โรคไบโพลาร์

 

โรคไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เป็นโรคที่มีอารมณ์แปรปรวน ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทางอารมณ์ คือ มีอารมณ์ดีมากจนผิดปกติหรืออยู่ในภาวะอารมณ์ดีตื่นตัวผิดปกติ (Mania) สลับกับมีภาวะซึมเศร้าอย่างหนัก (Depression) ทำให้เกิดความยากลำบากต่อการทำงาน การเข้าสังคมและการใช้ชีวิต

อาการของโรคไบโพลาร์

ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์มี 2 ลักษณะเด่นสลับกัน คือ มีภาวะอารมณ์ดีผิดปกติและภาวะซึมเศร้าสลับกันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยมีอาการสังเกตที่เด่นชัด ดังนี้

ภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania)

* รู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา มีพลังงานสูงมากจนผิดปกติ

* อารมณ์ดี ร่าเริงเกินไปอย่างไม่สมเหตุสมผล อยู่ไม่นิ่ง

* โต้ตอบต่อสิ่งเร้าอย่างรวดเร็วและรุนแรง หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย อารมณ์ไม่คงที่ ไม่มีเหตุผล

* ทำกิจกรรมต่าง ๆ มาก ๆ ในคราวเดียวกัน

* หุนหันพลันแล่น คิดเร็ว พูดมาก พูดเร็ว ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว

* มีความต้องการทางเพศสูง อาจมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าได้ง่ายโดยไม่ป้องกัน

* ประมาท ตัดสินใจได้ไม่ดี มีความผิดพลาดสูง ใช้ชีวิตบนความเสี่ยง ใช้เงินฟุ่มเฟือย

ภาวะซึมเศร้า (Depression)

* รู้สึกไร้เรี่ยวแรง อ่อนเพลีย หมดพลังงาน ไม่สดชื่น

* ซึมเศร้า เก็บตัว เสียใจง่าย ร้องไห้ง่าย

* เหนื่อยหน่าย เบื่อ ท้อแท้ สิ้นหวัง

* ครุ่นคิด วิตกกังวลต่อสิ่งต่าง ๆ ฟุ้งซ่าน มองโลกในแง่ร้าย

* ไม่มีความสุขในชีวิต ไม่มีอารมณ์ขัน ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ทำให้รู้สึกดีหรือผ่อนคลาย

* รู้สึกผิดหวัง ว่างเปล่า โดดเดี่ยว ไร้ค่า มีความคิดอยากตายหรืออยากฆ่าตัวตาย

* มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ ไม่สามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งใดให้สำเร็จลุล่วง

* ทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดน้อยลงมาก ไม่อยากทำอะไร

* มีปัญหาในการนอน นอนไม่หลับ นอนมากหรือน้อยเกินไป

* มีปัญหาด้านการกิน กินอาหารปริมาณมากหรือน้อยจนเกินพอดี

* มีแนวโน้มใช้สารเสพติด

สาเหตุของโรคไบโพลาร์

ทางชีวภาพ – เกิดความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง คือ มีสารนอร์เอพิเนฟริน เซโรโทนิน และโดปามีนในระดับที่ไม่สมดุลกัน จะทำให้มีอารมณ์ดี อยู่ในภาวะร่าเริงผิดปกติ และจะมีภาวะซึมเศร้า เบื่อหน่าย สลับกันไป

ทางกรรมพันธุ์ – มีญาติที่ป่วยเป็นโรคนี้หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางอารมณ์เช่นกัน

ปัจจัยอื่น ๆ – เช่น ความผิดหวัง เสียใจอย่างรุนแรงหรือฉับพลัน การเจ็บป่วยทางกาย ปัญหาความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด ความเครียดจากการเรียนและการทำงาน เป็นต้น

การรักษาโรคไบโพลาร์

* รักษาด้วยยา เพื่อปรับสารสื่อประสาทในสมองให้กลับสู่สภาวะปกติ

* รับการปรึกษาและทำจิตบำบัด

* การเข้ากลุ่มบำบัดร่วมกับผู้ป่วยคนอื่น ๆ (Support Groups)

* ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคความผิดปกติทางจิตและทางอารมณ์

ที่มา : https://www.pobpad.com/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%84%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C