แต่งตัว แต่งใจ ให้ได้เป็นตัวเอง

แต่งตัว แต่งใจ ให้ได้เป็นตัวเอง

เคยใส่เสื้อผ้ากลับด้านไหม ส่งผลต่อความรู้สึกคุณอย่างไร

เคยต้องใส่เสื้อผ้าของคนอื่นหรือเปล่า พึงพอใจ เคอะเขิน อึดอัดหรือไม่

เคยถูกบอกให้แต่งอย่างที่คนอื่นอยากให้เป็นหรือไม่ ยอมรับได้ หรืออยากจะพูดอะไร

เคยได้รู้ถึงการยกพวกกันทำร้ายเพราะสวมใส่เสื้อผ้าต่างสถาบันหรือไม่ เข้าใจหรือเปล่าว่าเหตุเพราะอะไร

เคยได้ยินประโยคที่ว่า “เป็นผู้ชายทำตัวอย่างนี้น่าจะใส่ประโปรงซะดีกว่า” แม้จะเข้าใจแต่อาจไม่เห็นด้วยกับทุกคำที่ได้ยิน

ประโยคเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งแทนความหมายของ “การแต่งกาย” ว่ามีความหมายกับชีวิตมนุษย์มากกว่าเพียงเครื่องนุ่งห่ม แต่การแต่งกายให้ความหมายเชิงสัญลักษณ์ เชิงสังคม และอัตลักษณ์เฉพาะบุคคล การแต่งกายแสดงความรู้สึกรักตนเอง เป็นตัวของตัวเอง การนำเสนอความเป็นตัวเองจากภายในสู่ภายนอก การเป็นส่วนหนึ่งและการรวมเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน การแต่งกายจึงมีคุณค่า แสดงความมีตัวตนของมนุษย์

ผู้หญิงสีชมพู ผู้ชายสีฟ้า คือ แนวคิดการแต่งตัวขั้นต้นที่พ่อแม่มีให้กับลูกที่กำลังจะเกิดมา

ผู้หญิงกระโปรง ผู้ชายกางเกง คือ แนวคิดการแต่งตัวขั้นต่อมาที่สังคมมีให้กับคนวัยเด็กที่กำลังเติบโต

ผู้หญิงผมยาว ผู้ชายผมสั้น คือ แนวความคิดการแสดงออกที่วัฒนธรรมมีให้กับวัยรุ่นที่กำลังต้องการแสดงความเป็นตัวเอง

โดยเราอาจไม่เคยถาม ในความหมายของการแต่งที่แสดงถึงตัวตนของความเป็นมนุษย์ “ว่าเขาต้องการใช้สีอะไร แต่งตัวด้วยเสื้อชุดไหน และไว้ทรงผมอย่างไร” และแน่นอนแม้ว่าเราในฐานะผู้ใหญ่อาจไม่เคยถาม วัยรุ่นก็อาจแสดงออกสิ่งเหล่านี้ออกมาด้วยตนเอง ตามพัฒนาการทางสังคมที่ต้องการแสดงออกเพื่อได้รับการตอบสนองกลับจากสังคมเพื่อตอบกับตนเองว่า “ฉันเป็นใครในสายตาคนอื่น”

เสื้อผ้าสีฉูดฉาด

ผู้ชายที่ใส่กางเกงขาบาน

ผู้หญิงตัดผมสั้น

ผู้ชายทาสีเล็บ

เสื้อขนาดเล็กหรือใหญ่ชนิดไม่พอดีตัว

ผู้ใหญ่จะได้โอกาสดีที่จะได้รู้จักโลกของพวกเขาผ่านการแต่งกาย เพราะมันอาจจะมาจากสิ่งที่ชอบ หรือมากกว่านั้น การแต่งกายของเขาอาจมาจากสิ่งที่เขารัก คนต้นแบบที่เขาประทับใจ และอยากแสดงออกความรักความพึงพอใจนั้นผ่านการแต่งกาย

…แต่ผู้ใหญ่หลายคนกลับใช้โอกาสนี้ ตำหนิการแต่งกายของเขาที่ต่างออกไปจากเรา คำวิจารณ์ถึงนิสัยและคุณธรรม ท่าทีสบประมาทและการกล่าวอ้างเรื่องวุฒิภาวะโดยเอาการมีรายได้เป็นตัวตั้ง “หาเงินด้วยตัวเองให้ได้แล้วค่อยแต่ตัวอย่างอิสระ” เน้นการสอนการแต่งกายอย่างที่ถูกที่ควรตามความคิดของผู้ใหญ่ “ผู้หญิงควรจะ.. ผู้ชายควรจะ..”  ส่งผลให้พื้นที่ปลอดภัยของวัยรุ่นน้อยลง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของเราห่างกันมากขึ้น

..วัยรุ่นหลายคน “เงียบขึ้น” เมื่อถูกถามถึงความรู้สึก เพราะความกังวลว่าจะไม่ได้รับการยอมรับ

..วัยรุ่นหลายคน “โกรธ” เมื่อถูกรุกล้ำอธิปไตยบนเสื้อผ้าและเส้นผม

..วัยรุ่นหลายคน “เศร้าใจ” ที่ไม่ได้รับการยอมรับแม้เพียงเสื้อซักตัวที่เขาจะเลือกใส่

..วัยรุ่นหลายคนพร้อมจะประกาศตัวใหม่บนโลกใบนี้ว่า “ฉันไม่สนใจใคร” เพราะเชื่ออย่างอัตโนมัติว่า “ไม่มีใครเข้าใจ และหมดหวังที่จะให้ใครมาเข้าใจ” ทำให้เกิดการต่อต้าน ส่งผลต่อพฤติกรรมวางตัวและการแต่งกายอย่างผิดที่ผิดเวลา ยิ่งกระตุ้นสายตาจับจ้องจากผู้ใหญ่ ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์เชิงลบและการต่อต้านที่ทับซ้อนของวงจร

ผู้ใหญ่จะทำอย่างไรให้วัยรุ่นสามารถแสดงออกความเป็นตัวตนผ่านการแต่งกายได้อย่างปลอดภัย ?

1.ผู้ใหญ่ควรตระหนักว่า การแต่งกายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะเลือกเสื้อผ้าอาภรณ์มาประดับตน

2.แม้มีความเห็นที่แตกต่าง ไม่เห็นด้วย การสงบอารมณ์และเปิดใจให้วัยรุ่นรู้สึกปลอดภัยที่จะนำเสนอตัวเอง จะทำให้ผู้ใหญ่สามารถเข้าใจโลกของวันรุ่นมากขึ้น

3.การพูดถึงการแต่งตัวในเชิงวิจารณ์ลักษณ์นิสัย อาทิ “แต่งตัวไม่เรียบร้อย แรด ทรงโจร” และท่าทีที่สบประมาทผ่านน้ำเสียง สายตา เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความแตกแยก

4.การให้ทัศนคติเรื่องการแต่งกายที่เหมาะสมจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในขณะที่ผู้ใหญ่และวัยรุ่นอารมณ์สงบทั้งคู่ หากอยู่ในภาวะที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำลังประสบกับอารมณ์เชิงลบ การให้ทัศนคติหรือการสอนมักจบลงด้วยปัญหาความสัมพันธ์

วัยรุ่นจะทำอย่าไรให้สามารถแสดงออกความเป็นตัวเองผ่านการแต่งกายไปพร้อมๆ การรักษาสัมพันธภาพ

1.เข้าใจเจตนา ผ่านเนื้อหาที่ผู้ใหญ่พยายามสื่อสาร เพราะแม้หลายครั้งที่สีหน้าท่าทางของผู้ใหญ่จะดูเป็นการตำหนิ หากเวลาผ่านไปสงบอารมณ์ลงจะเห็นได้ถึงเจตนาที่แท้จริงที่ผู้ใหญ่ต้องการจะสื่อ

2.แม้การแต่งกายจะเป็นอธิปไตยที่วัยรุ่นต้องได้รับการปกป้อง แต่เวลา และสถานที่ที่วัยรุ่นไปก็ย่อมมีอธิปไตยและควรได้รับการปกป้องด้วยเช่นกัน ดังนั้น การแต่งกายแบบถูกใจย่อมต้องสอดคล้องกับความถูกสถานที่และถูกเวลาเพื่อการเคารพระหว่างกันและกัน

3.และแม้จะเป็นสถานที่ทั่วไป ที่วัยรุ่นจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ แต่หากการแต่งตัวนั้นรบกวนความกังวลใจของผู้ใหญ่เป็นอย่างมาก วัยรุ่นอาจทบทวนและชั่งใจว่าคุ้มแค่ไหนที่จะเป็นตัวเองแต่สะสมเป็นความกังวลใจของพ่อแม่ หรือมีทางเลือกอื่นไหมที่วัยรุ่นได้เป็นตัวเองแบบกลางๆ พร้อมทั้งยังได้รักษาใจของพ่อแม่ที่มีความคิดเห็นเรื่องแต่งกายแตกต่างไปกับเรา

4.การแต่งกายที่เป็นตัวเอง ย่อมต้อง’คำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดจากภัยทางสังคมที่ควบคุมไม่ได้ อาทิ การแต่งกายด้วยชุดที่ล่อแหลมทางเพศ หรือสวมใส่ของมีค่าในที่สาธรณะ เป็นต้น

นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น