เสี่ยง HIV แล้วจะตรวจเลือดไหม ต้องตัดสินใจเอง

จารุวรรณ บัณฑิศักดิ์

ตอนเช้า ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง นักเรียนหลายๆ คน สนุกกับกิจกรรมในบู๊ธ เสียงหัวเราะ เสียงเชียร์ การตอบคำถามเพื่อชิงรางวัลยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีใครบางคนที่ยืนมองกิจกรรมด้วยสายตาที่กังวลและสับสน น้องคนนั้นรีบหลบตาทันทีที่สบตากับพี่ๆ ที่มาจัดกิจกรรม แล้วก็รีบเดินจากไปอย่างรวดเร็ว

เวลาของกิจกรรมผ่านไป สายตาของเราหันไปสบตากับน้องคนนั้นอีกครั้ง น้องกลับมาพร้อมกลุ่มเพื่อน ด้วยลักษณะท่าทางปกติ สายตาที่กังวลและท่าทางลุกลี้ลุกลนหายไป เราชวนให้น้องและเพื่อนของเขาเล่นกิจกรรมในบู๊ธ น้องรีบปฏิเสธ แต่เพื่อนก็คะยั้นคะยอให้น้องเล่นด้วย สุดท้ายน้องก็ร่วมกิจกรรมนั้น ซึ่งเป็นกิจกรรมลูกปัดความเสี่ยง สำหรับวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ โดยให้ผู้เข้าร่วมวิเคราะห์ด้วยตัวเอง และให้คำเฉลย โดยที่คนอื่นจะไม่ทราบว่าผลของการวิเคราะห์เป็นอย่างไร

ในขณะพี่ๆ กำลังทยอยเก็บของเมื่อจบกิจกรรม น้องคนนั้นเดินกลับมาขอคำปรึกษา เนื่องจากอ่านผลเฉลยเกมลูกปัดความเสี่ยงแล้วรู้สึกกังวล กลัวจะติดโรค น้องกล้าๆ กลัวๆ ที่จะเล่า เราจึงชวนมานั่งที่เก้าอี้ ห่างออกมาจากบู๊ธ เราทำความรู้จักกันในเบื้องต้นก่อนเพื่อให้น้องผ่อนคลาย และไม่เครียด เราถามถึงเรื่องที่น้องอยากปรึกษา น้องเริ่มเล่าว่า หลังจากที่ร่วมเล่นเกมแล้ว ผลเฉลยคือตัวเองมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ในระดับสีแดง ซึ่งหมายถึงเสี่ยงสูง

เราเลยถามน้องกลับไปว่าอะไรที่ทำให้คิดว่าตัวเองเสี่ยงขนาดนั้น น้องเล่าว่าน้องมีแฟนและมีอะไรกับแฟนมานานแล้ว ส่วนถุงยางอนามัยก็ใส่บ้าง ไม่ใส่บ้าง ถ้าไม่ใส่ก็ให้แฟนกินยาคุมฉุกเฉิน เพราะตอนนั้นไม่ได้คิดถึงการติดโรค แค่คิดว่าไม่ให้ท้อง ก็โอเคแล้ว

หลังจากฟังน้องเล่าเรื่องทั้งหมด สิ่งที่เราช่วยน้องได้ตอนนั้นคือให้ข้อมูลว่า ถ้าน้องอยากรู้ว่าสิ่งที่กังวลอยู่นั้นผลเป็นอย่างไร น้องสามารถไปตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีได้ที่สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง โดยไม่ต้องกลัวว่าพ่อแม่ หรือเพื่อนจะรู้ เพราะสถานพยาบาลมีหน้าที่ต้องรักษาความลับให้น้อง และหลายแห่งก็ให้บริการที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น

สุดท้ายก่อนที่จะจากกัน เราทำได้เพียงให้น้องตัดสินใจเองว่าจะไปตรวจเลือดหรือไม่ ….