ในระบบสุขภาพปัจจุบันพบจำนวนผู้ป่วยด้านจิตใจเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตอาจเพราะสถานการณ์ของโลกที่ยากขึ้นและอุปสรรคจากความไม่มั่นคงในชีวิตที่ต่างก็ถาโถมเข้ามาในช่วงเวลาเดียวกันนอกจากปัจจัยกระตุ้นจากสภาวะแวดล้อมแล้วนั้นการมีทัศนคติอย่างเป็นกลางต่อการบำบัดรักษาด้านจิตใจก็ส่งผลต่อความร่วมมือในการเข้าถึงระบบดูแลได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
การเข้าถึงระบบสุขภาวะและการรักษาเป็นเป้าหมายแรกๆของผู้ที่ทำงานด้านจิตใจเพื่อสร้างโอกาสและบรรยายกาศในการช่วยเหลือโดยชื่อโรคและเกณฑ์การวินิฉัยเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อความเข้าใจการบำบัดรักษาและการทำงานร่วมกันของสหวิชาชีพ
ในขณะที่ผู้ป่วยบางคนก็สามารถเข้าใจต่อโรคและผ่อนคลายความรู้สึกกระทั่งค่อยๆนำพาตนเองไปสู่การรักษาซึ่งอาจตรงกันข้ามกับบุคคลรอบข้างหรือญาติที่เมื่อได้ทราบว่าผู้ใกล้ชิดมีความเจ็บป่วยด้านจิตใจอาจมีพฤติกรรมตอบสนองในรูปแบบที่ไม่เป็นผลดีต่อความรู้สึกและความร่วมมือของผู้ป่วย
“บ้านเราไม่เคยมีใครเป็นโรคทางจิตเวช” “เมื่อวานยังดีอยู่เลย” (ขั้นปฏิเสธ หวาดหวั่น)
“ครูทำอะไรลงไปลูกฉันจึงเจ็บป่วย” “ไม่มีหรอกหมอ มั่วแน่ๆ” (ขั้นโกรธ)
“เพราะฉันเป็นเพื่อนที่ไม่ดีเพื่อนจึงพลอยเศร้าไปด้วย” (ขั้นเศร้า)
จากประโยคดังกล่าวนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงท่าทีเชิงลบที่มีต่อความเจ็บป่วยแล้วยังซ่อนเร้นไว้ด้วยความกังวลและความรู้สึกหวาดหวั่นในฐานะผู้ดูแลในขณะที่ครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดเป็นบุคคลหนึ่งที่ควรได้รับการดูแลช่วยเหลือไปพร้อมๆกับการดูแลผู้ป่วยโดยค่อยๆเริ่มทำความเข้าใจ …
ที่มาของความเจ็บป่วย ในอดีตคนส่วนใหญ่มักเชื่อว่าผู้ที่มีความเจ็บป่วยด้านจิตใจ เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรง การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม โดยมองข้ามสาเหตุอันอาจเกิดจากปัจจัยทางชีวภาพที่ไม่อาจคาดเดาหรือควบคุมได้ การที่ญาติสามารถเข้าใจได้ว่าปัจจัยทางชีวภาพมีผลสำคัญต่อความเจ็บป่วยด้านจิตใจ จะมีส่วนช่วยให้ลดความรู้สึกเชิงลบ การมีความหวังต่อการรักษา และให้ความร่วมมือกับการรักษาที่ได้มาตรฐาน
ความผิดพลาดในอดีต เมื่อมีผู้เจ็บป่วยด้านจิตใจในครอบครัว มีญาติไม่น้อยมักกล่าวโทษผลจากการกระทำบางอย่างของตนเองในอดีต อาทิ “ถ้าวันนั้นฉันทำแบบนั้นลูกฉันคงไม่เป็นแบบนี้” ซึ่งแม้ว่าการกระทำของญาติอาจมีผล “บางส่วน” ของความเจ็บป่วยนั้นแต่การตอกย้ำความผิดของตนเองเป็นทางออกที่ให้ประโยชน์ต่อการดีขึ้นของความเจ็บป่วยน้อยกว่าการพิจารณาต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหาและวิธีที่จะป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำที่จะเกิดในอนาคต
ปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ป่วยดีขึ้น ในการบำบัดรักษาด้านจิตใจ ไม่เพียงแต่การมองหาสิ่งที่เป็นปัญหาหรือสาเหตุของความเจ็บป่วยเท่านั้น การทำความเข้าใจปัจจัยบวกหรือจุดแข็งของผู้ป่วยคือสิ่งที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถก้าวผ่านช่วงที่เจ็บป่วยไปได้ ญาติและบุคคลรอบข้างคือหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ หากสามารถร่วมมือกัน และเข้าใจความเจ็บป่วยไปพร้อมกันกับผู้ป่วยและผู้เชี่ยวชาญ เชื่อได้ว่าจะมีส่วนช่วยให้การบำบัดรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
พื้นที่ส่วนตัว แม้ญาติและคนรอบข้างคือบุคคลสำคัญ แต่ไม่ได้มีความหมายถึงการแบกรับภาระทั้งหมดของชีวิตไปกับการดูแลผู้ป่วย เพราะในขณะที่ญาติต้องการพื้นที่ส่วนตัวสำหรับผ่อนคลาย ผู้ป่วยเองก็ไม่อยากมีความเชื่อว่าตนเป็นภาระจากท่าทีที่พยายามช่วยเหลืออย่างมากเกินไป ฉะนั้นแล้วการเว้นระยะห่าง มีพื้นที่หรือช่วงเวลาส่วนตัวให้กันและกัน คือส่วนสำคัญของการช่วยเหลือกัน การฝึกการจัดการอารมณ์ไปพร้อมๆ กับการรักษาความสัมพันธ์
ทำงานเป็นทีม นอกเหนือจากการทำงานในระบบสหวิชาชีพ (ในที่นี้หมายถึงทีมงานด้านสุขภาพจิต) ความร่วมมือและทำงานเป็นทีมของครอบครัวคือสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากผู้ป่วยไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงลำพังแล้ว ยังช่วยให้สามารถจัดการกับบางสถานการณ์ผ่านข้อตกลงใหม่ และการสื่อสารในรูปแบบที่สร้างสรรค์ได้ จากประสบการณ์ทำงานพบว่า ครอบครัวที่ให้ความร่วมมือกันมีแนวโน้มที่จะเยียวยาผู้ป่วยได้ดี และสามารถพัฒนาไปสู่การมีทักษะในการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของหลายอาการทางจิตใจได้อีกด้วย
นรพันธ์ ทองเชื่อม
นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เลิฟแคร์สเตชั่น