ปัจจุบันวัยรุ่นมีทัศนคติต่อการบำบัดรักษาด้านจิตใจมากขึ้น ในขณะที่ช่วงวัยของพ่อแม่ยังอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการบำบัดรักษา แม้บรรยาศเช่นนี้จะเป็นบรรยากาศที่ดีที่เด็กและวัยรุ่นมีแนวโน้มเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือ หากแต่ยังมีช่องว่างในความเข้าใจยังส่งผลให้ผู้ใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการเข้ารับการบำบัดรักษา วัยรุ่นจึงร้องขอสิทธิ์ในการดูแลหัวใจตัวเอง
3 ข้อมูล 1 ความเข้าใจ คือสิ่งที่บทความนี้จะชวนให้วัยรุ่นได้ทราบถึงกระบวนการที่เข้าสู่การบำบัดรักษา
3 ข้อมูลที่ได้กล่าวไว้ ได้แก่ …
1. รายชื่อสถานพยาบาลของรัฐฯที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โดยสามารถเข้าไปติดตามข้อมูลได้ในเว็บไซต์เลิฟแคร์ จากลิงค์นี้ https://bit.ly/3qLtvXQ
2. สิทธิ์ในการรักษาด้านสุขภาพจิตในวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ในกรณีไม่มีผู้ปกครอง
โดยเมื่อเด็กมารับบริการในสถานพยาบาลจะได้รับบริการในการซักประวัติ คัดกรองประเมินปัญหาและอาการตามเกณฑ์จำแนกประเภทในผู้ป่วยจิตเวช และให้ข้อมูล ข้อควรทราบในการเข้ารับบริการ ซึ่งในส่วนนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบขึ้นอยู่กับโครงสร้างและบริบท อาทิ ถ้าเด็กๆ เข้ารับบริการในช่วงกลางวัน อาจได้เข้ารับบริการในส่วนนี้จากวิชาชีพด้านจิตเวชและจิตวิทยาโดยตรง แต่ถ้าเด็กๆเข้ารับบริการในช่วงนอกเวลาราชการ อาจได้รับบริการในส่วนนี้จากแผนกฉุกเฉินหรือแผนกเฉพาะของสถานพยาบาลนั้นๆ
หากประเมินแล้วการเข้ารับบริการเป็นกรณีจิตเวชฉุกเฉิน ให้ดูแลตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค หากจำเป็นต้องรักษาแบบผู้ป่วยในหรือส่งต่อ (ในกรณีที่อาจเสี่ยงต่อชีวิตและความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่น) ให้บังคับหรือขอความร่วมมือในการรักษาตาม พรบ.สุขภาพจิต 2551 หรือเมื่ออาการแสดงถึงความฉุกเฉินเร่งด่วนสงบลงให้เด็กเข้ารับการรักษาตามบริบทของ
สถานพยาบาลตามความเหมาะสม หากจำเป็นต้องรับการรักษาต่อเนื่อง วิชาชีพตกลงกับเด็กในการแจ้งการบำบัดรักษาให้แก่ผู้ปกครองทราบ
แต่หากการประเมินแล้วไม่พบกรณีที่อาจเสี่ยงต่อชีวิตและความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและผู้อื่น จะให้เด็กเข้ารับการรักษาตามบริบทของสถานพยาบาลตามความเหมาะสม โดยทำนัดหมายเพื่อส่งต่อสถานพยาบาลตามสิทธิ์และ/หรือ ส่งปรึกษาทีมสหวิชาชีพ (จิตแพทย์/นักจิตวิทยา/นักสังคมสงเคราะห์/พยาบาล/เภสัชกร) เพื่อให้การดูแลทางสังคมจิตใจตามอาการและลักษณะของปัญหา และขอความร่วมมือในการประสานความเข้าใจกับผู้ปกครองต่อไป
3. สิทธิ์ทางการเงิน สำหรับค่าบริการในการรักษา
การเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล โดยปกติแล้ว เด็กทุกคนจะมีสิทธิ์การรักษาพยาบาลประเภทบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ซึ่งจะสามารถเข้าใช้สิทธิ์ได้ในสถานพยาบาลของรัฐ รวมถึงศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ตามที่ได้กำหนดไว้ของแต่ละคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (สามารถสอบถามข้อมูลหน่วยงานที่ตนเองสามารถเข้ารับบริการได้จาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โทรศัพท์ 1330 หรือ http://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml )
ในกรณีที่มีการเข้ารับบริการของสถานพยาบาลนอกสถานที่ที่กำหนดไว้ในบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีของการใช้สิทธิฉุกเฉิน สำหรับเด็กที่มีความเสี่ยง ทั้งมีความเสี่ยงต่อตนเองและมีความเสี่ยงต่อผู้อื่น ซึ่งสามารถเข้ารับบริการในสถานพยาบาลของรัฐได้ทุกแห่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และ กรณีของการเข้ารับบริการในสถานการณ์ทั่วไป ที่ไม่ได้มีภาวะเสี่ยงหรือฉุกเฉิน ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาตามปกติ ซึ่งในส่วนนี้ สามารถขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลได้จากนักสังคมสงเคราะห์ ในแผนกสวัสดิการสังคมของสถานพยาบาลทุกแห่ง โดยทางนักสังคมสงเคราะห์จะทำการประเมินทางสังคมและเศรษฐานะเบื้องต้น เพื่อให้ความช่วยเหลือและจะแนะนำแนวทางในการใช้สิทธิ์การรักษาสำหรับการรักษาครั้งต่อไป
1 ความเข้าใจ จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าผู้เขียนและทีมสหวิชาชีพพยายามให้ข้อมูลในส่วนที่เป็นข้อมูลและสิทธิ์ในการรักษา ไปพร้อมกับการค่อยๆ ทำความเข้าใจไปร่วมกันในทุกฝ่าย ทั้งวัยรุ่นที่เข้ารับบริการ (เท่าที่วัยรุ่นยินยอมให้เปิดเผย) วิชาชีพที่ให้บริการ และท้ายสุดคือผู้ปกครอง เพราะเป้าหมายสำคัญในการทำงานด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น มุ่งเน้นการทำงานเป็นทีมทั้งในส่วนของการบำบัดรักษา และการปรับเปลี่ยนบริบทต่างๆ อาทิ การเลี้ยงดู การสื่อสาร เพื่อการช่วยเหลือวัยรุ่นอย่างรอบด้านและยั่งยืน
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น
นุสบา เสริมรัตนวิศิษฎ์ : นักสังคมสงเคราะห์