เมื่อเราต้องสูญเสีย…เมื่อฉันต้องลาจาก…

เมื่อเราต้องสูญเสีย…เมื่อฉันต้องลาจาก…

            คนเรานั้นเป็นสัตว์สังคม ซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าเราจะเป็นคนเก็บตัวเพียงใดก็ย่อมต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อพูดถึงความรักความสัมพันธ์นั้น แน่นอนครับ มีพบก็ย่อมมีจาก อยู่ที่ว่าจะ จากดี หรือจากร้าย จากเป็น หรือจากตาย นั่นเองครับ เอาล่ะเมื่อพูดมาถึงตรงนี้หลายๆ คนคงสงสัยว่า บทความนี้ต้องการจะสื่อสารอะไรกับฉันกันแน่นะ? ซึ่งบทความในวันนี้เราจะพูดถึงการรับมือกับการสูญเสียในกรณีจากร้าย หรือการลาจากที่จบไม่สวยนักนั่นเองครับ ไม่ว่าจะ “จากเป็น” หรือ “จากตาย” ก็ตาม

ในทางจิตวิทยานั้นเมื่อเราสูญเสียสิ่งใด หรือผู้ใดที่เป็นที่รักไป เราจะเข้าสู่วังวนของทฤษฎี ห้าขั้นแห่งความโศกเศร้า

            ทฤษฎี ห้าขั้นแห่งความโศกเศร้า (5 Stage of grief) ถูกเขียนขึ้นโดย Elisabeth Kubler Ross เป็นทฤษฎีขั้นตอนของการก้าวผ่านความสูญเสีย โดยแบ่งความรู้สึกและระยะออกเป็น 5 ขั้นว่าเมื่อเราสูญเสียใครสักคนจะเกิดอะไรขึ้นบ้างและในแต่ละระยะนั้นควรทำอย่างไร

1.ปฏิเสธและออกห่าง (Denial and Isolation)

            เมื่อเกิดความสูญเสียหรือผิดหวัง เป็นปกติที่การปฏิเสธจะเป็นสิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นเช่น คนที่เรารักตีจากไป คนที่เรารักป่วย-เสียชีวิต เราอาจปฏิเสธเหตุการณ์นั้นโดยทันที หรืออาจจะแยกตัวออกไปเพื่อที่จะไม่ต้องรับรู้ถึงความจริงอันแสนเจ็บปวดเหล่านั้น

2.โกรธ (Anger)

            เมื่อเราไม่สามารถปฏิเสธความจริงได้แล้ว แน่นอนเราย่อมโกรธ ไม่ว่าจะเป็นโชคชะตาหรือปัจจัยอื่นๆ ว่า ทำไมช่างไม่ยุติธรรมกับเรา และบางคนอาจจะเฝ้าถามถึงตัวเองว่า เราไปทำอะไรใครไว้ ทำไมเราถึงต้องมาเจออะไรแบบนี้

3.ต่อรอง (Bargaining)

            หลังจากความโกรธเริ่มน้อยลง เราอาจจะเริ่มอ้อนวอน หรืออยากกลับไปแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาด เป็นระยะที่เราไม่มั่นคงในจิตใจมากที่สุด เช่น ในกรณีที่เป็นการ “จากตาย” อาจจะ อ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม หรือคิดไปถึงอดีตว่า ถ้าวันนั้น… ถ้าเราทำแบบนั้น… ถ้า…ทุกอย่างจะดีขึ้นไหมนะ? เราจะรู้สึกสับสน พยายามหาคำตอบที่จะมาชดเชยในสิ่งที่ทำพลาดไป   ในกรณีของหลายคนที่จากเป็น เช่น เลิกรากับแฟนก็อาจจะพยายามกลับไปง้อด้วยวิธีการต่างๆ  แน่นอนว่าการต่อรองวิงวอนต่อสิ่งต่างๆ ถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในทุกๆ ครั้งแต่ก็ทำให้บรรเทาความสับสนเสียใจลงได้ ในขั้นตอนนี้ลองพยายามใช้สติ ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นหากมันไม่สามารถย้อนกลับมาแก้ไขได้อีกแล้ว และเมื่อผ่านพ้นด่านนี้ไปแล้วเราก็จะเข้าสู่ขั้นถัดไป

4.เศร้าหมอง (Depression)

            หลังจากที่ผ่านความรู้สึกโศกเศร้าผ่านขั้นตอนต่างๆ มามากมาย เป็นปกติที่เราจะผิดหวังแต่เราจะเริ่มรู้ตัวเองอย่างชัดเจนแล้วว่าเราต้องยอมรับกับความจริงที่แสนโหดร้ายนี้ เราจะเริ่มเข้าสู่ระยะเศร้าหมอง เราจะมีอาการซึมเศร้า หดหู่ ในช่วงนี้พยายามสังเกตอาการตัวเอง คุยกับคนรอบข้างเพื่อระบายสิ่งที่อยู่ในใจ หากรู้สึกแย่มากๆ จนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือผู้ให้คำปรึกษาดู

5.ยอมรับ (Acceptance)

            ในท้ายที่สุดหากเราผ่านขั้นตอนต่างๆ มาแล้ว สุดท้ายเราจะยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ความเสียใจต่างๆ จะค่อยๆ ดีขึ้น (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เสียใจแล้วนะ อย่าไปสะกิดแผลใจของเขาโดยไม่จำเป็นล่ะ)  ถึงแม้จะยังไม่ได้หายดี ยังไม่ได้ถึงขั้นมีความสุข แต่ก็เริ่มสงบ เริ่มอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น ช่วงนี้ลองหากิจกรรมหรือสิ่งที่เราทำแล้วสบายใจ พยามก้าวข้ามผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายนี้ไปให้ได้ และในท้ายที่สุดเราจะหลุดพ้นจากวังวนความเศร้าหมองในครั้งนี้เอง

            ความโศกศร้าเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน และจะเกิดขึ้นกับทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องเศร้าๆ ในชีวิตเราได้ แต่เราก็สามารถที่จะเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ปรับตัวและรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเอง ซึ่งการพบเจอความรัก ความสัมพันธ์นั้นก็เหมือนกับการลืมตาหรือหลับตาครับ เราลืมตาตลอดเวลาไม่ได้ ยิ่งเราฝืนยื้อที่จะลืมตาต่อไปตาเราก็ยิ่งแห้งยิ่งล้าและน้ำตาก็ยิ่งไหล และไม่ว่าเราจะฝืนความปวดล้าเท่าไหร่ หลั่งน้ำตามากเท่าใด สุดท้ายเราก็ต้องหลับตาลงอยู่ดี จึงกล่าวได้ว่า เมื่อมีลืมตาสุดท้ายยังไงก็ต้องหลับตา  ความสัมพันธ์ก็เช่นเดียวกันครับ เมื่อมีพบเจอสุดท้ายก็ต้องจากลา สิ่งที่เราควรทำไม่ใช่การฝืนยื้อลืมตาจมอยู่กับภาพจำที่สวยงาม แต่สิ่งที่เราควรทำจริงๆ นั้นคือ ยอมหลับตาสักพัก ก้าวออกมาจากภาพจำในอดีต เพื่อลืมตาไปพบกับการพบเจอครั้งใหม่อย่างแจ่มใสนั่นเองครับ

            สุดท้ายนี้ ไม่ว่าใครก็ตามที่กำลังเผชิญกับการจากลา จะจากเป็นหรือจากตายก็ตาม ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้สามารถจัดการกับความรู้สึกของตนเองกันได้ดียิ่งขึ้นนะครับ ไม่ว่าใครก็ต้องมีทั้งการลืมตาและการหลับตา หากคุณกำลังฝืนลืมตาที่เมื่อยล้าของคุณเอาไว้อยู่ ผมขอเป็นกำลังใจให้ครับ ขอให้ทุกคนพบวิธีที่จะหลับตาลง เยียวยาดวงตาและจิตใจที่อ่อนล้า  เพื่อลืมตาขึ้นมาพบกับวันใหม่ที่สดใสพร้อมกับทุกๆ คนให้ได้โดยเร็วนะครับ

สัณห์ จรรยารุ่งโรจน์

นิสิตฝึกงานจิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ข้อมูลอ้างอิง