ก่อนจะไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะการสื่อสาร และการเลี้ยงดูลูกเชิงบวก ผมขอชักชวนผู้อ่าน คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ดูแลเด็กได้เข้าใจพื้นฐานแรกในการดูแลลูกๆ นั่นคือ การดูแลตนเองของพ่อแม่ และการสร้างสมดุลบทบาทต่างๆ ให้พอเหมาะ ไม่ใส่ใจลูกน้อยเกินไปจนกลายเป็นปล่อยปะละเลย และไม่ให้เวลาทุกวินาทีในแต่ละวันเป็นของลูก เพราะจะทำให้พ่อแม่ผู้ดูแลขาดพื้นที่ในการดูแลตัวเอง อาจส่งผลต่อการเลี้ยงดูชนิดปกป้องมากเกินไป (Over protection) และความพยายามในการเข้าถึงลูกมากเกินไปโดยเฉพาะลูกวัยรุ่น อาจส่งผลต่อปัญหาความสัมพันธ์ เพราะความปรารถนาดีอาจเข้าไปรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของเขาเหล่านั้น
บทความแรกนี้ผมจึงชวนให้ผู้อ่านมีมุมมองจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของคุณแม่ท่านนึง
“ฉันอยากมีมือดั่งทศกัณฑ์ จะได้ทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน” เพื่อนสนิทสมัยมหาวิทยาลัยผมกล่าว เธอยังเล่าต่ออีกว่า “เมื่อก่อนสมัยทำงานใหม่ๆ ยังไม่เหนื่อย ไม่เครียด เท่ากับตอนมีลูกคนแรก”
หลังจากเราได้คุยกัน เธอยืนยันว่างานที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงแรก ไม่มีอะไรมากไปกว่าการปั้มนม และเปลี่ยนผ้าอ้อม แต่กลับรบกวนใจเธอให้ร้อนรนได้เกือบทุกเวลา กระทั่งลูกเธอกำลังจะสอบเข้าชั้นมัธยม เธอไม่เคยจะวางความคิดของเธอไปที่อื่นใด นอกจากลูกของเธอ
กระทั่งเธอเริ่มสูญเสียความสุข และความสัมพันธ์ อีกทั้งยังกระทบกับความสามารถในงานโดยเฉพาะช่วงที่ความคาดหวังของเธอผูกไว้กับลูกของเธอ
ผมถามเธอกลับไป “เธอกำลังทำอะไร.. ในฐานะอะไร..”
เธอตอบอย่างฉะฉาน “แม่ไง ฉันทำทุกอย่างในฐานะแม่ที่ดี แม่ที่คาดหวังให้ลูกเรียนดี กินดีๆ
“นอกจากฐานะแม่ เธอยังเป็นใคร และต้องทำอะไร….”
เธอร่ายยาวชีวิตเธอในฐานะลูก ภรรยา นักบัญชี และเพื่อน เล่าไปร้องไห้ไป ปะปนความรู้สึกผิด ว่าตั้งแต่เธอเอาทั้งหัวใจไปผูกไว้กับลูก เธอได้สูญเสียเธอในฐานะอื่นไปเกือบหมด และมันก็สะสมเป็นความเหนื่อยอยู่ภายใน และไม่รู้จะจัดการยังไง
ผมเพิ่มเติมบางบทบาทแก่เธอ เพราะเธอไม่ได้พูดถึง
“แล้วเธอในฐานะมนุษย์ เธอในฐานะที่เป็นตัวเธอละ”
“โอวว” ครั้งนี้เธอปล่อยโฮออกมายกใหญ่ ผมจึงให้พื้นที่แก่เธอให้เธอได้ปลอดภัยและระบายมันออกมา
หลังจากเธอสงบ เราชวนกันสร้างสมดุลให้กับเรื่องราวชีวิตต่อจากนี้ อยากมีพื้นที่ตรงไหนในฐานะ “ตัวเธอเอง” ผมชวนเธอวาดวงกลม ขีดเขียน pie chart อย่างยืดหยุ่นคร่าวๆ เธอใช้เวลาอยู่นาน ค่อยๆ มองอย่างรอบด้าน โดยไม่ลืมที่จะชวนให้เธอตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าตัวเธออยากทำอะไร
– ในฐานะ “แม่” ที่ลูกโตแล้ว ฉันจะเป็นแม่ผู้สนับสนุนลูกในทางที่ลูกอยากจะทำ อยากจะเป็น
– ในฐานะ “ภรรยา” ฉันจะแบ่งเวลาจากลูกให้กับสามีที่น่ารักของฉัน แม้เล็กน้อย ฉันรู้ว่าเขาคงดีใจ
– ในฐานะ “นักบัญชี” ฉันจะเอาใจผูกไว้กับงาน ไม่ให้ความคิดเรื่องลูกเข้ามารุกล้ำจนเกิดความผิดพลาด
– ในฐานะ “เพื่อน” น้อยที่สุดที่ฉันจะทำได้ คือพูดคุยกับเพื่อนทางออนไลน์ และถ้ามีโอกาสเราจะได้พบกัน
– ในฐานะ “ตัวฉัน” ฉันจะมีพื้นที่สำหรับตัวเอง ฉันจะแบ่งเวลาไปทำสิ่งที่ฉันพอใจ โยคะ กับงานปั้นที่ฉันเคยชอบ ฉันจะเตือนตัวเองเสมอ ว่าเมื่อไหร่ที่ฉันได้ใช้เวลากับตัวเอง ฉันจะมีพลังให้กับตัวเองในฐานะอื่นๆ รวมทั้งมีพลังให้กับฉันในฐานแม่ที่ดี
เมื่อเราสามารถสมดุลตนเองได้ดี เราก็จะมีความพร้อมทั้งในเรื่องต่างๆ รวมทั้งด้านจิตใจ ส่งผลให้มีความพร้อมต่อการที่จะเรียนรู้ทักษะต่างๆ ได้อย่างดี และรู้เท่าทันอารมณ์
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น