โรคซึมเศร้าในวัยรุ่น เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา หลายคนคงได้ข่าวจาก กรมสุขภาพจิต ว่าวัยรุ่นไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 44 หรือ ประมาณ 3 ล้านกว่าคน และคาดว่ามีวัยรุ่นที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าแล้วกว่า 1 ล้านคน และองค์การอนามัยโลกยังระบุว่า 1 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลก 1 ใน 20 คน ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้วัยรุ่นทั่วโลกฆ่าตัวตาย หรือไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

โรคซึมเศร้า ไม่ใช่โรคของความอ่อนแอ เป็นภาวะผิดปกติทางอารมณ์ และเป็นโรคของสมองบางส่วนที่ทำหน้าที่ปรับสมดุลอารมณ์ทำงานผิดปกติไป ซึ่งพบได้บ่อยในวัยรุ่น แต่ละคนก็มีอาการแตกต่างกันไป สามารถสังเกตได้ ดังนี้

* มีอารมณ์เศร้า เบื่อ เซ็ง ท้อแท้ ไม่ร่าเริงเหมือนเก่า บ่นไม่มีความสุข บางคนหงุดหงิดง่าย ขี้โมโห ขี้รำคาญ อ่อนไหวง่ายกว่าปกติ ร้องไห้บ่อย

* ดูเฉื่อยๆ ชาๆ ไม่สนใจทำสิ่งที่เคยชอบ เก็บตัวไม่สุงสิงกับใคร บางคนอาจดูกระสับกระส่าย ลุกลี้ลุกลน

* จังหวะชีวิตผิดไปจากเดิม เบื่ออาหารหรือกินมากไป นอนไม่หลับหรือนอนมากไป อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ

* มองตัวเองในแง่ลบ เช่น ไม่ดี ไม่เก่ง ไม่มีใครรัก ไร้ค่า มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกสิ้นหวัง อยากตาย บ่นไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรือทำร้ายตัวเอง

* วัยรุ่นอาจไม่แสดงอาการเศร้าชัดเจน แต่จะแสดงออกมาทางพฤติกรรมอื่นๆ เช่น ก้าวร้าว เกเร เหวี่ยงวีน โดดเรียน มีพฤติกรรมเสี่ยงๆ เช่น ใช้ยาเสพติด หรือแสดงออกเป็นอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง

โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย พบได้บ่อยในวัยรุ่นมากกว่าที่หลายคนคิด หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะสามารถป้องกันการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นได้ หากมีอาการของโรค จึงควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์ เพราะเป็นโรคที่รักษาได้

หากรู้สึกเครียด วิตกกังวล ไม่สบายใจ สงสัยจะเป็นซึมเศร้าหรือไม่ ปรึกษาห้องแชทเลิฟแคร์ได้ที่ www.lovecarestation.com เวลา 4 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน ทุกวัน

พี่เลิฟแคร์
ข้อมูลอ้างอิง 1.วัยรุ่นเสี่ยงโรคซึมเศร้ากว่า 3 ล้านป่วยแล้ว 1 ล้านคน voicetv.co.th/read/Sy9yH32Mz

2. โรคซึมเศร้า www.pobpad.com โรคซึมเศร้า
3.“วัยรุ่น…แค่เซ็งหรือซึมเศร้า www.thaipediatrics.org/Media/media-20170410132857.pdf