ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่มักจะเคยดูละครหลังข่าวกันมาบ้าง เราอาจจะเคยสังเกตเห็นตัวละครบางตัวแสดงพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่ดีสุดขั้ว แล้วจู่ ๆ อารมณ์ก็เปลี่ยนเป็นความเศร้า ร้องไห้ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราคิด สงสัย และเรียกตัวละครนั้นว่า เป็นไบโพล่าร์หรือเปล่า ? เพราะภายในวันเดียวหรือช่วงระยะเวลาหนึ่งในหนึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ที่สวิงขึ้นสุด ลงสุด บางทีก็โดด ๆ ดีด ๆ บางทีก็ดูซึม ๆ ซึ่งอาการของโรคไบโพล่านั้นอาจไม่ใช่ภาพอย่างที่หลายคนเข้าใจ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับโรคไบโพล่ากันดีกว่า ว่าอาการของโรคที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร
“โรคไบโพล่าร์” หรือ “โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว” (Bipolar Disorder) จัดเป็นโรคในกลุ่มจิตเวช ที่เกี่ยวข้องด้านอารมณ์ ซึ่งเป็นโรคที่พบได้สูงถึงร้อยละ 1.5 -5 ของจำนวนประชากร อัตราการเกิดโรคครั้งแรกพบบ่อยที่สุดที่ช่วงอายุ 15-19 ปี และรองลงมา คือ อายุ 20-24 ปี โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้สูงถึง 70-90%
ผู้ป่วยไบโพลาร์จะมีอารมณ์แปรปรวนสลับกันระหว่างอารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ กับอารมณ์ซึมเศร้าผิดปกติโดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ใดๆ ในช่วงที่อารมณ์ซึมเศร้า ผู้ป่วยมักเบื่อหน่าย ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร อ่อนเพลีย มองทุกอย่างในแง่ลบ บางรายมีความคิดอยากตายซึ่งอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายจริงๆ ได้
สำหรับช่วงที่อารมณ์ดีหรือก้าวร้าวผิดปกติ ผู้ป่วยมักมีอาการดังต่อไปนี้ คือ
- รู้สึกว่าตนมีความสำคัญหรือมีความสามารถมาก
- นอนน้อยกว่าปกติมาก โดยไม่มีอาการเพลียหรือต้องการนอนเพิ่ม
- พูดเร็ว พูดมาก พูดไม่ยอมหยุด
- ความคิดแล่นเร็ว มีหลายความคิดเข้ามาในสมอง
- สมาธิลดลง เปลี่ยนความสนใจ เปลี่ยนเรื่องพูดหรือทำอย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อสิ่งเร้าง่าย
- มีกิจกรรมมากผิดปกติ อาจเป็นแผนการหรือลงมือกระทำจริงๆ แต่มักทำได้ไม่ดี
- การตัดสินใจเสีย เช่น ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ทำเรื่องที่เสี่ยงอันตรายหรือผิดกฎหมาย ไม่ยับยั้งชั่งใจในเรื่องเพศ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอารมณ์หงุดหงิดก้าวร้าวจนถึงขั้นทะเลาะหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการของโรคจิตร่วมด้วย เช่น คิดว่าตนมีความสามารถผิดมนุษย์ ได้ยินเสียงหรือเห็นภาพที่อื่นไม่ได้ยินหรือได้เห็น
โดยอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากการผลข้างเคียงจากร่างกายและสารต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้อื่นสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ตรงกับบุคลิกภาพของผู้ป่วย
ผู้ป่วยจะมีแสดงอาการเป็นช่วง ๆ หรือเรียกว่า Episode โดยแต่ละ Episode จะกินเวลาประมาณอย่างน้อย 1 สัปดาห์ขึ้นไป ใน Episode หนึ่งจะแสดงอาการเฉพาะเท่านั้น หากอยู่ในช่วงที่เป็นซึมเศร้า อาการก็จะคล้าย ๆ โรคซึมเศร้า จะไม่มีอารมณ์โดด ๆ ดีด ๆ ในช่วงที่เป็นซึมเศร้า (Major Depressive Episode) หากอยู่ในช่วงที่อารมณ์คึกคัก (Manic Episode) ภายใน 1 วันจะไม่แสดงอาการซึมเศร้าเลย
ดังนั้น หากภายในเวลา 1 วัน มีทั้งช่วงอารมณ์ดีหรืออารมณ์เศร้าก็อาจไม่ใช่อาการของโรคไบโพล่าร์ แต่เป็นการได้รับการกระตุ้นจากสถานการณ์ สภาพแวดล้อม ทำให้อารมณ์และความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย
ผู้เขียน
มะงึก
อ้างอิงจาก
https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1105
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/bipolar-disorder