนเอาไว้ด้วยความกลัวและเสียใจ หรือปกปิด เก็บงำทุกอารมณ์ไว้ด้วยการนิ่งเงียบแต่สื่อสารออกไปด้วยภาษากายและภาษาของการกระทำ อาทิ สนุกสนานน้อยลงกับกิจกรรมที่ชื่นชอบ ทานอาหารมากขึ้นหรือน้อยลง ทั้งยังอาจกระทบกับการนอน ละเมอ ฝันร้าย หรืออาจไม่แสดงออกชัดนักในขณะที่อยู่ในบ้าน แต่กลับพบความไม่สดใสและขาดสมาธิเมื่ออยู่ในโรงเรียน
โปรดให้เวลากับการสูญเสีย และสังเกตความเปลี่ยนแปลง คอยสนับสนุนให้เขาดีขึ้น โดยไม่เข้าไปรุกล้ำสิ่งที่เขาคิด รู้สึกมากเกินไป หรือแสดงออกเพื่อการช่วยเหลือที่มากเกินไป เพราะแม้การสูญเสียคือสิ่งที่กระทบใจ และใช้เวลาค่อยข้างมากในการจัดการ แต่การสูญเสียคือ “เงื่อนไขของธรรมชาติที่ทุกคนต้องประสบและเรียนรู้”
ทุกการสูญเสียไม่ใช่ความหมายของความเศร้า สำหรับเด็กบางคนความเสียใจที่ไม่มีแม่เหมือนคนอื่น แต่อาจสงบใจเพราะในช่วงการใช้ชีวิต เขากับแม่อาจมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดี มีประสบการณ์เลวร้ายบางอย่างร่วมกัน หรืออาจจำภาพของความเจ็บปวดจากอาการเจ็บป่วยของแม่ตอนไม่สบาย สิ่งเหล่าอาจหล่อหลอมเป็นความเสียใจปนสงบในวันที่ไม่มีแม่
ลูกต้องทำอย่างไร
ยอมรับอารมณ์ ถึงแม้การสูญเสียเป็นเรื่องตามธรรมชาติ แต่ก็ไม่มีใครคาดให้เกิดขึ้นกับตนเอง ดังนั้นความรู้สึกเสียใจ เสียดาย เศร้า โกรธ หมดหวัง ย่อมเกิดขึ้นได้เมื่อเราต้องประสบกับการสูญเสีย หรือการที่มีสิ่งสำคัญหายไปจากชีวิต อย่าเร่งเร้าที่จะจัดการกับอารมณ์ด้วยความเชื่อว่า “เศร้าเท่ากับอ่อนแอ” “การร้องไห้เป็นเรื่องของคนแพ้” เพราะการแสดงอารมณ์ต่อประสบการณ์สูญเสียเป็นสิ่งที่มนุษยชาติให้การยอมรับ และแสดงความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจต่อกัน
ที่มาของความเสียใจ เมื่ออารมณ์ค่อยๆ สงบ สำรวจความเสียใจที่เกิดขึ้น ว่าเราคิดอย่างไรกับการสูญเสียครั้งนี้
“เสียใจเพราะคนสำคัญหายไป”
“เสียใจเพราะการจากไปเท่ากับเราไม่สมควรถูกรัก”
“เสียใจเพราะเราไม่สำคัญเขาจึงจากไป”
ทบทวนและไตร่ตรองจนแน่ใจว่านี่ความคิดที่ทำให้รู้สึกเสียใจ และทบทวนต่ออย่างละเอียดละออว่า สิ่งที่คิดเป็นจริงหรือไม่ จริงแค่ไหน จะได้ประโยชน์อะไรจากความคิดนี้ และคิดอย่างอื่นได้อีกไหม เพื่อการค่อยๆ สงบอารมณ์จากการจัดการความคิด
สื่อสารเพื่อความเข้าใจ และรักษาความสัมพันธ์ เมื่ออารมณ์สงบ ควบคุมตนเองได้ ค่อยๆ สื่อสารความต้องการและความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง โดยเป้าหมายการสงบอารมณ์นี้ไม่ได้มุ่งเน้นให้เกิดการเก็บกดอารมณ์ลงจนหมดสิ้น แต่เพียงช่วยให้อารณ์ได้รับการควบคุมอยู่ในระดับที่จะสื่อสารได้ชัดเจน มีประสิทธิภาพ และรักษาความสัมพันธ์
เมื่อแม่ไม่ได้มีความหมายเป็นเพียงผู้ให้กำเนิด จากประสบการณ์ในการทำงาน พ่อที่ใกล้ชิด ใส่ใจรายละเอียดของลูก ทั้งยังสามารถคุยเรื่องที่ลูกสาวเหมาะจะคุยกับแม่ แต่ในวันที่ไม่มี พ่อกลับทำหน้าที่นั้นได้ดี คุณตาคุณยายที่รู้พื้นนิสัยและอารมณ์ของแม่กระทั้งเด็กรู้สึกคุ้นเคยเสมือนกำลังได้สื่อสารกับแม่อยู่ รวมทั้งบุคคลแวดล้อมอื่นอีกมากมายที่ไม่ใช่ผู้ให้กำเนิด แต่มีคุณลักษณะที่คล้ายแม่ แม้จะไม่สนิทใจหรือปลอยภัยเท่าเดิม แต่คนเหล่านั้นมีค่ามากมายในวันที่แม่ไม่อยู่
ความหมายของแม่ในตัวเรา “ความเป็นแม่” คือนิยามของการกระทำ แนวความคิด พื้นอารมณ์ ท่าทางคำพูด ของแม่ที่เรารู้สึกพอใจ ประทับใจ ปลอดภัย หากได้นำเอาสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้กับตนเองเราจะรู้สึกอุ่นใจแล้ว ยังเป็นทั้งเป็นเกราะป้องกันใจในวันที่คิดถึงแม่มากจนสุดหัวใจ
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น