ใจความของการ “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ”
“ขอบคุณป้าซิ เค้าอุตส่าห์ซื้อของให้”
“ขอโทษพ่อซิ ที่เกรดหนูไม่ดีทำให้พ่อผิดหวัง”
ภาพเหล่านี้ถูกสะสมมาจนชินตาในการที่ผู้ใหญ่ออกคำสั่งให้เด็กใช้การขอบคุณและขอโทษ เป็นเครื่องมือในการแสดงความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ ในขณะที่บ่อยครั้งพบว่า เด็กๆ มีความรู้สึกโกรธและมีท่าทีต่อต้านเพราะมีมุมมองต่อการถูกสั่งให้ “ขอบคุณ” หรือ “ขอโทษ” ว่าเป็นการใช้อำนาจของผู้ใหญ่ที่เกินกว่าเหตุ
ความรู้สึกดีถูกเปลี่ยนเป็นความอึดอัดใจ
การประนีประนอมกลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้ง และเข้าใจผิด
ความรู้สึกผิดและความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองกลายเป็นพฤติกรรมต่อต้าน
ทั้งๆ ที่ใจความของการ “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ” คือคำสากลที่ใช้แสดงความรู้สึกต่อกันของมนุษย์ แต่การสื่อสารที่ผิดพลาดทำให้เกิดบรรยากาศที่คุกรุ่นขึ้นในบ้าน การขอบคุณ และ ขอโทษ กลายเป็นสิ่งที่วัยรุ่นหลายคนร้องอี๋
“การขอโทษ” มักถูกตีความว่า “คนขอโทษคือคนผิด” แต่อยากลองชวนคิดจากเรื่องเล่าสั้นๆ ต่อไปนี้
ครั้งหนึ่งของการเดินทางด้วยแท็กซี่ ผมถือแก้วกาแฟและคุยโทรศัพท์ด้วยงานบางอย่างที่เร่งรีบ ระหว่างทางแท็กซี่เบรคกะทันหันจากเหตุที่รถคันหน้าเองก็หยุดอย่างไม่ทันตั้งตัว
กาแฟในมือผมหกลงบนพรม ผมอุทาน “ขอโทษครับ” ในหัวแวปคิดว่า “เราไม่น่าเอากาแฟขึ้นบนรถสาธารณะ”
ในขณะที่คนขับกล่าวอย่างลุกลี้ลุกลน “ขอโทษครับ ผมเบรคไม่ระวังทำให้กาแฟคุณหก”
หลังพูดจบต่างคนต่างเงียบ….
รถแท็กซี่ค่อยๆ เคลื่อนผ่านรถยนต์คันหน้าที่จอดกะทันหันทำให้ได้ทราบว่า มีกระถางต้นไม้ล้มลงจากข้างทางและขวางถนนอยู่
หากลองทบทวนเรื่องราวทั้งหมดด้วยใจเป็นกลาง อาจไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าใครเป็นคนผิด แต่ถ้าหากมองด้วยใจที่ร้อนรน ต้องมีใครหรืออะไรสักอย่างที่ผิด ไม่เป็นผม ก็พี่คนขับแท็กซี่ ไม่ก็คนขับรถคันหน้า หรือไม่ก็กระถางต้นไม้ … หรือแท้จริงเราอาจมีส่วนผิดร่วมกันทั้งหมด
การขอโทษถูกตีความออกเป็น 2 ลักษณะ
1.การสื่อสารเชิงสังคม โดยมีความเชื่อว่าเราควรขอโทษกันเพราะเราทำบางอย่างผิดต่อกันอย่างเจตนา เสมือนเป็นการหาคนผิดมา “ลงโทษ” ด้วยการให้เขา “ขอโทษ” ซึ่งเมื่อถูกสะสมความเชื่อเหล่านี้มา วัยรุ่นที่กระทำบางอย่างโดยขาดความยับยั้งชั่งใจตามวัย ไม่ได้มาจากเจตนาที่จะให้ใครต้องมาเดือดร้อน จึงมักแสดงท่าทีต่อต้านเมื่อถูกออกคำสั่งให้ขอโทษ เพราะ “หนูไม่ผิด”
2.การสื่อสารความรับผิดชอบและรู้เท่าทันในเจตนาของตนเอง เป็นทักษะของความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจต่อผลกระทบของผู้อื่นที่มาจากตนเอง ไม่ว่าผลกระทบนั้นจะมาจากเจตนาหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น วัยรุ่นร้องเพลงอวยพรวันเกิดให้เพื่อนรบกวนข้างบ้านที่มีผู้ป่วยโดยไม่รู้มาก่อน จึงขอโทษที่ทำให้ผู้ป่วยนั้นตื่นขึ้นจากเสียงร้องเพลง
วัยรุ่นสามารถสื่อสารการขอโทษด้วยความรับผิดชอบได้อย่างไร
1.รู้ทันเจตนาของตน ว่าแท้จริงแล้วตนมีความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจที่จะกระทำอะไร
2.ยอมรับว่า ผู้อื่นอาจได้รับผลกระทบจากการกระทำของเราแม้ไม่ได้ตั้งใจก็ตาม
3.การขอโทษเป็นทักษะในการเข้าใจผู้อื่น การจัดการอารมณ์ และการสื่อสาร ซึ่งเป็นทักษะที่ค่อนข้างยาก แต่สามารถฝึกฝนได้
4.คนที่ “ขอโทษ” เพราะต้องการรับผิดชอบต่อการกระทำ ไม่ใช่ผู้อ่อนแอ แต่กลับเป็นผู้กล้าหาญที่จะเผชิญกับความรู้สึกและผลของการกระทำ
การ “ขอบคุณ” ก็เช่นกัน มักถูกตีความว่า “เราควรขอบคุณกับเรื่องยิ่งใหญ่” “หรือเราควรขอบคุณกับเรื่องสำเร็จเท่านั้น” จนหลายครั้งเรามองข้ามเรื่องเล็กน้อย
ในช่วงที่วัยรุ่นต้องเรียนออนไลน์และไม่ได้พบปะใคร ความเครียด ความเบื่อหน่าย เป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้วัยรุ่นแปลงพลังข้างในออกเป็นความหงุดหงิดฉุนเฉียว และข้อต่อรองต่างๆ นานาในการออกนอกบ้าน ในขณะที่โรคระบาดยังคงสร้างความกังวลให้กับพ่อแม่ อีกทั้งยังสร้างความไม่เข้าใจระหว่างกันอีกด้วย
“แค่อยู่บ้านมันจะไปยากตรงไหน” เป็นประโยคสำคัญของ “สงครามกลางบ้าน”
ตลอดทางของสงคราม มีบ้างที่พ่อแม่ชนะ โดยสามารถควบคุมให้ลูกอยู่บ้านได้ มีบ้างที่ลูกชนะที่สามารถใช้ช่วงเวลาที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้านแอบออกไปข้างนอก แต่มีสัดส่วนไม่น้อยที่ “ทั้งคู่” ต่างชนะ โดยพ่อแม่ก็พยายามใจเย็น เข้าใจ และสื่อสารด้วยความประนีประนอม และวัยรุ่นเองก็พยายามควบคุมอารมณ์และหากิจกรรมอื่นเพื่อเบี่ยงเบนและชดเชยความต้องการในการออกนอกบ้าน
หลังจากสมาชิกในบ้านได้รับวัคซีนครบทุกคน วัยรุ่นกับพ่อแม่ ได้มีโอกาสพูดคุยกันในการออกไปร้านอาหารหลังจากไม่ได้ไปมาพักใหญ่ ต่างคนต่างขอบคุณซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างขอบคุณในความพยายาม ต่างคนต่างชื่นชมยินดีมากกว่ามองที่ผลว่า “ไม่ได้สำเร็จอย่างที่ควรเป็นทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์”
จะเห็นได้ว่า การขอบคุณที่พยายามมีส่วนสำคัญให้เกิดกระบวนการภายในและภายนอกไปพร้อมๆ กัน ได้แก่
1.เห็นเจตนาที่ดีของตนเองต่อผู้อื่น และต่อสถานการณ์ที่ยาก “กังวลว่าคนในบ้านจะไม่สบาย”
2.มีโอกาสได้รับรู้ความปรารถนาดีจากคนอื่น อาทิ “เป็นห่วง มากกว่า ควบคุม”
3.ได้รับรู้ความคาดหวังที่แท้จริง อาทิ “ออกไปได้หลังได้รับวัคซีน”
4.การขอบคุณคือ ความเข้าใจในความคิด และเห็นอกเห็นใจในความรู้สึกของผู้อื่นมากกว่าการเฝ้ามองผลของความสำเร็จ
ถ้าเห็นตรงกันได้ว่า การขอบคุณผู้อื่นได้ประโยชน์อะไร อยากชวนให้น้องๆ วัยรุ่น ได้ลองทบทวนความพยายาม ความตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ไม่ว่าผลจะสำเร็จหรือไม่ และไม่ลืมที่จะให้โอกาสสำหรับการขอบคุณสิ่งเหล่านั้นแก่ตนเอง
นรพันธ์ ทองเชื่อม : นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น