อย่าให้สงกรานต์ เป็นเรื่องน่าสงสารสำหรับใคร

อย่าให้สงกรานต์ เป็นเรื่องน่าสงสารสำหรับใคร

สงกรานต์ วันหยุดยาวที่หลายคนใช้สำหรับการพักผ่อนร่างกาย และจิตใจจากการทำงาน มีหลายคนได้ใช้โอกาสนี้ในการเติมไฟให้พร้อมในการกลับไปเรียน และใช้เวลาร่วมกับครอบครัว คนรัก และเพื่อนๆ แต่สงกรานต์ก็อาจน่าหวาดหวั่นของวัยรุ่นเพราะเป็นช่วงเวลา “หยุดยาว” ของคนหลายช่วงอายุของครอบครัว แต่อาจพบได้ว่า วัยรุ่นหลายคนไม่ชอบทำกิจกรรมกับครอบครัวเอาเสียเลย

“ตั้งใจจะไปมีความสุข แต่มัวถามว่า ‘คะแนนสอบเป็นไง’  เราเองก็เครียดจะตาย กลับไปยิ่งเครียด”

“เรื่องบางเรื่องก็ไม่ควรพูดให้เสียใจนะ อ้วนขึ้นบ้างล่ะ ไม่รู้บ้างเหรอว่าแบบนี้แหละที่ไม่อยากกลับบ้าน”

“ลูกบ้านอื่นเรียนได้ดี กิจกรรมดี บางทีก็ไม่ต้องย้ำก็ได้ เพราะเป็นเพื่อนในออนไลน์กับคนข้างบ้านอยู่แล้ว”

“แทนที่จะอยู่กับครอบครัว มัวแต่ออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน” ก็เพราะอยู่บ้านนานๆ มันจะเจอคำถามแบบนี้

และเกิดประโยคต่อท้ายที่ว่า “อยากออกไปเล่นน้ำกับเพื่อนตั้งแต่เช้ายันค่ำ” เพราะไม่สบายใจที่ต้องเจอคำพูดเหล่านี้ แต่ก็อาจเกิดปัญหาความสัมพันธ์ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะพ่อแม่ก็อยากให้เรามีเวลากับเขา และอยากให้เรามีเวลากับกิจกรรมของครอบครัวใหญ่

เพื่อให้สงกรานต์ปีนี้เริ่มต้นด้วยการเตรียมความพร้อมด้านจิตใจ ก่อนไปพบเจอกับครอบครัวใหญ่โดยการเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจที่มาของคำพูดที่อาจรบกวนจิตใจเรา ว่ามาจากปัจจัยใดได้บ้าง

1.ความเชื่อของคนต่าง Generation

คนยุคพ่อแม่ มีความเชื่อเรื่องความมั่นคงของอาชีพ การเงิน และสวัสดิการ ว่าเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิต จึงมักพูดถึงผลการเรียน เพราะก็เชื่อต่ออีกว่าเรียนดีเท่ากับจะประสบความสำเร็จในอนาคต หากแต่เด็กๆ ในปัจจุบันมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป หลายคนจัดลำดับของความสุขในการใช้ชีวิตไว้ก่อนความมั่นคงและความสำเร็จ ด้วยชุดความเชื่อที่แตกต่างกันนี้ส่งผลต่อความไม่ลงรอยในการสื่อสาร

2.ความคาดหวัง กังวล และความรู้สึกเป็นห่วง

แม้แต่พ่อแม่กับลูกที่มีความคิดต่อความมั่นคงเหมือนกัน ก็อาจเกิดความขัดแย้งกันได้ เพราะความคิดอย่างเข้มข้นต่อความมั่นคงและประสบความสำเร็จอาจกระตุ้นให้เกิดความกังวล เป็นห่วง ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายอาศัยอยู่ในคนละบริบททำให้เกิดเป็นท่าทีที่ซักถามคล้ายการกดดัน อาทิ ผลการเรียน จากพ่อแม่ ในขณะที่ลูกเองก็กดดันกับผลการเรียนตนเองอยู่ไม่น้อย จึงตอกย้ำให้ลูกที่กำลังร่วมกิจกรรมอยู่นั้นยิ่งเครียดเมื่อได้รับคำถามเหล่านี้

3.ความกังวลปนตื่นเต้นจากการพบกันแบบยาวๆ เพียงปีละไม่กี่ครั้ง

เพราะถึงแม้เด็กๆ จะปิดเทอมยาวนาน แต่ผู้ปกครองกลับยังต้องทำงาน สงกรานต์จึงเป็นเทศกาลที่ได้พบกันยาวๆ ซึ่งผลให้เกิดความรู้สึกกังวลปนตื่นเต้น เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นการสื่อสารอะไร ทำให้ในหลายครั้งของการสื่อสาร พ่อแม่ก็มักทักทายด้วยความคุ้นชินกับการพูดคุยเรื่องซ้ำเดิมที่ลูกอาจไม่ชอบใจ อาทิ รูปร่างหน้าตา ผลการเรียน เป็นต้น

4.ความรู้สึกกดดันจากชุมชนและสังคม

คำถามที่มาจากพ่อแม่ไม่ได้มาจากตัวพ่อแม่เองเท่านั้น อาจเป็นคำถามที่ได้รับมาจากแรงกดดันของชุมชนแวดล้อม ความสำเร็จทางการศึกษาและความสำเร็จจากความเชื่อว่า “พ่อแม่ที่ดีต้องดูแลลูกเรื่องการเรียนให้ประสบความสำเร็จ” ดังนั้นเพราะพ่อแม่เองก็รู้สึกกดดันจากกฎหรือกระแสในชุมชนมากเกินไปจนมักสื่อสารความกดดันนั้นไปสู่ลูกอย่างไม่ตั้งใจ

แล้วจะทำยังไงในฐานะ

“พ่อแม่ที่ต้องทำกิจกรรมกับลูกในช่วงสงกรานต์

1.ทำความเข้าใจความรู้สึกตนเองตั้งแต่ก่อนที่ลูกจะกลับมาเพื่อยอมรับความกังวล และจัดการให้ผ่อนคลาย เพื่อลดการใช้ความกังวลใจไปกดดันลูกด้วยการพูดหรือตั้งคำถามที่รบกวนความสัมพันธ์

2.ย้ำกับตนเองเสมอว่า “เรากับเขา” ไม่ใช่คนเดียวกัน การเคารพวิธีการคิดและการใช้ชีวิตของลูกคือสิ่งสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ให้มั่นคงมากกว่าการพูดสอนหรือแนะนำวิธีการในแบบของเรา เพราะ “เขาไม่ใช่เรา”

3.เตือนตัวเองให้รู้ทันว่า “สงกรานต์สำหรับลูก” คือการกลับมาหาครอบครัวเพื่อผ่อนคลายจิตใจ ให้มีแรงกลับไปสู้กับการเปิดเทอม และเตือนตัวเองซ้ำว่า “แค่ความคาดหวังที่ลูกมีต่อตนเองมันก็หนักหนามากพอแล้ว”

4.หากกังวลหรือไม่ถนัดที่จะใช้คำพูดซักถาม อาจใช้กิจกรรมเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์หลังการไม่ได้พบเจอกันเป็นเวลานาน อาทิ ทำอาหาร ทานอาหาร เล่นบอร์ดเกม ฯลฯ และเมื่อความกังวลปนตื่นเต้นผ่อนคลายจึงค่อยๆ ใช้คำพูดระหว่างกัน

5.นอกจากครอบครัวแล้วนั้น “เพื่อน” บุคคลสำคัญตามช่วงวัยของลูก ดังนั้นการให้สัดส่วนและความสำคัญต่อความสัมพันธ์ที่ลูกได้มีกับกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ นอกจากจะส่งผลดีต่อใจลูกแล้ว ยังส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย เพราะลูกจะสามารถรับรู้ได้ถึงความเข้าใจที่พ่อแม่มีให้ต่อเขา

6.พื้นที่ส่วนตัว คือสิ่งหวงแหนของวัยรุ่น การถามเกี่ยวกับพื้นที่ส่วนตัว คือสิ่งละเอียดอ่อน อาทิ รูปร่าง ความสำเร็จ หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ หากสังเกตได้ว่าลูกหลานมีสีหน้าท่าทางที่เปลี่ยนไปจากคำถาม อาจต้องหยุดที่จะสื่อสารประเด็นนั้นต่อ รอให้อารมณ์สงบ และชวนทำสิ่งอื่นทดแทน

แล้วจะทำยังไงในฐานะ

“ลูกที่กำลังจะกลับไปพบกับพ่อแม่หรือญาติ”

1.ยอมรับกับความจริงที่ว่า “เราเป็นเด็กในสายตาพ่อแม่เสมอ” แม้ว่าวัยรุ่นหลาคนจะมีความสามารถ และมีความคิดความอ่านเป็นของตนเอง

2.ให้เวลากับพ่อแม่และตัวเองสำหรับจัดการอารมณ์ เพราะในหลายครั้งเมื่อพ่อแม่และเราสงบ ดูเหมือนคำถามต่างๆ ที่รบกวนอาจหายไปและแทนที่ด้วยเสียงหัวเราะผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน

3.มองให้เห็นเนื้อแท้ของเจตนา เพราะถึงแม้ว่าเรามีความเชื่อต่อการเรียนและการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน แต่ในส่วนลึกของหลายๆ บ้าน ก็พบได้ว่า “เรามีใจเดียวกันที่อยากให้วันหยุดยาวของเราเป็นวันที่ดี”

4.เตือนตนเองอยู่เสมอว่า “เราไม่ได้รวมตัวกันเพื่อพูดคุยเรื่องความสำเร็จ” แต่เป็นการมาเพื่อรับเอา “ความรู้สึกดีๆร่วมกัน” กลับไปสู้กับความคาดหวังในตนเองที่หนักหน่วง ซึ่งพบว่า การที่ลูกกับพ่อแม่มีการสื่อสารกันสม่ำเสมอในระหว่างปี มีผลทำให้ลดความขัดแย้งในการสื่อสารได้เป็นอย่างมาก

ก่อนสงกรานต์ปีนี้ ชวนเพื่อนๆ เตรียมตัว เตรียมใจ เพื่อใช้วันเวลาและโอกาสนี้ ในการให้พื้นที่ของความรักและรู้สึกดีต่อกันเพื่อเติมไฟให้มีพลังกลับมาทำงานกันต่อนะครับ

นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น