เรื่องชวนวุ่น : เมื่อยาของหัวใจ เจอกับความเป็นวัยรุ่น 

เรื่องชวนวุ่น : เมื่อยาของหัวใจ เจอกับความเป็นวัยรุ่น 

การใช้ยาจิตเวชในเด็กวัยรุ่น เป็นการรักษาทางการแพทย์ที่มุ่งจัดการกับอาการที่เกิดขึ้นทางอารมณ์ สังคม อันมีสาเหตุมาจากสารเคมีที่เปลี่ยนแปลงในสมอง โดยยามีส่วนในการสร้าง เปลี่ยนแปลง และยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทภายในสมอง โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้การดูแลอย่างใกล้ชิด 

ยาจิตเวชมีทั้งยาที่เป็นการใช้แบบฉุกเฉิน แต่ยาส่วนใหญ่ต้องใช้ระยะเวลาในการปรับสารเคมีประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้อาการทางจิตใจสงบลง โดยในช่วงแรกของการใช้ยามักได้รับการรายงานจากผู้ป่วยว่ามึนงง ง่วงนอน อ่อนล้า คิดสร้างสรรค์ได้ยาก ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของช่วงต้นในการใช้ยาทางจิตเวช (1)

อีกทั้งการใช้ยาจิตเวชหลายชนิดในวัยรุ่นจำเป็นต้องให้รับประทานในปริมาณที่มากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากอาการที่แสดงออกทางอารมณ์ที่มากกว่า และเกิดจากกระบวนการเมตาบอลิซึม (ย่อยสลาย) ของวัยรุ่นดีกว่าวัยผู้ใหญ่ จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องย้ำเรื่องการใช้ยาถูกชนิดและขนาดตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด 

มีวัยรุ่นไม่น้อยที่ตอบสนองด้วยทัศนคติเชิงลบต่อการใช้ยา ได้แก่

1.ความหุนหันที่อยากดีขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้การรอยคอยการตอบสนองหรือปรับเปลี่ยนของเคมีในสมองไม่ทันกับความต้องการของวัยรุ่นจึงเกิดการทานยาไม่ต่อเนื่อง

2.แม้การทานยาจะส่งผลตรงไปตรงมากับสารเคมีในสมอง แต่การมีแรงจูงใจต่อการดีขึ้นอย่างมั่นคง จัดการอารมณ์ตนเองได้ จะส่งผลดีต่อการทานยาต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์

3.วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการได้รับการยอมรับทางสังคม การมีทัศนคติเรื่องความเจ็บป่วยด้านจิตใจเป็นเชิงลบ ส่งผลต่อความกังวลว่าตนเองจะไม่เป็นส่วนหนึ่งที่สมควรได้รับการยอมรับจากสังคม หากเข้ารับการรักษา หรือกินยา

4.มีวัยรุ่นไม่น้อยที่มีความเชื่อว่าโรคทางจิตเวชมาจากใจที่อ่อนแอ ทำให้การยอมรับการรักษาหรือกินยาส่งผลอย่างมากต่อความรู้สึกกับตนเอง กินยาจึงมีความหมายเท่ากับอ่อนแอสำหรับวัยรุ่นไม่น้อย 

เหตุผลที่จำเป็นต้องอธิบายเกี่ยวกับการใช้ยาจิตเวชในวัยรุ่น เพราะมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการนำยาไปใช้อย่างผิดวิธี เพราะ “ความวัยรุ่น” ที่อยากรู้อยากลอง และใช้ระบบอารมณ์ในการตัดสินใจ อาจเลือกที่จะใช้ยาจิตเวชเพื่อประโยชน์อื่นๆ ก็เป็นได้ 

 

เพราะวัยรุ่นไม่น้อยที่เลือกใช้ “ฤทธิ์หรือผลข้างเคียง” ของยาจิตเวชในการตอบสนองกับความต้องการของตนเอง อาทิ

1.ใช้ฤทธิ์หรือผลข้างเคียงเพื่อความสนุกสนาน โดยอาจเริ่มจากความกังวลปนตื่นเต้นซึ่งเป็นความรู้สึกที่ชักนำให้วัยรุ่นทำสิ่งเสี่ยงได้ง่าย เมื่อยาทางจิตเวชออกฤทธิ์ผสานกับกิจกรรม เพลง แสงสี ก็ให้ความสนุกเพิ่มขึ้นเพราะความมึนเมา

2.ยาจิตเวชหลายชนิดให้ฤทธิ์มึนงง ทำให้เกิดสภาวะที่ผ่อนคลาย ทำให้วัยรุ่นเลือกใช้ยาทางจิตเวชในการคลายอารมณ์เมื่อต้องทำกิจกรรมอย่างหนักเพื่อคลายความเครียดไวๆ ตามฉบับของวัยรุ่น  

3.ความสนุกสนาน ความผ่อนคลาย เป็นประตูที่จะทำให้การเข้าสังคมเป็นเรื่องง่าย หลายครั้งมีการใช้ยาจิตเวชกล่อมให้ตนกลมกลืนกับสังคมได้ง่ายขึ้น 

การใช้ที่ไม่มีแพทย์ควบคุม น่ากังวลอย่างไร 

1.ความสุขที่วัยรุ่นได้รับ อาจเป็นผลข้างเคียงที่น่ากังวล อาทิ มึนงง ง่วงนอน อ่อนล้า คิดสร้างสรรค์ได้ยาก แต่สำหรับวัยรุ่นอาจตีความเป็น เมา วาป ชิล ทิ้งตัว 

2.อีกทั้งร่างกายวัยรุ่นมีความสามารถในการย่อยสลายยาได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ยาในปริมาณไม่มากไม่อาจทำให้วัยรุ่นได้รับความพึงพอใจ เมา วาป ชิล ทิ้งตัว ทำให้เกิดการใช้ยาจิตเวชเกินขนาด 

3.ผลข้างคียงของยาจิตเวช ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ความรู้สึก เชิงบวก สอดคล้องกับความต้องการที่จะมีความสุขที่ง่าย และฉับไวตามไสตล์ของวัยรุ่น ทำให้เกิดภาวะเสพติดได้ง่าย ทั้งยังมีแนวโน้มใช้ยาในปริมาณที่ควบคุมไม่ได้ 

ซึ่งอาจอันตรายต่อระบบประสาทและสมอง รวมถึงระบบอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ไขมันพอกตับ ไตทำงานหนัก ความดันโลหิตสูง เป็นต้น  

แน่นอนการใช้ยาจิตเวชด้วยตนเองคือสิ่งที่อันตราย แต่หากวัยรุ่นกำลังใช้อย่างผิดวิธี เพราะยังอยู่กับความพึงพอใจต่อการใช้ จะสามารถมีการประเมินตนเองอย่างไรให้เข้าใจว่าตนเองกำลังเข้าสู่ภาวะเสพติดหรือไม่ ทั้งนี้มีวัยรุ่นไม่น้อยตีความว่า “เสพติดคือหยุดไม่ได้” ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงการเสพติดก็มีระดับ

1.Fun การใช้ยาจิตเวชเพื่อความสนุกสนาน หรือเพิ่มความสนุกสนานกับกิจกรรมที่เคยทำ เมื่อทำกิจกรรมชนิดนั้น อาทิ ฟังเพลง เต้น มักหวนคิดถึงการใช้และมีแนวโน้มพยายามมากในการหายาจิตเวชมาใช้ร่วมกับกิจกรรมสนุกสนานเพราะ กิจกรรมเดิมๆ ที่เคยสนุกนั้น ไม่สนุกสนานเท่าเดิม 

2.Fear การใช้ยาจิตเวชเพื่อลดความกังวล เครียด เพราะการออกฤทธิ์และผลข้างเคียงของยาจิตเวช มักให้อาการคล้ายมึนงง กระบวนการคิดช้าลง การใช้ยาจิตเวชเพื่อผ่อนคลาย มักมาพร้อมกับความสบายทางความคิด อารมณ์ “ปล่อย หัวโล่ง” มักเป็นคำแทนสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการใช้ยาจิตเวชเพื่อผ่อนคลายอารมณ์

3.Function เมื่อใช้ยาจิตเวชต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อความสนุกสนาน หรือผ่อนคลาย และมีความพยายามมากที่จะหายาจิตเวชมาใช้ในทุกครั้งเมื่อต้องการความรู้สึกเหล่านั้น อีกทั้งยังต้องใช้ในปริมาณที่มากขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ แต่ตรงข้ามกลับได้ระดับความสนุกสนานและการผ่อนคลายเท่าเดิม หรือน้อยไปกว่าที่ต้องการ สิ่งนี้กำลังเป็นสัญญานอันตรายว่าวัยรุ่นกำลังเข้าสู่ภาวะเสพติด 

การเริ่มต้นใช้ยาจิตเวชด้วยความต้องการที่จะสนุกสนานและผ่อนคลาย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ โดยสิ่งที่น่ากังวลคือผลต่อร่างกาย ระบบขับถ่ายของเสีย ทั้งยังส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาทและสมอง หากสิ่งที่กำลังสนุกและผ่อนคลายเริ่มไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เริ่มควบคุมไม่ได้ วัยรุ่นสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างได้ก่อนที่จะไปสู่ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น 

 

นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น