พ่อแม่ยุคใหม่ ต้องเผชิญกับการเลี้ยงลูกที่อาจจะยากลำบากมากขึ้น ด้วยภาวะสังคม เศษฐกิจ การศึกษา เทคโนโลยี ฯลฯ ที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวเด็กเองก็ต้องเผชิญปัญหาตามช่วงวัยของเค้าเช่นกัน ไม่ว่า จะเรื่องเรียน เพื่อน ความรัก ความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นต้น ดังนั้นแล้ว เด็กๆ จึงควรถูกเตรียมพร้อมในการปรับตัวเมื่อต้องเจอปัญหาต่างๆ เพื่อที่จะก้าวข้ามและอยู่ในสังคมต่อไปได้ ด้วยการสร้างความยืดหยุ่นทางใจ (Resilience) ซึ่งคือความสามารถในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว หรือ รับมือกับปัญหาได้ หลังจากเจอความทุกข์ยากในชีวิต เป็นทักษะที่ฝึกฝนได้
เลิฟแคร์ จึงนำหลัก 7 C’s หรือ The Seven “Cs” of Resilience
(From the work of Kenneth Ginsberg, M.D., MS Ed, FAAP.) มาฝากคุณพ่อคุณแม่ ดังนี้
1. Connection – สร้างความผูกพัน เน้นสายสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่นและครอบครัว ให้เขารู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับภาพใหญ่ และเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจ สามารถทำได้โดย
a. สร้างความรู้สึกปลอดภัยภายในบ้าน ทั้งความปลอดภัยทางกายภาพและความปลอดภัยทางอารมณ์
b. เปิดพื้นที่ให้มีการสื่อสารและเปิดเผยอารมณ์ของกันและกัน เพื่อให้เด็กรู้สึกสบายใจที่จะชวนคุย/เปิดเผย ยามเผชิญปัญหาชีวิต
c. เปิดพื้นที่ให้สามารถพูดถึงความขัดแย้งเพื่อให้ทุกคนในบ้านร่วมกันแก้ปัญหา
d. จัดเวลาที่คนในบ้านจะได้มาอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน
e. ใช้การสื่อสารเชิงบวก และคำพูดเชิงบวก เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
2. Competence – ช่วยให้ลูกเกิดความรู้สึกว่าตนสามารถทำได้ ความรู้สึกว่าตนสามารถจัดการปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย
a. ช่วยลูกหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ
b. เมื่อประสบปัญหา ให้โฟกัสที่เหตุการณ์ หรือ issue ไม่ใช่โฟกัสที่ตัวบุคคล เช่น ถ้าลูกสอบตก อาจเป็นเพราะยังจัดตารางเวลาไม่ถูก เราอาจจะเก็งข้อสอบผิด หรือครั้งถัดไปอาจต้องปรับวิธีการดูหนังสือแบบใหม่ ไม่ใช่เพราะลูกโง่ ไม่เอาไหน หรือขี้เกียจ
c. ส่งเสริมให้ลูกตัดสินใจด้วยตัวเอง
d. ระวัง “ความเป็นห่วง” ที่พ่อแม่มี จะส่งสัญญาณผิดๆทำให้ลูกเข้าใจไปว่าพ่อแม่ไม่เชื่อมั่นว่าหนูทำได้ หรือพ่อแม่คิดว่าลูกจะพลาด
e. ให้ตระหนักถึงข้อดี/จุดแข็งที่แตกต่างกันของลูกแต่ละคน และห้ามเอามาเปรียบเทียบกันเป็นอันขาด
3. Confidence – ให้ลูกเกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งความมั่นใจนี้จะมาจากความรู้สึกว่าตนทำได้ (competence)
a. เน้นจุดแข็งของลูก และช่วยให้ลูกเชื่อมั่นในจุดแข็งนั้นของตน (ที่ไม่ต้องเหมือนคนอื่นก็ได้ เช่น น้อยเป็นคนใจดี หนิงเป็นคนมองภาพรวมได้เก่ง นิดเป็นคนละเอียดรอบคอบ ฯลฯ)
b. ให้สื่อสารออกมาอย่างชัดเจน ถึงคุณสมบัติที่ดีของลูก ซึ่งอย่าเน้นแต่ความเก่งแต่ให้เน้นคุณธรรมด้วย เช่น หนูเป็นคนรักความยุติธรรม หนูเป็นคนรักความถูกต้อง หนูเป็นคนใจดี หนูเป็นคนมุมานะ
c. เมื่อลูกทำได้ดี ต้อง “ชื่นชม” หรือพูดถึงให้เขารู้ว่าเรารับรู้ถึงข้อดีของเขา
d. เมื่อทำได้ดี ให้ชมที่ผลงานอย่างจริงใจ อย่าชมไปเรื่อยจนดูเหมือนขาดความจริงใจ
e. อย่าพยายามผลักให้ลูกต้องทำอะไรเกินตัว หรือบังคับให้เล็งผลเลิศกับทุกสิ่งอันอย่างไม่สมเหตุสมผล (เช่น ต้องสอบได้ A ทุกวิชาและต้องดนตรีดีกีฬาเก่ง ฯลฯ)
4. Character – เน้นการพัฒนาตัวตนของลูกในด้านคุณธรรม ความอ่อนโยน และการเอื้ออาทรกับคนรอบข้าง
a. สอนให้ลูกเห็นว่าการกระทำของเราจะส่งผลกับคนอื่นอย่างไร
b. ปลูกฝังให้ลูกมองตัวเองว่าเป็นคนที่อ่อนโยนและเอื้ออาทร (อาจจะชี้ให้เห็นจากการสนทนา เช่น ที่หนูอารมณ์ไม่ดี เพราะหนูเป็นห่วงน้องว่าจะโดนหลอกใช่มั้ย)
c. ให้ลูกเห็นความสำคัญของชุมชนและคนรอบข้าง
d. สนับสนุนให้ลูกพัฒนาจิตใจและพัฒนาทางจิตวิญญาณ ตามความเชื่อของตน (เจริญสติ ฝึกการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ)
e. หลีกเลี่ยงคำพูดหรือพฤติกรรมที่ racist, การตีตรา ตัดสิน กีดกัน ดูถูก เพื่อนมนุษย์คนอื่น จากเชื้อชาติ ภาษา รูปลักษณ์ ศาสนา การศึกษา รายได้ พฤติกรรมทางเพศ หรือลักษณะเฉพาะอื่นๆ
5. Contribution – ส่งเสริมให้เด็กตระหนักว่าตนมีพลังในการเปลี่ยนแปลงโลกได้ ให้เด็กเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมเพื่อทำการใหญ่
a. แสดงให้ลูกเห็นว่า ในโลกนี้ยังมีผู้คนมากมายที่ขาดแคลนและไม่มีโอกาสเท่าเรา
b. เน้นความสำคัญของความเอื้ออารี และการช่วยเหลือผู้อื่น
c. หาโอกาสที่ให้ลูกได้เป็นผู้ให้ หรือมีส่วนร่วมในการทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่
6. Coping – ฝึกให้ลูกเรียนรู้ในการรับมือกับความเครียด หรือปัญหาชีวิตต่างๆ โดย
a. เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกในการรับมือกับความเครียด โดยต้องทำตลอด เสมอต้นเสมอปลาย
b. สอนให้ลูกฝึกเทคนิกการรับมือกับความเครียด (เช่น grounding การหัดระบุอารมณ์ตัวเองให้ได้ การอยู่กับอารมณ์ตัวเองโดยไม่ตอบสนองมัน ฯลฯ)
c. พ่อแม่ต้องตระหนักว่า การบอกลูกเฉยๆว่าอย่าทำอย่างนั้นอย่าทำอย่างนี้ ไม่ใช่วิธีที่ได้ผล
d. พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า บางครั้งการที่ลูกไปมีพฤติกรรมเสี่ยง คือการพยายามหลีกหนีจากความเครียดและความเจ็บปวดในชีวิตประจำวัน
e. อย่าประณาม ประจาน ตีตราลูก เมื่อลูกกระทำผิด ไม่ควรให้ลูกต้องรู้สึกอับอายและเกิดปมฝังใจกับความผิดพลาดในอดีต
7. Control – ให้เด็กได้ตระหนักถึงความสามารถในการควบคุมชีวิตของตัวเอง ความสามารถในการควบคุมผลลัพธ์ที่มาจากการตัดสินใจของตน และให้เด็กมีความเชื่อว่าแม้จะเคยผิดพลาดแต่ตนก็สามารถปรับปรุงเพื่อกลับไปคุมชีวิตตนเองได้ ให้เด็กเข้าใจว่าตนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตตัวเองได้ ไม่ปล่อยไหลไปตามกระแส
a. ให้เด็กเข้าใจว่าเราสามารถจัดการเหตุการณ์ต่างๆในชีวิตได้ โดยการวางแผน ตัดสินใจ และลงมือทำ (ทุกอย่างไม่ได้เกิดตามยะถากรรม)
b. พ่อแม่ต้องฝึกวินัยลูกด้วยการบ่มเพาะ ปลูกฝัง และสั่งสอน ไม่ใช่ฝึกวินัยจากการทำโทษหรือคุมประพฤติ พ่อแม่ต้องใช้หลัก “การกระทำและการตัดสินใจของเราจะส่งผลต่ออนาคตและอาจกระทบกับคนอื่น” ในการฝึกวินัยลูก (เช่น ถ้าหนูกลับบ้านดึกโดยไม่บอก พ่อกับแม่ก็จะรอไปเรื่อยๆ โดยปิดบ้านไม่ได้เสียที ไม่ได้ไปพักผ่อน และเป็นห่วงว่าหนูเกิดอันตรายขึ้นมั้ย)