หลั่งเร็ว (Premature Ejaculation) แบบไหน ถึงเป็นปัญหากันนะ
น้องๆ วัยรุ่นคงเคยได้ยินเรื่องการหลั่งเร็ว อาการเสร็จเร็วกันมาอยู่บ้าง ไม่ว่าจะจากปากต่อปากของเพื่อนๆ จากอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ ซึ่งเรื่องราวที่พูดคุยกันนั้นอาจจะพูดคุยกันให้เป็นเรื่องตลก จนถึงกับนำมาใช้เป็นภาษาบ้านๆ อย่างเช่น ล่มปากอ่าว และนกกระจอกไม่ทันกินน้ำ แต่จะมีใครรู้ไหมว่า อาการหลั่งเร็วนี้ เป็นปัญหาหนึ่งที่จริงจังนะ มีโรคนี้อยู่จริง แต่การที่จะเป็นปัญหาจริงๆ นั้นจะนับเฉพาะกับการมีเพศสัมพันธ์นะ
โดยปกติแล้ว อัตราเฉลี่ยของระยะเวลาในการถึงจุดสุดยอดของผู้ชายไทยจะอยู่ที่ราวๆ 5-7 นาที โดยเริ่มนับจากที่มีการสอดใส่ หากว่าเสร็จกิจภายใน 1-2 นาที หรือไม่สามารถควบคุมการหลั่งได้เลย ไม่สามารถควบคุมการหลั่งให้นานพอจนกว่าอีกฝ่ายจะเสร็จกิจได้ ก็จะนับได้ว่าหลั่งเร็วแล้วครับ
การหลั่งเร็ว หรือ Premature Ejaculation นั้นถูกจัดอยู๋ในความบกพร่องด้านเพศสัมพันธ์ (sexual dysfunction) ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคทางจิตเวชที่มีความบกพร่องในการตอบสนองทางเพศหรือการมีความสุขทางเพศ (DSM-5) ซึ่งการหลั่งเร็วนี้มีผลกระทบต่อทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงเลยครับ ทั้งฝ่ายชายที่จะกังวลว่าตัวเองทำได้ไม่ดี ขาดความมั่นใจกับเรื่องบนเตียง ซึ่งก็จะเป็นปัญหาหนักใจ ที่สุดท้ายแล้วก็จะไม่กล้าที่จะมีเพศสัมพันธ์กับฝ่ายหญิง จนกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ได้ในภายหลังครับ ส่วนในด้านฝ่ายหญิงนั้นการหลั่งเร็วของฝ่ายชาย ก็ทำให้ฝ่ายหญิงแทบจะไม่มีความพึงพอใจในการมีเพศสัมพันธ์เลย เพราะตนไม่ได้มีความสุขด้วยกับกิจกรรมตรงนี้ อาจรู้สึกขุ่นเคืองใจ เพราะการที่ฝ่ายชายเสร็จก่อนเร็วมากนั้นคล้ายกับการเห็นแก่ตัวในการมีเพศสัมพันธ์กัน ดูเหมือนไม่สนใจความสุขของฝ่ายหญิง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ของทั้งคู่
โดยปกติแล้ว ปัญหาการหลั่งเร็วจะเกิดขึ้นและติดตัวไปตลอดชีวิต โดยอาจจะเป็นปัญหาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น แต่ ณ ตอนนั้นวัยรุ่นชายไม่ได้เห็นว่าตรงนี้นั้นเป็นปัญหามากนัก เพราะก็เพียงต้องตอบสนองแต่ความสุขของตนเอง แต่เมื่อปัญหานี้ถูกสั่งสมเป็นระยะเวลานาน ไม่ได้รับการแก้ไข พอโตขึ้นมาหน่อยก็กลายเป็นว่าร่างกายคุ้นชินกับการหลั่งในลักษณะแบบนี้ไปแล้ว รวมไปถึง ณ ตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น การจะนำเรื่องนี้ไปปรึกษาคนอื่นก็อาจจะอาย และไม่ได้ช่วยอะไรเลย แม้ว่าจะเป็นเพียงการช่วยตัวเอง ไม่ได้เป็นการมีเพศสัมพันธ์กับฝ่ายหญิงก็ตาม
หลั่งเร็ว หรือ Premature Ejaculation คือ ภาวะที่มีการหลั่งน้ำอสุจิเร็วเกินไปขณะที่มีเพศสัมพันธ์ โดยไม่สามารถควบคุมหรือชะลอการหลั่งได้ ฝ่ายชายไม่สามารถควบคุมการหลั่งให้นานพอที่ฝ่ายหญิงจะถึงจุดสุดยอด การหลั่งเร็วเป็นอาการป่วยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ที่เป็น และคู่หลับนอน โดยมีลักษณะอาการหลัก ได้แก่ หลั่งอสุจิขณะที่มีกิจกรรมทางเพศภายใน 1 นาทีหลังการสอดใส่ หรือไม่สามารถควบคุมการหลั่งได้จนหลั่งก่อนที่จะเกิดการสอดใส่ ซึ่งอาการนี้ต้องเป็นต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6 เดือน ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานใจ และไม่ได้เกิดจากการใช้ยาหรือสารเสพติด ไม่ได้เป็นอาการแสดงของโรคจิตเวชอื่นๆ และไม่ได้เกิดจากปัญหาด้านความสัมพันธ์
ในส่วนของการรักษาการหลั่งเร็วนั้น เบื้องต้นสามารถลองทำตามวิธีเหล่านี้ได้ครับ
- Stop-Start Technique เป็นเทคนิคฝึกด้วยตนเอง โดยการเรียนรู้ว่าตอนไหนตนเองใกล้จะหลั่ง และควบคุมความรู้สึกนั้น โดยฝึกจากการช่วยตัวเอง ปกติแล้วการช่วยตัวเองนั้นจะทำเพื่อความพึงพอใจของตัวเอง โดยการให้ตัวเองนั้นถึงจุดสุดยอดออกมาให้เร็วที่สุด หรือตามความพึงพอใจ แต่การใช้เทคนิคนี้ เมื่อเข้าใกล้ถึงจุดสุดยอดแล้วก็ให้หยุดก่อนที่จะเกิดการหลั่งออกมา โดยพักสัก 30-60 วินาที ให้ความรู้สึกว่าจะหลั่งนั้นลดลง แล้วจึงกลับไปทำวนซ้ำใหม่ ค่อยๆ ฝึกด้วยวิธีนี้จะช่วยลดการหลั่งเร็วไปได้
- Squeeze Technique เมื่อไรที่ใกล้จะถึงจุดสุดยอดหรือใกล้จะหลั่ง ให้ใช้หัวแม่มือและนิ้วชี้บีบตรงโคนหรือหัวของน้องชายไว้ ประมาณ 3-4 วินาที เพื่อไล่ให้เลือดไม่คั่ง และกระตุ้นให้ความตื่นตัวทางเพศลดลง เมื่อความรู้สึกว่าจะหลั่งนั้นลดลงแล้ว จึงค่อยบิ้วต์อารมณ์ขึ้นใหม่ และทำกิจกรรมต่อ วิธีนี้ช่วยยืดระยะเวลาของกิจกรรมไปได้
- การปรึกษากับนักจิตวิทยา เป็นกระบวนการพูดคุยเพื่อรับคำปรึกษา คำแนะนำ และช่วยกันตามหาต้นตอของปัญหาว่าอยู่ตรงไหน คืออะไร และช่วยกันวางแผนหาวิธีแก้ไขช่วยเหลือ โดยการหลั่งเร็วนั้นอาจเกิดจากปัจจัยทางจิตวิทยาได้ด้วย เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล อยู่ในภาวะซึมเศร้า ฯลฯ
- การใส่ถุงยางอนามัย การใช้ถุงยางอนามัยนั้นเป็นตัวเลือกที่ดี เนื่องจากช่วยลดความรู้สึกลงไปได้บ้าง และในถุงยางอนามัยบางตัวก็จะมีตัวยาที่ช่วยชะลอการหลั่งอยู่ด้วย นอกจากนี้การใส่ถุงยางอนามัยยังช่วยคุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อท่างเพศสัมพันธ์อีกด้วย
น้องๆ วัยรุ่นที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงจะมองเห็นแล้วว่า อาการหลั่งเร็ว เสร็จเร็วนี้ ไม่ใช่เรื่องตลกหรือเรื่องนำมาล้อเล่นนะ วัยรุ่นอย่างเราๆ ก็คอยสังเกตพฤติกรรมของตัวเองไว้ หากพบว่ามีปัญหาอะไร จะได้แก้ไข ดูแลทัน
ธนารักษ์ วรรณพันธ์
(นิสิตฝึกงานสาขาจิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
ข้อมูลอ้างอิง