หลายคนกล่าวว่า ตอนนี้สังคมเปิดกว้างมากขึ้น มีการยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่สังคมเข้าใจความหลากหลายทางเพศจริงๆ เหรอ
เรายังมักได้ยินคนพูดว่า ชอบอยู่กับเพื่อนกะเทย กะเทยตลกดี เรียกเสียงหัวเราะได้ ทั้งที่คนที่แสดงออกว่าเป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวตลก หรือต้องตลกเพื่อให้อยู่ในสังคมได้ หรือการเหมารวมอื่นๆ เช่น คิดว่าทอมดี้ทุกคนชอบความรุนแรง
กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ก็เป็นคนหนึ่งที่เหมือนคนทั่วไป มีบุคลิกภาพที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งในปัจจุบันมีการยอมรับในเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศมากมาย มีทั้งที่มีคำนิยามและยังไม่มีคำนิยาม เช่น Gay, Bisexual, Transgender หรือ Questioning (Gueer)
แต่ที่สำคัญ สังคมเปิดกว้างให้การยอมรับและเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศแล้วหรือไม่ หลายคนยังคงระบุคนตามเพศสภาพ ตัวอย่างเช่น คนนี้เป็นทอม คนนี้มีแฟนเป็นทอม คนนี้เป็นเกย์ ผมไม่กล้าอยู่กับเค้าสองต่อสองกับเค้าหรอก กลัวเค้าจะทำอะไร ทำไมถึงไม่มองว่าเค้าคือ คนคนหนึ่ง เค้ามีชื่อเรียก เค้าชื่อ เอ ไม่ได้ชื่อ เอที่เป็นทอม เอที่เป็นเกย์ เอที่เป็นกะเทย เป็นดี้ หรืออะไรที่จะนิยาม
นอกจากเยาวชนกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จะต้องต่อสู้กับความสับสนภายในตัวเอง ว่าแท้จริงแล้วเรามีอัตลักษณ์ทางเพศแบบไหนกันแน่ พ่อแม่และเพื่อนจะยอมรับได้หรือไม่ที่เรามีรสนิยมทางเพศแบบนี้ จะรังเกียจเราหรือไม่ พวกเขายังต้องรับมือจากการปฏิบัติจากสังคมอันจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของเยาวชนคนนั้น
การสำรวจของ Trevor Project พบว่า 1 ใน 3 ของเยาวชน LGBTQ ถูกคุกคามหรือถูกทำร้ายเนื่องจากอัตลักษณ์ทางเพศ และจากการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 40,000 คน พบว่า 46% ของกลุ่มตัวอย่างต้องการความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้ และครึ่งหนึ่งของเยาวชน LGBTQ เคยพยายามฆ่าตัวตาย และ 68% ของกลุ่มตัวอย่างมีอาการของโรควิตกกังวลและ 55 % มีเป็นโรคซึมเศร้า
และมีการพบว่าเยาวชน LGBTQ ถูกไล่ออกหรือหนีออกจากบ้านเนื่องจากอัตลักษณ์ทางเพศ และยังมีปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่ง เมื่อเยาวชน LGBTQ มากกว่า 40% ไม่กล้าไปพบจิตแพทย์ เพราะต้องขออนุญาตจากผู้ปกครอง ซึ่งในประเทศไทย น้องญา ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา เยาวชนผู้ยื่นขอแก้กฎหมายเพื่อเพื่อนที่มีอาการซึมเศร้า เนื่องจากพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 21 วรรค 3 กำหนดว่า กรณีผู้ป่วยมีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ ต้องให้ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล เป็นผู้ให้ความยินยอม ซึ่งน้องญาได้แจ้งว่า จากการเข้าร่วมประชุมเรื่องการให้บริการของจิตแพทย์กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีกับกรมสุขภาพจิต ได้ข้อสรุปว่า คำว่า “ผู้ป่วย” ในพระราชบัญญัติสุขภาพจิต หมายถึง บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตซึ่งควรได้รับการบำบัดรักษา ซึ่งได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว
เยาวชนที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์สามารถเข้าพบจิตแพทย์ได้โดยไม่ต้องให้ผู้ปกครองพาไป เมื่อเด็กเข้าพบจิตแพทย์แล้ว จะได้รับการบริการให้คำปรึกษา การดูแลเบื้องต้นและสามารถตรวจสุขภาพจิตเบื้องต้นได้ ซึ่งคุณหมอจะประเมินในส่วนของภาวะอันตรายและเร่งด่วนในการบำบัดรักษา โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กและเก็บรักษาความลับของคนไข้เป็นสำคัญ หากจะแจ้งผู้ปกครองจะต้องแจ้งเยาวชนก่อน
เพื่อนที่เข้ามาอ่านบทความนี้แล้วสงสัยว่าตัวเองมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตหรือต้องการปรึกษาปัญหา สามารถเข้าพบจิตแพทย์ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องให้ผู้ปกครองให้ความยินยอม หรือต้องการคำปรึกษาเบื้องต้นก็สามารถปรึกษาพี่ๆ ผ่านทางห้องแชทเลิฟแคร์ www.lovecarestation.com เวลา 16.00-24.00 น. ทุกวัน ฟรี
#####
อ้างอิง:
https://teens.webmd.com/news/20200721/many-lgbtq-youth-suffer-from-mental-health-woes#1
https://www.facebook.com/prachaya.kidwriter.56/posts/654160992011856