วัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศ

ในช่วงวัยรุ่นหลายคนอาจรู้สึกสับสนในตัวตนทางเพศ หรือ รสนิยมทางเพศของตัวเอง ว่าเราจะเป็นเพศไหน ชาย หรือ หญิง และถ้าไม่ใช่ชายหรือหญิงล่ะ ถ้าเรามีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด เช่น ตุ๊ด กะเทย ทอม หรือมีรสนิยมชอบเพศเดียวกัน (homosexual) เช่น เกย์ เลสเบี้ยน หรือชอบได้ทั้งสองเพศ (bisexual) หรือไม่ชอบเพศใดเลย (asexual) เราแปลก หรือ ผิดปกติ แตกต่างจากคนอื่นหรือเปล่า เพื่อนจะมองเรายังไง จะถูกล้อ ถูกแกล้งไหม สารพัดคำถามวนเวียนในหัววัยรุ่นหลายต่อหลายคน เกิดความกลัว และวิตกกังวล เพราะไม่ได้เป็นอย่างที่สังคมกำหนดหรือบอกมาว่ามีแค่เพศชายหรือหญิงเท่านั้น

ความจริงแล้ว แต่ละคนมีความแตกต่างของความเป็นชาย-หญิงที่ไม่เท่ากัน ความหลากหลายทางเพศเป็นเพียงความแตกต่างไม่ใช่ความผิดปกติหรือโรคอย่างที่หลายคนเข้าใจ* และรสนิยมทางเพศเป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นความรู้สึกโรแมนติคหรืออารมณ์เพศที่มีต่อคนใดคนหนึ่ง อาจจะต่างเพศ หรือ เพศเดียวกัน หรือมีต่อทั้งสองเพศ หรือไม่มีต่อเพศใดเลยก็ได้ ซึ่งมีคำกว้างๆ เรียกว่า “คนที่มีความหลากหลายทางเพศ” อย่างไรก็ตาม การนิยามเพศของวัยรุ่นอาจไม่สำคัญมากกว่าการเข้าใจในสิ่งที่วัยรุ่นเป็น

การเป็นวัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศ หากอยู่สภาพแวดล้อมที่ไม่เข้าใจ ไม่ได้รับการยอมรับ อาจส่งผลต่อสุขภาพทั้งกาย ใจ และสังคมของวัยรุ่นได้ เช่น อาจมีความรู้สึกด้านลบต่อสภาพร่างกาย หรืออวัยวะเพศของตนเอง ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ล้อ แกล้ง รังแก ถูกให้ออกจากโรงเรียน หรือไล่ออกจากบ้าน มีความขัดแย้งกับคนในครอบครัว แยกตัว เครียด เก็บกดความรู้สึกของตนเอง ต้องปกปิดหรือไม่ยอมรับเพศของตนเอง ความนับถือตนเองต่ำ ซึมเศร้า พยายามทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย หากปรับตัวไม่ได้ อาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยง เช่น ใช้สารเสพติด มีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ป้องกัน

ดังนั้น การยอมรับและเปิดเผยตนเองของวัยรุ่นจึงมีความสำคัญและขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะครอบครัว เพื่อน และโรงเรียน ที่ต้องมีความเข้าใจและยอมรับ จะช่วยให้วัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศมีความสุขในการใช้ชีวิต ลดความเครียด ความสับสน ความกลัว และมีสุขภาพจิตที่ดี

หากเรามีเพื่อนๆ หรือตัวเราเองที่อาจรู้สึกไม่เข้าใจในความเป็นเพศของตัวเอง ต้องการคนที่เข้าใจ พูดคุยด้วย สามารถปรึกษาได้ที่ คลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น รพ.รามาธิบดี ให้บริการกับวัยรุ่นอายุ 10-24 ปี ทุกวันศุกร์ที่ 2 ของเดือน เวลา 13.00-15.00 น. ณ หน่วยตรวจโรคเด็กชั้น 9 อาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ (สำนักงานชั่วคราว) โทร. 02-201-1244, 02-201-1241 หรือปรึกษาเลิฟแคร์ออนไลน์ได้ที่ www.lovecarestation.com เวลา 16.00-24.00 น.

*การมีรสนิยมทางเพศแบบชอบเพศเดียวกัน ถูกตัดออกจากเกณฑ์วินิจฉัยโรคของสมาคมจิตแพทย์ สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ.1973 และไม่ได้ระบุว่าเป็นโรคหรือความผิดปกติ แต่เป็นความหลากหลายทางธรรมชาติของมนุษย์

ที่มา :

จิราภรณ์ อรุณากูร. (2559). วัยรุ่นที่มีเพศหลากหลาย. ใน ตำราเวชศาสตร์วัยรุ่น. หน้า 277-289.