เมื่อการชื่นชมตัวเองกลายเป็นเรื่องไม่ง่าย
การชื่นชมตัวเอง มีคุณค่าอย่างไร
การชื่นชมตนเอง เป็นหนึ่งในความสามารถของการสร้างความสุขให้กับตนเอง ทั้งยังเป็นการสะสมแหล่งพลังงานใจเพื่อใช้ในวันที่ต้องเผชิญกับความรู้สึกยากลำบาก ความเหนื่อยล้า และอุปสรรคต่างๆ (resilience)
การชื่นชมตนเองเป็นทักษะที่ประกอบขึ้นจากประสบการณ์ในอดีต ผลของการกระทำที่ผ่านมา โอกาสในการได้แสดงศักยภาพ มุมมองต่อคุณค่าของการ “ลงมือทำ” การรู้เท่าทันความคิดเปรียบเทียบ และเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคลอย่างแท้จริง
การชมตนเองเป็นทักษะที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน จนสามารถมีถ้อยคำ น้ำเสียง ที่ประกอบไปด้วยความรู้สึกดีหลายครั้งพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่สามารถใช้คำพูดดีๆ กับตนเองได้ แต่กลับไม่ได้รู้สึกดีกับตนเองอย่างแท้จริง ตรงข้ามกลับสงสัยว่าตนควรได้รับคำชมเหล่านั้นหรือไม่…
การชมตัวเองคือเรื่องเพ้อฝัน? การชมตัวเองคือการหลอกตัวเอง?
จะพูดอย่างนั้นก็ไม่ผิดซะทีเดียว เพราะหากเราเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าการชื่นชมตนเอง คือการใช้ถ้อยคำดีๆ ที่มีอารมณ์แสนหวาน เพื่อให้ตนเองรู้สึกดี การชมแบบนี้คงไม่ต่างอะไรกับการหลอกตัวเอง และความรู้สึกดีที่เกิดขึ้นคงกลายเป็นความรู้สึกชั่วคราว และยิ่งตอกย้ำให้ความหวาดหวั่นไม่แน่ใจเกิดเป็นแรงกระเพื่อมภายในใจ
“ฉันดีพอหรือเปล่า”
“ฉันเก่งพอหรือไม่”
“ที่ตรงนี้เหมาะกับฉันไหม”
คงกลายเป็นความคิดรบกวนใจที่ตามมาในไม่ช้า หลังจากการชื่นชมตนเอง
ในขณะที่การชื่นชมตนเองประกอบไปด้วย ถ้อยคำตามความเป็นจริง อ้างอิงจากสิ่งที่ได้ลงมือทำ หรือความสำเร็จในแบบฉบับของตนเอง เห็นคุณค่าของเจตนาที่ดี พัฒนาการของผลงานตามแบบฉบับของตนเองตามโอกาสและความสามารถที่แท้จริง ระมัดระวังการเปรียบเทียบกับคนอื่นที่มีปัจจัยในชีวิตแตกต่างจากเรา
ถึงตรงนี้ .. เชื่อว่าหลายคนพอเข้าใจความหมายของการชื่นชมตนเอง แต่ไม่ง่ายเลยใช่มั้ย ที่จะชื่นชมตนเอง..
อะไรในตัวเราที่ส่งผลต่อการชื่นชมตนเอง
คุณค่าของความสำเร็จ การให้คุณค่ากับความสำเร็จเป็นสิ่งที่ดี แต่หากจดจ่อและให้ความสำคัญมากเกินไปอาจทำให้สะสมเป็นความรู้สึกไม่ดีกับตนเอง เพราะในความเป็นจริงความสำเร็จไม่ได้เกิดกับทุกคน ความสำเร็จอาศัยปัจจัยจำนวนมากทั้งที่เกี่ยวกับตัวเราและปัจจัยภายนอก มีความเชื่อที่เราคุ้นหู คือ “ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น” กลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่จริงเพราะมีไม่น้อยที่เราพยายามอย่างเต็มที่ แต่ความสำเร็จอาจไม่ได้เป็นของเรา
ความคิดเชิงอุดมคติต่อตนเอง การมีแนวคิดอุดมคติที่มาจากการเห็นต้นแบบที่เก่งที่ดี เป็นแรงบันดาลใจของใครหลายคน ต้นแบบเหล่านั้นผลักดันให้เกิด “ตนในอุดมคติ”
“พ่อที่เก่ง” “แม่ที่ดี” “นักร้องที่โด่งดัง” ซึ่งหลายครั้งเราเอาใจไปผูกพันกับความเก่ง ความดี ความโด่งดัง โดยไม่ได้รับรู้เบื้องหลังที่แท้จริงของการได้มาซึ่งสิ่งนั้น
การแข่งขันและการเปรียบเทียบ ในสังคมที่มีการแข่งขันสูง ความคิดเปรียบเทียบเป็นความคิดอัตโนมัติที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่งความคิดชนิดนี้มักทำให้เกิดความกังวล ความไม่แน่ใจ และความเสียใจที่ส่งผลต่อการยอมรับและชื่นชมตนเอง
สิ่งเหล่านี้มาจากไหน…
มาจากการสะสมความเชื่อต่อตนเองที่มาจากประสบการณ์ในอดีต
พ่อแม่หรือครูที่พูดบ่น พูดยาวต่อความ มีผลทำให้เราอาจสับสนว่าตัวตนที่แท้จริงของเรามีคุณค่าในเรื่องอะไร มีการศึกษาเรื่องการสื่อสารพบว่า พ่อแม่ที่ชมไปบ่นไป อาทิ วันนี้ดีมากเลยที่ลูกอ่านหนังสือ อย่าให้เหมือนเมื่อวานอีกนะที่เอาแต่เล่นเกมทั้งวันจนไม่จับหนังสือขึ้นมาอ่าน ทำให้เด็กสับสน และไม่ได้รู้สึกดีกับตนเอง
สังคมภาพรวมที่ให้คุณค่าในการชื่นชม ผลงานมากกว่าการกระทำ อาทิ ป้ายหน้าโรงเรียนที่ใหญ่พอจะติดรูปของคนที่สอบได้มหาวิทยาลัยดีๆ เวทีหน้าเสาธงที่ว่างเสมอสำหรับการนำเสนอนักเรียนที่ได้ถ้วยรางวัล
มีความเชื่อเรื่องกดดัน พยายามกับความสำเร็จอย่างเข้มงวด โดยไม่มีการพูดถึงตรงไปตรงมาว่า มีปัจจัยอีกมากมายที่ทำให้คนเราไม่สามารถไปถึง “ผลสำเร็จ” ได้อย่างเท่าเทียมกัน อาทิ พ่อที่ตกงานและแก้ปัญหาด้วยการดื่มสุราและทุบตีเด็กนักเรียนบ้านไกลที่ต้องตื่นเช้ามืดและมีเวลานอนไม่เพียงพอตามวัย แต่เด็กเหล่านั้นกลับถูกสอนด้วยความเชื่อชุดเดิมว่า “ต้องพยายาม”
ผู้ใหญ่คุ้นเคยกับการใช้อารมณ์ในการสื่อสาร เพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดความร่วมมือ และพยายามโดยใช้ “ความหวังดี” เป็นข้ออ้าง โดยหารู้ไม่ว่า สิ่งที่เด็กจดจำไปนั้นคือสีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง กว่าจะเข้าใจเจตนาของความหวังดีก็อาจเกิดปัญหาความสัมพันธ์และการต่อต้าน
วัฒนธรรมที่ยังกังวลเกี่ยวกับการชม แม้จะมีชุดความรู้มากมายว่าการชื่นชมมีประโยชน์ทั้งในระดับครอบครัว และการทำงาน แต่ความรู้สึกกังวลใจเกี่ยวกับการชมว่า “ชมแล้วจะเหลิง จะเสียรูปเสียรอย” ยังเป็นอุปสรรคในการชื่นชม ทั้งยังทำให้แสดงออกเป็นการชมที่ไม่เป็นธรรมชาติ ผู้ที่ถูกชมรับรู้และตีความหมายคลาดเคลื่อนเป็นความไม่จริงใจและประชดประชัน
ทั้งหมดที่เล่าไป เป็นเพียงคำอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่มีประโยชน์กับการไปตามหาว่าใครควรต้องรับผิดชอบกับความรู้สึก หรือการชื่นชมตนเองของเรา หากเชื่อตรงกันว่าการชื่นชมตนเองจะเป็นพลังของใจให้เราได้ไปต่อ ค่อยๆ กลับมาฝึกทักษะการชื่นชมตนเอง
1.อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่เขียนในบทความนี้ ก่อนจะลงมือทำ และสัมผัสกับความรู้สึกหลังจากได้ทำด้วยตนเอง
2. เริ่มตั้งเป้ากับในสิ่งที่ต้องการที่จะทำเพิ่มขึ้น หรือกำหนดปัญหาที่ต้องการแก้ไข โดยเริ่มจากความต้องการเล็กๆ หรือปัญหาเล็กน้อยในชีวิต เพราะเรากำลังสร้างการทดลองเพื่อการชื่นชมตนเอง ไม่ใช่เพื่อเป็นนักพัฒนาหรือแก้ปัญหา (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง New year New You: การตั้งเป้าหมายให้ดีต่อใจ ได้ที่ https://www.lovecarestation.com/new-year-new-you/)
3. มีแผน ทำตามแผน เข้าใจข้อจำกัด กำหนดแผนในการลงมือทำอย่างรอบคอบ เริ่มจากแผนที่ทำได้ง่าย “ทำตามแผนมากกว่าตามอารมณ์ “อยาก” ทบทวนแผนเป็นประจำ
4. นอกจากผลของการกระทำ มองหาสิ่งเล็กน้อยที่เป็น “เจตนาดี” ต่อตนเอง และ “การลงมือทำ” ของตนตามความเป็นจริง
5. ระมัดระวังความคิดเปรียบเทียบ เพราะ “คนเราต่างกัน” แม้ว่าสังคมพยายามกรอบว่าเราต้องมีเป้าหมายในชีวิตหรือสำเร็จในแบบที่เหมือนกันก็ตาม
6. ทบทวนความรู้สึกประจำวัน ทั้งความรู้สึกดีที่เห็นเจตนาที่ดี ได้ลงมือทำ ทำสำเร็จ และความรู้สึกไม่ดีที่วันนี้อาจไม่ได้ทำตามแผนที่ควรทำหรือแม้ต่ยอมรับกับความเสียใจที่ไม่สามารถสำเร็จได้ตามที่ต้องการ
7. สื่อสารกับตัวเองด้วยภาษา และน้ำเสียงของตนเอง หาเวลาเล็กน้อย สถานที่สบายๆ ร่างกายที่ผ่อนคลาย สื่อสารกับตนเองโดยเริ่มจากการสื่อสารข้อความโทนกลางๆ อยากพูดหรือบอกอะไรกับตนเอง ไม่ต้องรีบเร่งที่จะหาคำชมที่สวยงามให้กับตนเอง เพียงเราสามารถรู้เท่าทันความคิด อารมณ์ และได้มีการสื่อสารกับตนเอง ก็มีค่ามากมาย
8. จะเลือกใช้การจำข้อความเหล่านั้นก็ได้ หรือจะเป็นการจดไว้ยิ่งดี เพราะการเขียนช่วยสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นภายในสู่ภายนอกอย่างค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งยังเป็นการสะสมข้อความปะจำวันที่มีต่อตนเอง
9. ฝึกตั้งคำถามกับตนเอง อาทิ “เรื่องที่เรามักได้รับคำชื่นชม” “คนที่หวังดีกับเรา” “สิ่งมีชีวิตที่เราไว้ใจ” “เรื่องที่ครูหรือเพื่อนมักขอความช่วยเหลือ” “เราผ่านเรื่องยากนี้มาได้อย่างไร”
ค่อยๆ เริ่มต้นจากสิ่งเหล่านี้ สะสมไปทีละเล็กละน้อย การชื่นชมตนเองตามความเป็นจริงจะค่อยๆ เกิดขึ้นกับเรา
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น