โรคกลัวอ้วนกับวัยรุ่น

โรคกลัวอ้วน (Anorexia Nervosa) หรือโรคคลั่งผอม เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางพฤติกรรมการกิน ร่วมกับความผิดปกติทางความคิดและอารมณ์ มักคิดวนเวียนเกี่ยวกับอาหาร น้ำหนักตัว รูปร่าง คิดว่าตัวเองอ้วนกว่าความเป็นจริง และพยายามควบคุมน้ำหนักตัวที่เป็นอันตรายกับสุขภาพ เช่น อดอาหาร ออกกำลังกายหักโหม ล้วงคออาเจียน ใช้ยาลดความอ้วน เป็นต้น เป็นโรคที่รักษาได้

อาการ
* พฤติกรรมการกินผิดปกติ เช่น กินน้อย นับแคลอรีอาหารที่กินแทบทุกอย่าง หลีกเลี่ยงอาหารพลังงานสูง หลีกเลี่ยงการกินอาหารกับคนอื่น
* ชั่งน้ำหนักตัวบ่อยๆ
* น้ำหนักน้อยกว่าน้ำหนักมาตรฐานที่ควรจะเป็น
* ปฏิเสธที่จะมีน้ำหนักตามปกติ หรือมีความกลัวอย่างรุนแรงที่น้ำหนักจะขึ้น
* เข้าห้องน้ำหลังกินอาหารเสร็จทันที (เพื่ออาเจียนออก)
* ออกกำลังกายหักโหม เพื่อเผาผลาญแคลอรี
* รับรู้รูปร่างของตนเองผิดไปจากความเป็นจริง เช่น คิดว่าตัวเองอ้วนมากๆ ทั้งที่น้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน
* อาการอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย ได้แก่ ผมร่วง ผิวแห้ง มีขนอ่อนขึ้นตามตัว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ท้องอืด ท้องผูก ซีด ความดันเลือดต่ำ หัวใจเต้นช้า ขี้หนาว ประจำเดือนขาด อารมณ์เปลี่ยนแปลง ซึมเศร้า อาจเสียชีวิตได้จากการฆ่าตัวตายหรือหัวใจล้มเหลว

การรักษา
* พบแพทย์และทีมสหวิชาชีพ เบื้องต้นแพทย์จะประเมินความรุนแรงของการขาดสารอาหาร และให้สารอาหารกลับเข้าร่างกายเพื่อให้น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดหรือหยุดพฤติกรรมควบคุมน้ำหนัก ฯลฯ
* บำบัดด้านจิตใจ เพื่อปรับความคิดเกี่ยวกับการกินและรูปร่างของตนเอง
* ให้การปรึกษากับครอบครัว หรือทำครอบครัวบำบัด

เรียบเรียงข้อมูลจาก ตำราเวชศาสตร์วัยรุ่น (2559) และแผ่นพับโรคกลัวอ้วนกับวัยรุ่น โดยอานุกรรมการสุขภาพวัยรุ่น ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและชมรมสุขภาพวัยรุ่น