เด็กทารกมีโอกาสรับเชื้อเอชไอวีจากแม่ที่ติดเชื้อฯ ได้ใน 3 ช่วง ได้แก่
- ช่วงอยู่ในท้องแม่ (ก่อนคลอด) : ตามปกติแล้วแม่กับลูกต่างมีระบบไหลเวียนเลือดของตัวเอง โดยมีรกทำหน้าที่กั้นและคัดกรองเฉพาะสารอาหาร ออกซิเจน รวมทั้งภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเอชไอวี ผ่านเข้าสู่เด็กในครรภ์ แต่เชื้อเอชไอวีสามารถผ่านไปสู่ลูกได้หากรกมีความผิดปกติ เช่น รกเกาะต่ำ หรือมีรูรั่ว
- ช่วงคลอด : มีโอกาสที่เด็กจะได้รับเชื้อเอชไอวีมากที่สุด เพราะทารกมีโอกาสสัมผัสเลือดแม่ในระหว่างคลอดได้มาก รวมทั้งสัมผัสน้ำในช่องคลอด ซึ่งเชื้อเอชไอวีจะผ่านเข้าทางเนื้อเยื่อบุอ่อนของทารกได้ เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุทางเดินอาหาร เป็นต้น
- ช่วงหลังคลอดที่ทารกดูดนมแม่ : แม้ว่าในน้ำนมจะมีเชื้อเอชไอวีไม่มาก แต่เด็กจะกินนมแม่ในปริมาณมากเป็นเวลานาน ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงในการรับเชื้อเอชไอวี ผ่านเยื่อบุทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น
โดยทั่วไป ทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่มีเชื้อเอชไอวีมีโอกาสรับเชื้อฯ ประมาณร้อยละ 25 – 30 และโอกาสในการรับเชื้อฯ ของเด็กจะลดลงเหลือประมาณร้อยละ 1 – 2 ถ้าหญิงตั้งครรภ์ได้รับการดูแลสุขภาพและยาต้านไวรัสแต่เนิ่นๆ ตามแผนการรักษาและให้เด็กดื่มนมผสมแทนนมแม่
ทั้งนี้ โอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีจากแม่จะเพิ่มขึ้น หากแม่มีปริมาณเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือดจำนวนมาก และระยะเวลาในการคลอดนานกว่า 4 ชั่วโมง
ที่มา : www.thaiplus.net เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย